ใบตองแห้ง – ภาษาไดโน

Home » ใบตองแห้ง – ภาษาไดโน



“ภาษาพาที” กระแสแรงแทบแซงข่าวเลือกตั้ง “อยู่กินอย่างพอเพียง” ข้าวไข่ต้มครึ่งซีกคลุกน้ำปลาก็มีความสุขได้ เพราะความสุขอยู่ที่ใจ

หลังแบบเรียนโดนถล่ม “ชัยวุฒิ บางระจัน” ทายาทเจ้าของร้านทองประจำจังหวัด แปลงร่างเป็น “ชัยวุฒิ ไข่ต้ม” พาลูกชายกินง่ายๆ สบายๆ ไม่ต้องกินหรูอยู่สบายทุกมื้อ

ปกป้องไข่ต้ม? ผิดประเด็นหรือเปล่า ที่โลกออนไลน์ด่าขรม ไม่ใช่แอนตี้ไข่ต้มหรือต่อต้าน “พอเพียง” แต่มันคือการตีความ “พอเพียง” อย่างแยกไม่ออกกับ “ไม่พอกิน” แล้วไป Romanticize ไม่พอกิน

ใช่เลย อยู่กินอย่างพอเพียง ไม่ต้องกินหรูอยู่สบาย แต่หมายถึงพอมีพอใช้ อยู่อย่างสมถะ ไม่ใช่ยากจนข้นแค้น กินอาหารไม่ครบหมู่ ขาดโภชนาการ แล้วสอนให้พอใจในสิ่งที่มีอยู่ “ความสุขอยู่ที่ใจ”

สอนอย่างนี้ ทำให้ปรัชญาพอเพียงผิดความหมาย และกลายเป็นทำร้าย “พอเพียง” ซึ่งควรจะหมายถึงหลักการใช้ชีวิตอย่างพอเหมาะพอดี หรือที่พุทธสอนให้เดิน “ทางสายกลาง”

นี่มันสะท้อนว่า จริงๆ แล้วคนแต่งหนังสือไม่เข้าใจปรัชญาพอเพียง แต่พยายามยัดเยียด

ก็อย่างที่ “คำ ผกา” เปรียบเทียบว่า หนังสือมานีมานะซึ่งมากับหลักสูตรการศึกษาปี 2521 เป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อเหมือนกัน แต่มีศิลปะในการสื่อสาร มีความประณีตกว่า ให้ภาพชนบทแสนงาม ทุ่งนาเขียวขจี ในน้ำมีปลาในนามีผักบุ้ง มีผักสวนครัวรั้วกินได้ มีเป็ดไก่ในเล้า ผู้คนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทั้งที่ชีวิตจริงคนชนบทลำบากยากจน แต่มันก็เล่าเรื่องได้สนุก ภาษาสวยงาม ไม่ยัดเยียดงี่เง่าอย่างข้าวไข่ต้มเหยาะน้ำปลา จนโดนคนแอนตี้

นี่สะท้อนว่า ทั้งโลกหมุนไปข้างหน้า 45 ปี “ฝ่ายขวา” อนุรักษนิยมไทย กลับคุณภาพตกต่ำลง ฝีมือโฆษณาชวนเชื่อห่วยลง

เช่นเดียวกับการเมืองพิมพ์นิยม “ยุคป๋า 8 ปี” ความทรงจำ Romanticize “คนดีปกครองบ้านเมือง” ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้สวยงาม แต่ยุคประยุทธ์ 8 ปี (กำลังจะ 9 ปี) ล้มเหลวตกต่ำอย่างเทียบกันไม่ได้

มีอย่างที่ไหน ค่าไฟแพง ไล่คนไปศึกษาอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระพยอมเป็นงง ยุคเตมีย์ใบ้คงไม่พูดกับประชาชนอย่างนี้

โลกเปลี่ยนประชาชนเปลี่ยน เรียนรู้ความคิดข้อมูลข่าวสารกว้างขวางขึ้น แต่ชนชั้นนำอนุรักษนิยมและคนแวดล้อมกลับภูมิปัญญาต่ำลง ชนชั้นนำในอดีตยังพยายามปรับตัว พยายามทำความเข้าใจสังคมมากกว่านี้

อย่าแปลกใจที่คนรุ่นใหม่ลุกฮือ เพราะหลักสูตร แบบเรียน หลังรัฐประหาร 49 รัฐประหาร 57 ยัดเยียดความคิด ค่านิยมตกยุค อย่างไม่มีฝีมือ ไม่มีศิลปะในการถ่ายทอด เช่นให้ท่องอาขยานกันดื้อๆ

บางคนอ้างว่าภาษาพาทีเริ่มใช้ปี 2551 สมัยสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรี ใช่ครับ แต่ย้อนดูอีกที มีการปรับแบบเรียนในปี 2544 โดย อ.ชลธิรา สัตยาวัฒนา เป็นประธานจัดทำแบบเรียนภาษาไทย ซึ่งสอนให้คิดวิเคราะห์กว่านี้ แต่ใช้อยู่ไม่กี่ปี สพฐ.ให้เลิกใช้ อ้างครูผู้สอนว่ายากไป แล้วเปลี่ยนเป็นฉบับปี 2551 ซึ่งก็น่าจะเตรียมการในยุครัฐประหารนั่นเอง

อนุรักษนิยมไทยคุณภาพต่ำลง ฝีมือห่วยลงเป็นรุ่นๆ เพราะไม่ยอมปรับตัว ฝืนกระแสโลก ฝ่ายขวาในยุโรป อเมริกา ชนะเลือกตั้งเพราะปัญหาปากท้อง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แล้วบิดไปปลุกชาตินิยม กีดกันการค้ากีดกันคนอพยพ

ฝ่ายขวาไทยยังกอดค่านิยมดั้งเดิม ไล่คนเห็นต่างออกนอกประเทศ แทนที่จะตั้งพรรคอนุรักษนิยม อันอุดมด้วยอดีตข้าราชการทหารตำรวจผู้ว่าฯ นายอำเภอ หัวโบราณแต่สัตย์ซื่อมือสะอาด กลับได้เสี่ยเฮียเสธ.เป็นขุนพล (หรือพวกหัวโบราณสัตย์ซื่อมือสะอาดไม่มีเหลือแล้ว)

ก็เหมือนความพยายามสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ตั้งพรรคแบบสามัคคีธรรม ตั้ง 250 ส.ว.มาโหวตตัวเองดื้อๆ ยุคเปรมยังไม่ทำขนาดนี้

อนุรักษนิยมไทยแต่โบราณ เขาปลูกฝังความคิดเก่า แต่ก็พยายามสร้างแบบอย่าง มีรูปเคารพโน้มนำ ยกตัวอย่างทางการศึกษา “ครูไหวใจร้าย” ครูสมัยโบราณสร้างคนด้วยไม้เรียว ไม่ใช่หรอก ครูต้องมีความเอาใจใส่ความรักห่วงใยอยู่ในไม้เรียว

สมัยต่อมามันเหลือแต่ไม้เรียว หรือใส่อารมณ์ฉุนเฉียวเอาตัวเองเป็นใหญ่เข้าไปอยู่ในไม้เรียว แล้วจะให้เด็กกราบไหว้

พูดในฐานะคนเกิดปี 2500 หลักสูตรการศึกษาสมัยนั้นก็ยังไม่ถึงขั้นย่ำแย่เลวร้าย ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร บังเอิญได้เรียนมัธยมแบบประสม ความเปลี่ยนแปลงใหญ่เกิดหลัง 6 ตุลา 2519 ซึ่งเป็นทั้งช่วงพยายามสอดแทรกความคิดชาตินิยม “ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง” และพยายามตอบสนองทุนนิยมก้าวกระโดด จบมหาวิทยาลัยมีงานทำทันที การศึกษาที่เคยเรียนรู้แบบองค์รวมก็แยกเน้นเฉพาะทาง เรียนสายวิทย์สายธุรกิจไม่ต้องมีพื้นฐานสังคมศาสตร์ อายุห้าสิบค่อยหาซื้อหนังสือธรรมะไปอ่าน

โครงสร้างการศึกษาไทยก็สับสนอลวน เคยขึ้นกับมหาดไทย ผู้ว่าฯใช้ครูเสิร์ฟน้ำ ปฏิรูปการศึกษาตั้งเขตพื้นที่ รัฐประหาร คสช.ตั้งศึกษาธิการจังหวัดให้ครูมีสองนาย ตำแหน่งมีแล้วยุบไม่ได้ ถ้าฝ่ายค้านเป็นรัฐบาล ใครเป็นรัฐมนตรีงานหนัก ไม่ใช่แค่รื้อหลักสูตร ยังต้องรบโครงสร้าง ซึ่งเครือข่ายอนุรักษนิยมคงไม่ยอมเพราะเป็นอาวุธสำคัญ ใช้ครอบงำความคิด

สังคมไทยต้องรบรากับอนุรักษนิยมที่บื้อลง ดันทุรัง กอดอดีต แต่เสื่อมกว่าด้อยกว่าอดีต เหมือนยืนเถียงกันแล้วบอกให้ไปดูทีวีช่องที่ตัวเองฝังหัว

ผลเลือกตั้งหากพรรคฝ่ายค้านชนะท่วมท้น ก็ยังต้องไปชน 250 ส.ว.

เหนี่ยวรั้งสังคมไม่ได้ยังพยายามจะเหนี่ยวและทำลายตัวเอง ไม่สามารถครองใจครองความคิดคน แต่อยู่บนปืนและกฎหมาย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ