ใบตองแห้ง – นายกฯ ไม่ลง ส.ส.

Home » ใบตองแห้ง – นายกฯ ไม่ลง ส.ส.


ใบตองแห้ง – นายกฯ ไม่ลง ส.ส.

าวบ้านร้องว้า! เสียดาย ประยุทธ์ไม่ลงปาร์ตี้ลิสต์อันดับหนึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติ

อุตส่าห์ตั้งตารอ-รอสะใจ อยากเห็นประยุทธ์แพ้เลือกตั้ง เป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน เข้าสภาไปเป็นประธานกรรมาธิการการทหาร ปกป้องเรือดำน้ำ ยกมือขออนุญาตท่านประธานถูกพาดพิง สมัยผมเป็นรัฐบาลไม่ได้เลวร้ายอย่างที่โดนด่า ฯลฯ

ที่ไหนได้ ประยุทธ์จะเอาแต่ชนะเป็นแต่นายกฯ ถ้าแพ้เลือกตั้ง ไม่ยอมเป็นฝ่ายค้าน สะบัดก้นกลับไปอยู่บ้านในค่ายทหาร กับเมียกับหมา

ไม่ยอมให้ชาวบ้านสะใจเลย เอาเปรียบกันนี่นา

ทำตัวเป็นเจ้าขุนมูลนาย จมไม่ลง จะเป็นแต่นายกฯ จากรัฐประหาร นายกฯ จากการตั้งพรรคกวาดต้อน ส.ส. ลอยตัวเองอยู่เหนือพรรคการเมือง รอบนี้อุตส่าห์เข้าพรรค เดินหาเสียงเอง “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” แต่ถ้าแพ้ ผมพอแล้ว?

แพ้ก็ควรมีสปิริต รับผิดชอบต่อประชาชนที่เลือกมา คนเลือก รทสช.เพราะประยุทธ์ ประยุทธ์ก็ต้องสู้ต่อในสภา เป็นฝ่ายค้านอภิปรายด่าพวกชังชาติ ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญโละอำนาจ 250 ส.ว.

ไม่ใช่ปล่อยให้พรรครวมไทยสร้างชาติเป็นผีหัวขาด แม้ยังมีหัวหน้า แต่ถ้าไม่มีประยุทธ์ ธนกร, แรมโบ้ ก็เหมือนลูกกำพร้า

กลายเป็นประวิตรชัดเจนกว่า จะเป็น ส.ส.ครั้งแรกในชีวิตเมื่ออายุ 78 เพราะลงปาร์ตี้ลิสต์อันดับแรก ขี้หมูขี้หมาพลังประชารัฐก็ต้องได้ปาร์ตี้ลิสต์ 5-6 คนขึ้นไป

อย่าดูแคลนว่าเดินแทบไม่ไหว ก้าวไม่ข้าม ป้อมปรับลุกส์ ดูเหมือนตลกขบขัน แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้คนรู้สึกไม่มีพิษไม่มีภัย ลบภาพรัฐประหาร ทั้งที่พายเรือให้นั่งมา 9 ปี ฉีกตัวจากภาพก้าวร้าวเห่ากระโชก เมื่อมีคนชูสามนิ้วใส่

นายกฯ ต้องเป็น ส.ส.ไหม พูดในหลักการ เพราะแพทองธาร, เศรษฐา ก็ไม่ลงปาร์ตี้ลิสต์เหมือนกับประยุทธ์

ว่าโดยหลักการประชาธิปไตย การที่พรรคการเมืองประกาศชื่อผู้ที่จะเป็นนายกฯ ให้ประชาชนรับรู้ก่อนเลือกตั้ง เป็นไปตามหลักการ นายกฯ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ซึ่งอันที่จริงก็เป็นตลกร้ายของรัฐธรรมนูญไทยที่ต้องบัญญัติ นายกฯ ต้องมาจากผู้ที่พรรคเสนอชื่อ หรือนายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. เพราะประชาธิปไตยระบอบรัฐสภาทั่วโลก เขาไม่ต้องระบุ เขารู้โดยประเพณีประชาธิปไตยว่าต้องเป็นหัวหน้าพรรค เป็น ส.ส. เช่นอังกฤษ นายกฯ ลาออกจากหัวหน้าพรรค พรรคเลือกหัวหน้าใหม่ ก็เป็นนายกฯ ทันที

ไม่เหมือนประเทศนี้ไปเอาคนนอกมาเป็นนายกฯ จนเกิดเหตุนองเลือดพฤษภา 35 ต้องแก้รัฐธรรมนูญว่านายกฯ มาจาก ส.ส.

ดังนั้นเราพูดได้ว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง เศรษฐา, แพทองธาร เป็นนายกฯ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติชนะ ประยุทธ์เป็นนายกฯ ก็เป็นไปตามหลักการ นายกฯ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ในกรณีนี้ว่าที่จริง ควรกำหนดด้วยซ้ำว่า ใครคืออันดับหนึ่ง ให้ประชาชนรู้ชัด ไม่ใช่ไปรู้ตอนเปิดประชุมสภา ถ้าจะมี 2-3 คือเผื่อมีเหตุให้เป็นไม่ได้ ซึ่งถ้าแก้รัฐธรรมนูญ อันที่จริงก็ย้อนไปให้นายกฯ มาจาก ส.ส.ดีที่สุด เหมือนปี 54 ยิ่งลักษณ์ก็เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 แล้วถ้าอันดับ 1 มีเหตุอะไร ก็เลื่อนไป 2,3,4,5 ซึ่งประชาชนรับรู้ตั้งแต่เลือกตั้ง

นายกฯ ต้องสังกัดพรรค อยู่ในวินัยของพรรค ไม่ใช่แบบประยุทธ์เป็นนายกฯ จากพลังประชารัฐ แต่สมัครเข้ารวมไทยสร้างชาติหน้าตาเฉย แล้วตั้งคนของพรรคเป็นรัฐมนตรี เป็นเลขาฯ เป็นที่ปรึกษา เป็นข้าราชการการเมือง ไม่มีมารยาทและไม่มีความรับผิดชอบต่อพรรคที่เสนอชื่อตัวเองเป็นนายกฯ

ดังนั้น ย้ำอีกทีว่า นายกฯ จากบัญชีแคนดิเดตถือเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็มีภาพชวนคิดว่า ถ้ารวมไทยสร้างชาติแพ้เป็นฝ่ายค้าน แล้วประยุทธ์กลับบ้านไปอยู่กับเมียกับหมา ถ้าเพื่อไทยแพ้เป็นฝ่ายค้าน แล้วแพทองธารกลับไปเลี้ยงลูก เศรษฐากลับไปบริหารแสนสิริ อีกสี่ปีกลับมาเป็นแคนดิเดตใหม่ หรือเพื่อไทยไปหา CEO นักบริหารมืออาชีพคนใหม่มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ

มันก็ประหลาดๆ อยู่นะ ว่าไหม

เพราะคนที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ มีส่วนจูงใจให้ประชาชนเลือกพรรค กรณีประยุทธ์อาจชัดเจนกว่า ไม่มีประยุทธ์ไม่มีรวมไทยสร้างชาติ ไม่มีเศรษฐา คนยังเลือกเพื่อไทย แต่ความเชื่อในฝีมือเศรษฐาก็ทำให้นำลิ่วในโพล CEO ซึ่งหวังว่าจะเข้ามากอบกู้เศรษฐกิจ

กรณีสมมติเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาล แล้วเศรษฐากลับไปบริหารแสนสิริ

กรณีอุ๊งอิ๊งอาจต่างไปอีก เพราะคนเชื่อว่ายังไงๆ ชินวัตรไม่ทิ้งเพื่อไทย ไม่ได้เป็นนายกฯ อุ๊งอิ๊งก็ไม่ไปไหน ก็น่าจะทำงานพรรคเตรียมความพร้อมสู่อนาคต

กรณีเศรษฐาก็อาจตอบได้เช่นกันว่า จะไม่ทิ้งพรรค จะทำงานพรรค เป็นทีมยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ฯลฯ

แต่ภาพต่างกันไหมถ้าทั้งคู่เป็น ส.ส. แม้เป็นฝ่ายค้าน แต่เข้าไปทำงานสภา เป็นกรรมาธิการงบฯ กรรมาธิการการเศรษฐกิจ กรรมาธิการการสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ทำหน้าที่ตรวจสอบ อภิปรายอย่างมีหลักการเหตุผล ทำให้คนชื่นชม แล้วสมัยหน้ายิ่งสง่างาม

อย่าไปติดภาพว่า งานสภาคือ “เกมการเมือง” งานบริหารต้องไปทำ Subcontract จ้าง CEO มืออาชีพมาโดยเฉพาะ

ผู้นำรัฐบาลประชาธิปไตยควรมีพื้นฐานงานนิติบัญญัติ ไม่มากก็น้อย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ