สงกรานต์กับเหล้าเป็นของคู่กัน พูดอย่างนี้ สสส. มีเคือง แต่เป็นเรื่องจริง เป็นทั้งโลกด้วยซ้ำ เพราะวันปีใหม่ของชนทุกชาติ มาจากวันเริ่มต้นฤดูผลิตใหม่ คนโบราณใช้พืชผลที่เก็บเกี่ยวไว้ หมักบ่มเหล้าไวน์พื้นบ้าน บวงสรวงเฉลิมฉลอง “ฝนแรก” ก่อนเพาะปลูกฤดูกาลใหม่
เพียงแต่โลกปัจจุบัน เมื่อสงกรานต์เป็นมหกรรมเดินทางกลับบ้าน ก็เลยต้องคู่กับเมาห้ามขับ ซึ่งถูกแล้ว ต้องรณรงค์เข้มงวดกวดจับ เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ แต่ต้องแยกให้ชัดว่า บุคคลมีสิทธิเสรีภาพที่จะเมา ถ้าไม่ขับรถไม่วิวาทกับใคร
พูดแบบนี้ หมอก็ไม่พอใจ พระก็ไม่ชอบใจ เหล้าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สุราเมรัยผิดศีลห้า จะอ้างเสรีภาพได้ไง “โง่ จน เครียด กินเหล้า” ทำให้เลือกนักการเมืองชั่วทำลายชาติ ยิ่งมีบัตรทองรักษาฟรี คนกินเหล้าสูบบุหรี่ยิ่งทำให้รัฐสิ้นเปลืองค่ารักษาก่อนตาย
เมื่อศีลธรรมจูบปากสุขภาพ ใต้ทัศนะอำนาจนิยม มาตรการคุมเหล้าบุหรี่จึงสุดโต่ง ไม่ใช่แค่คุ้มครองเยาวชน คุ้มครองคนไม่สูบไม่ดื่ม หรือความปลอดภัยสาธารณะ หน่วยงานรัฐทำตนเป็นทั้งหมอ ทั้งบิดา ทั้งครูสอนศาสนา ตั้งหน้าตั้งตาบดขยี้คนสูบคนดื่มคนขาย ให้เป็นคนบาปคนผิด แต่ลักลั่นไหม เพราะมืออีกข้างรัฐยังเก็บภาษีเหล้าเบียร์บุหรี่ปีละสองแสนกว่าล้าน
มันย้อนแย้งขบขัน ด้านหนึ่งเข้มงวดเหล้าบุหรี่ โดยใช้กฎหมายล้นเกิน อย่างไม่คำนึงถึงความสมเหตุสมผล ไม่ให้ความเป็นธรรม เพราะต้องการให้สังคมปลอดเหล้าบุหรี่ แต่อีกด้านก็ปราบปรามผู้ไม่เสียภาษีให้รัฐ ปกป้องอุตสาหกรรมที่จ่ายค่าต๋งรัฐบาล
ด้านแรกคือหมอ ด้านหลังคือสรรพสามิต ซึ่งทำงานคนละด้าน แต่สังคมศีลธรรมหนุนให้ใช้อำนาจปราบปรามหนักหน่วงเหมือนกัน ยิ่งปราบยิ่งเป็นพระเอก สธ.จับร้านลาบ สรรพสามิตจับยายขายน้ำข้าวหมาก ดองเหล้าบ๊วยปรับหมื่นบาท
รัฐไทยไม่ใช่รัฐศาสนา เพราะไม่ได้ใช้ศีลห้าเป็นกฎหมาย (แต่ดันห้ามขายเหล้าวันพระใหญ่) หมอมีหน้าที่รณรงค์ให้ใส่ใจสุขภาพ สธ.มีอำนาจห้ามโฆษณา ตำรวจจับเมาขับเมาวิวาท สรรพสามิตก็มีหน้าที่จับคนทำเหล้าแข่งเจ้าสัวโดยไม่เสียภาษี ง่ายๆ แค่นี้
พอเอาทัศนะศีลธรรม ทัศนะบิดา อยากบงการชีวิตประชาชน เข้าไปควบคุม แทนที่จะได้ผลให้คนเลิกดื่ม ก็กลายเป็นเตะหมู เข้าปากทุนผูกขาด เพราะด้านหนึ่งยอมรับว่าคนยังต้องดื่ม รัฐ ยังต้องการภาษี แต่อีกด้านก็ไล่ขยี้ โดยไปลงกับรายเล็กรายย่อยอย่างไม่เป็นธรรม
ยกตัวอย่างดราม่า ลิซ่าโฆษณาวิสกี้ คนไทยเปิดเฟซบุ๊กไอจี เห็นกันล้นหลาม แต่แชร์ในประเทศไม่ได้ มีความผิดตาม มาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ ปรับไม่เกิน 5 แสน จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 32 เห็นชัดว่า หนึ่ง โลกสมัยนี้ปิดกั้นไม่ได้ สอง ยิ่งห้ามโฆษณายิ่งเข้าทางรายใหญ่ผู้ผูกขาด สาม ในความเป็นจริงคนโดนจับไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ แต่เป็นร้านลาบข้างถนน หรือคนทั่วไปในโลกออนไลน์ แค่โพสต์ภาพดื่มกับมิตรสหายก็ผิด สี่ ผิดแล้วโทษหนักกว่าเมาขับ
และห้า ถ้ายอมให้ปรับแต่โดยดี จะโดนปรับ 50,000 บาท เจ้าหน้าที่ได้ไป 15,000 ผู้แจ้งเบาะแส 7,500 ค่าดำเนินงาน 7,500 เหลือเข้าคลัง 20,000 บาท
แล้วประชาชนจะเชื่อไหม ว่าจับเพื่อสุขภาวะ ไม่ได้หวังเงินรางวัล ผู้กำกับโจ้ก็จับรถหรูได้ไปครึ่งพันล้าน
สรรพสามิตจับเหล้าดองจับสาโทก็มีรางวัล คนจับได้ 20% ผู้แจ้งเบาะแส 20%
กฎหมายสรรพสามิตปัจจุบันมุ่งจำกัดการผลิตรายย่อย เพื่อสุขภาพ? เพื่อศีลธรรม? หรือเพื่อผูกขาดก็ไม่ทราบ แต่จำกัดการผลิตสุราชุมชนไว้ที่ 5 แรงม้า 7 แรงคน ทำให้ไม่สามารถผลิตเพื่อจำหน่าย ล็อกโรงเบียร์ต้องผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ทำให้คราฟท์เบียร์รายย่อยผลิต ไม่ได้ ต้องข้ามไปผลิตประเทศเพื่อนบ้านแล้วส่งกลับมาขาย
คนไทยพื้นบ้านต้มเหล้าหมักสาโทมาแต่โบราณ เหมือนยุโรปบ่มไวน์ทุกหมู่บ้าน คนเกาหลีมีโซจู คนญี่ปุ่นมีสาเก ทุกวันนี้กลายเป็นเศรษฐกิจชุมชน ขายความแปลกต่าง แต่เหล้าพื้นบ้านไทยหายหมด เพราะสรรพสามิตโทษว่าใส่พาราควอต กินแล้วตาย (ชาวบ้านโง่ ชาวบ้านโกง) สู้เหล้าโรงไม่ได้
พรรคก้าวไกลเสนอร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เพื่อให้ประชาชนผลิตสุราชุมชน เหล้าขาว บรั่นดี คราฟท์เบียร์ ได้หลากหลาย รัฐบาลกลับ “อุ้ม” ไปพิจารณา 60 วันแล้ว “ตีตก” อ้างว่าเป็นห่วงมาตรฐานและคุณภาพการผลิต ทั้งที่ไม่มีตรงไหนบอกให้ลดมาตรฐาน แค่ให้ปลดล็อกกำลังการผลิต เพื่อให้รายย่อยผลิตได้ เรื่องคุณภาพยังไงก็ต้องผ่านมาตรฐาน รัฐบาลกลับบิดประเด็นอ้างมาตรฐานเพื่อปกป้องใคร
“สุราก้าวหน้า” ต้องการรื้อกติกาผูกขาดเพื่อความหลากหลาย ในมุมหนึ่งก็ไม่ต่างจากปลดล็อกกัญชา กระท่อม แต่กัญชา กระท่อม ไม่ยักต้องฝ่าด่านศีลห้าสาหัสสากรรจ์เหมือนเหล้า ไม่ต้องต่อสู้กับอำนาจนิยมทางสุขภาพ ประเภทคุณหมออยากเป็นคุณพ่อรู้ดี เจ้ากี้เจ้าการชีวิตประชาชน
ตลกร้ายนะ องครักษ์ของทุนผูกขาด กลับกลายเป็นทัศนะศีลธรรมและสุขภาพ
คงตลกกว่านี้ ถ้ารัฐบาลคว่ำร่างสุราก้าวหน้า แล้วเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคร่วมรัฐบาลฉกไปหาเสียงแบบปลดล็อกกัญชา