พรรคภูมิใจไทยน่าจะได้คะแนนนิยมล้นหลาม จากนโยบาย “ปลดล็อกกัญชา” ถ้าไม่โดนกระแสตีกลับ ปลดล็อกโดยไม่มีมาตรการรองรับ ปลดแล้วค่อยรับหลักการร่างพ.ร.บ.กัญชงกัญชา จนเกิดสุญญากาศ เหมือน “ปล่อยผี” เสียมากกว่า
อนุทินและพลพรรคดาหน้าโต้ชัชชาติ ภูมิธรรม จาตุรนต์ ฯลฯ อย่างเกรี้ยวกราด แต่ไม่ใช่แค่พรรคฝ่ายค้าน ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลล้วนแถลงห่วงใย กัญชามีประโยชน์ แต่ก็มีโทษเหมือนดาบ สองคม ต้องมีมาตรการดูแลเหมาะสม อย่าสักแต่พูดว่าปลดล็อกเพื่อใช้ทางการแพทย์ ไม่ส่งเสริมสันทนาการ
เปิดเสรีให้ปลูกทุกบ้านแล้วบอกว่าจะรับผิดชอบเฉพาะคนที่ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น พูดอย่างนี้ก็เหมือนเปิดปลูกฝิ่นเสรี แล้วรัฐบาลรับผิดชอบเฉพาะใช้สกัดมอร์ฟีน ใครสูบฝิ่นเป็นเรื่องส่วนตัว
ส่วนตั๊วส่วนตัวเหมือนรัฐมนตรี “ครูพี่โอ๊ะ” โดน ปปช.ชี้มูล โดนป่าไม้แจ้งจับ ตำรวจพลิกแผ่นดินปราจีนตามล่าพ่อเป็นข่าวครึกโครม พอถามว่าควรลาออกไหม ก็บอกเป็นเรื่องส่วนตัว
นี่ไม่ใช่เฉพาะภูมิใจไทย ประยุทธ์ วิษณุ ท่องคาถาเดียวกันหมด เมื่อรัฐธรรมนูญให้ศาลตัดสินจริยธรรม ก็เป็นเรื่องของศาล ไม่ต้องมีความรับผิดชอบทางการเมือง การแสดงสปิริต
ที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ยังจะแจ้งความดำเนินคดีที่ดินอีกหลายแปลง การอยู่ในเก้าอี้รัฐมนตรีย่อมมีความทับซ้อนเรื่องตำแหน่งหน้าที่ มีอำนาจบารมีให้เจ้าหน้าที่กริ่งเกรง
พูดอย่างนี้ไม่ใช่ปักใจชี้ผิด ปัญหาป่าไม้ที่ดินในประเทศนี้ซับซ้อนหมักหมม ชาวบ้านตาดำๆ โดนจับติดคุกไปเยอะ เพราะป่าทับที่ทำกิน วันดีคืนดี เจ้าหน้าที่ก็ฟิตเป็นพระเอก “ทวงคืนผืนป่า” ทั้งที่ปล่อยให้ออกโฉนดมา 20 ปีจนจะหมดอายุความแล้ว ปปช.ก็ตามเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ดินทุจริต ชี้มูลเจ้าของที่ดินผิดฐานสนับสนุนเจ้าหน้าที่ ฯลฯ
แต่การที่รัฐมนตรีกอดเก้าอี้ตีนตุ๊กแก ขณะที่พ่อเผ่นหนีก็ทำให้สังคมมองแง่ลบหรือปักใจเชื่อว่าผิด
อย่างไรก็ดี พรรคภูมิใจไทยคงไม่คิดว่าเสียคะแนนเสียง กระทบการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะคงไม่คิดจะหาเสียงด้วยสปิริตอยู่แล้ว
ปลดล็อกกัญชา แม้กระแสตีกลับแต่ก็ไม่มากนักและน่าจะเฉพาะสังคมเมือง ในวงกว้าง กระแสกัญชายังคึกคัก ทั้งกับเกษตรกรที่วาดหวังพืชเศรษฐกิจ และสังคมสูงวัยสวัสดีวันจันทร์ ที่หวังกัญชาเป็นยาวิเศษ (ใครอยากเถียงกับปู่ย่า 70-80 ที่เชื่อว่ากัญชารักษามะเร็งได้)
ภูมิใจไทยจึงเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่พร้อมที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า อย่างที่ อ.สุขุม นวลสกุล ชี้ว่าพร้อมทั้งกระแส-กระสุน
อันที่จริงไม่ต้องอาศัยกัญชา ภูมิใจไทยก็ได้อานิสงส์สูงสุดจากสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งพรรคพลังประชารัฐแตก และยังแตกได้อีก อาจหมดอนาคตถ้าหมดประยุทธ์แล้วไม่สามารถเสนอใครเป็นนายกฯ ตรงข้ามกับภูมิใจไทยที่อ้าปากกว้างดูด ส.ส.ฝ่ายค้าน ทั้งเข้าสังกัดและ “ฝากเลี้ยง” มีความเป็นปึกแผ่นกระทั่งโชว์พาวโชว์โพย 260 เสียงหนุนประยุทธ์
เสาหลักที่ค้ำประยุทธ์ช่วงบั้นปลาย อาจไม่ใช่พลังประชารัฐ กลายเป็นภูมิใจไทยนี่เอง ยิ่งมองไปยังการเลือกตั้งครั้งหน้า ภูมิใจไทยนี่แหละจะเป็นศูนย์รวมนักการเมือง “บ้านใหญ่” หรือ “บ้านรอง” ที่หวังโค่น “บ้านใหญ่พรรคอื่น” อย่างที่ทำสำเร็จมาแล้วในภาคใต้
พูดอีกอย่าง ภูมิใจไทยเป็นพรรคที่เหมาะกับระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งทำให้การเมืองถอยหลังไปสู่ยุคก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เอื้อต่อพรรคศูนย์รวมนักการเมืองทุนท้องถิ่น ผู้ครองอาณาจักรของตนเองในแต่ละจังหวัด รวมตัวกันวางเป้าเข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ภายใต้เงื่อนไขสยบยอม เครือข่ายอนุรักษนิยมและทหาร ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ไม่คิดจะแย่งชิงเก้าอี้นายกฯ
นี่ไม่ได้ปรามาส ยังไง 250 ส.ว. เครือข่ายอำนาจ จะเลือกคนของตน ไม่ใช่เสี่ยหนูหรืออู๊ดด้า แม้ภูมิใจไทยอาจชนะถล่ม เป็นที่สองรองจากเพื่อไทย เป็นอันดับหนึ่งในฝั่งรัฐบาล
แต่นั่นก็กลายเป็นข้อดีอีกด้าน คือนักการเมืองเชื่อว่าภูมิใจไทยพร้อมร่วมรัฐบาลกับทุกฝ่าย อยู่ภูมิใจไทยยังไงก็ได้เป็นรัฐบาลแหงๆ พร้อมทั้งกระสุนกระแส แห่มาจับจองเป็นผู้สมัคร
กระนั้น พอสถานการณ์บีบรัด ก็ชักไม่แน่เสียแล้วว่าภูมิใจไทยจะร่วมรัฐบาลกับฝ่ายค้านได้ เช่นที่ไปดูด 3 ส.ส.ศรีสะเกษ จนครอบครัวเพื่อไทยยกพลไป “ไล่หนูตีงูเห่า” (ดีเท่าไหร่ไม่วางยาเบื่อหนู)
แม้บางคนบอกว่าไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร แต่การเมืองปัจจุบันเป็นการเมืองมวลชน FC เพื่อไทย-ก้าวไกล จำนวนมาก คงร้องโอ้กอ้ากหากพรรคของตนจูบปากพรรคบุรีรัมย์
ปัจจัยอีกข้อที่สกัดภูมิใจไทย คือไม่มีทางได้ ส.ส.กทม.ไม่สามารถชนะใจคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งฝังใจมาตั้งแต่สมัย “ยี้ห้อยร้อยยี่สิบ” จนยุคปัจจุบันที่มีชัชชาติเป็นขวัญใจภาพลักษณ์ชัชชาติ Vs นักการเมือง “บ้านใหญ่” (ทุกพรรค ไม่ใช่แค่ภูมิใจไทย) พูดได้ว่า สองนคราประชาธิปไตยกำลังหวนกลับ
ดาบสองคมของภูมิใจไทยคือแม้พร้อมทุกอย่างในการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็อาจกลายเป็น “ศัตรู” กับฝ่ายค้านจนไม่มีทางร่วมกันได้ และกลายเป็นเป้า “สองนคราประชาธิปไตย” ที่หวนมาใหม่