คอลัมน์ ใบตองแห้ง
‘ผนึกอำนาจเสื่อม’
รัฐสภาปิดทางแก้รัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปิดทางเคลื่อนไหวนอกสภา “ปฏิรูป=ล้มล้าง” ตำรวจระดมตั้งข้อหา อัยการเร่งสั่งฟ้อง ศาลอาญาถอนประกัน
ขบวนคนรุ่นใหม่ ขบวนเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตย ถึงโครงสร้าง ถึงทางตันแล้วหรือไม่ มองผิวเผินในเชิงอำนาจก็อาจใช่ เพราะไม่มีกำลังสู้รบปรบมือ ลงถนนก็แพ้อำนาจรัฐ สู้ในสภาก็แพ้ 249 ส.ส. 224 ส.ว.
แต่ในทางกลับกัน ความเป็นปึกแผ่นของอำนาจรัฐก็เป็นจุดเปราะ เพราะภาพที่แพ็กเข้ามาด้วยกัน กลายเป็นองค์ประกอบที่ไม่ชอบธรรม ตกต่ำ เสื่อมศรัทธา
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ว่าม็อบเรียกร้องปฏิรูปสถาบันซ่อนเร้นเจตนาล้มล้าง แม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยนักวิชาการกฎหมาย นักวิชาการประชาธิปไตย และม็อบ “ไม่เอาสมบูรณาญาสิทธิราชย์” แต่พูดกันตรงๆ เมื่อเป็นคำวินิจฉัยศาล เมื่อเป็นเรื่องสถาบัน คนไทยส่วนใหญ่ก็หวั่นเกรง เก็บปากเก็บคำ ไม่อยากเสี่ยง ตามธรรมชาติสังคม “ไทยเฉย” หรือ “อยู่เป็น”
คงมีคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่ “กล้ามาก” ตอบโต้ไม่ลดละ ทั้งในสื่อสังคมออนไลน์ และลงถนนไปสถานทูตเยอรมัน
แต่สถานการณ์ที่ตามมา ทั้งการส่งเสียง Echo กันเองของพวกสุดโต่งหยิบมือ ทั้งการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ด้วยคำอภิปรายวิปริตเหตุผลของเหล่า ส.ว. ส.ส.รัฐบาล มันยิ่งขับเน้นความเสื่อม มันยิ่งแบ่งการเมืองเป็นสองขั้ว ให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า พวกไชโยโห่ร้องคำสั่งศาล พวกอ้างตนปกป้องสถาบัน คือคนกลุ่มเดียวกันที่ปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง เกาะอำนาจแต่งตั้งเหนียวเป็นตีนตุ๊กแก
ร่างรัฐธรรมนูญ Re-Solution ให้ยุบ ส.ว.แต่งตั้ง เหลือแต่สภาจากเลือกตั้ง เพิ่มอำนาจตรวจสอบศาล กองทัพ รื้อศาลรัฐธรรมนูญ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ฯลฯ หากท้วงติงทางหลักวิชาก็ไม่ว่ากัน แต่เนื้อหาและท่าทีของ ส.ว. ส.ส.รัฐบาล คือการปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง ว่าประชาชนไม่ควรมีอำนาจ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งควรถูกควบคุมกำกับโดย ส.ว.จากแต่งตั้ง โดยองค์กรอิสระที่ไม่มีความยึดโยงอำนาจประชาชน และไม่ควรมีอำนาจเข้าไปตรวจสอบกองทัพ ไม่ควรมีอำนาจตรวจสอบระบบราชการศาลยุติธรรม
รัฐสภาที่มี 250 ส.ว.ประยุทธ์ตั้งมาโหวตตู่ ก็ตีกรอบประชาธิปไตยถดถอย ยิ่งไปกว่าระบอบที่คนไทยเคยเข้าใจ มาหลายสิบปี
ตลกร้าย ส.ส.ที่มาจากเลือกตั้งเอง เช่นประชาธิปัตย์ กลับคัดค้านแข็งขันว่า ส.ส.จากเลือกตั้งไม่ควรมีอำนาจ ขณะที่ ส.ส.ซึ่งถูกกวาดต้อนมาอยู่พลังประชารัฐ พากันกระดากปาก เงียบกริบ คงมีบางคนเช่นวีระกร คำประกอบ แม้คัดค้านก็ฉวยโอกาสหลอกด่าองค์กรอิสระ
ใช่เลยนะ ประชาชนฟังแล้วอาจพยักหน้าหงึกหงัก ไอ้พวก ส.ส.มีตั้งมากที่มาจากตระกูลเจ้าพ่อเจ้าแม่ อิทธิพลท้องถิ่น พ่อค้าแป้ง พ่อค้าน้ำมันเถื่อน ผู้รับเหมา ไม่น่าให้มีอำนาจมาก แต่เอ๊ะ ดูอีกที พวกนี้ก็คือ ส.ส.รัฐบาลที่โหวตไม่รับทั้งนั้นนี่หว่า
มันกลายเป็นว่า ส.ส.พวกนี้ต่างหาก ที่เข้ามาแอบอิงรัฐประหารสืบทอดอำนาจ อาศัยระบอบ 250 ส.ว.โหวตนายกฯ แสวงผลประโยชน์แล้วเงียบกริบ
ขณะที่เหล่า ส.ว.ปากเก่ง “เนรคุณชาติ ล้มสถาบัน” หรือขู่ลงโลงศพ บ้างก็เป็นพวกได้ดีกับรัฐประหาร ได้ตำแหน่ง แต่งตั้งทุกสมัย บ้างยังมีคดีบุกวัด บ้างออกจากตำแหน่งเพราะจดหมายน้อย ถามหน่อยมีความชอบธรรมอะไร
ทุกยุคสมัย พลังอนุรักษนิยมย่อมมีพวกห้อยโหน แต่ไม่อาจขาดแก่นแกนผู้มีชื่อเสียงด้านศีลธรรมจรรยา หรือมีความชอบธรรมบางประการ ยุคนี้สิน่าประหลาดว่า เกิดแพ็กอำนาจที่ยิ่งกว้างยิ่งเสื่อม
พอแพ็กเข้ากับเสาค้ำคือระบอบรัฐประหารสืบทอดอำนาจ 250 ส.ว.ตู่ตั้ง พวกพ้องทหารข้าราชการ วางตัวองค์กรอิสระ กวาดต้อนนักการเมืองมารับใช้ แล้วปล่อยให้หาผลประโยชน์ บริหารราชการล้มเหลว ไร้
องคาพยพมันเสื่อมไปหมด เว้นแต่อำนาจดิบ ปิดกั้นความเปลี่ยนแปลง เป็นระบอบที่เต็มไปด้วยเห็บหมัด ซึ่งจะห้อยโหน กัดกร่อน บ่อนทำลาย ถ้าไม่ยอมปฏิรูปองคาพยพ ดันทุรังไว้ทั้งพวง จะพาพังไปหมด แต่นั่นแหละ ระบอบใหญ่โตแตะตรงไหนก็ไม่ได้
พึงเข้าใจว่า ระบอบอำนาจแบบนี้ มักย่อยยับกับพวกประจบสอพลอ พวกล้นเกินเพื่อเอาใจ ยิ่งสุดโต่ง สังคมตรงกลางๆ ยิ่งรับไม่ได้
การเมืองหลังคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ กลายเป็นภาพชัดเจนว่า 250 ส.ว. 4 พรรครัฐบาล กอดกันแน่นเหนียว อาศัยการตีความว่าระบอบที่ปกครองประเทศอยู่นี้ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง ปกป้องประยุทธ์ บนความล้มเหลว บนปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า ใช้ทหารตำรวจ กระบวนการยุติธรรม นักร้อง นักกล่าวหา อดีต กปปส. บดขยี้ฝ่ายค้านและคนรุ่นใหม่ ด้วยข้อหา “ล้มล้างสถาบัน”
ถ้าเร่งไปในกระบวนการนี้ จะเกิดอะไร คงได้ชัยชนะมั้ง เลือกตั้งก็อาจชนะ ภายใต้อำนาจล้นหลาม แต่ไม่ยักตระหนักว่า ชัยชนะแต่ละครั้งอยู่บนความล่มสลายในอนาคตข้างหน้า