คอลัมน์ ใบตองแห้ง
คึกคักพรรค(ขวา)ใหม่
เลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่น่าสนุก ไม่ใช่แค่พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล “ตัดคะแนนกันเองในฝ่ายประชาธิปไตย” พรรคพลังประชารัฐ พรรคกล้า พรรคไทยภักดี ก็ตัดคะแนนกันเองใน “ฝ่ายขวา” คือทั้งพรรคและตัวบุคคลล้วนมีที่มาจาก กปปส.
พปชร.ส่ง “เจ๊หลี” (รีแบรนด์เป็น “มาดามหลี”) ลงแทนสามี ศิษย์พุทธะอิสระปิดถนน พรรคกล้าส่ง อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ที่แยกตัวมาจาก ปชป. ขณะที่หมอวรงค์ “โจรปล้นชาติจะกลับมา” ก็เล่นใหญ่ เปิดตัวอดีต ผบช.น.เป็นเลขาธิการ เปิดตัวคนสนิท ถาวร เสนเนียม เป็น ผอ.เลือกตั้ง
เสียดายจัง ปชป. พรรคอนุรักษ์ตัวพ่อไม่ยักส่ง อ้างมารยาทการเมือง ทั้งที่เลือกซ่อมชุมพร-สงขลา ฟาดฟันกันถึงขั้นโวยทหารเข้าเขตเลือกตั้ง
ทั้ง 3 พรรค รวมประชาธิปัตย์เป็น 4 อยู่ในอุดมการณ์เดียวกัน แม้มีจุดต่างเช่น พรรคกล้าไม่หนุนประยุทธ์ แต่เมื่อพูดถึงทักษิณ ธนาธร ม็อบราษฎร คนรุ่นใหม่ปฏิรูปสถาบัน ฯลฯ ก็รุมประณามแม้วทอนสามกีบเป็นเสียงเดียวกัน เป่านกหวีด มาด้วยกัน กระทั่งสลิ่มกุมขมับไม่รู้จะเลือกใครดี
มองมุมกลับก็ขำๆ “ตลาดการเมืองฝ่ายขวา” คะแนนเสียงสลิ่ม มีให้แย่งกันมากขนาดนั้นหรือ
ไม่ใช่แค่เลือกซ่อมหลักสี่ เลือกผู้ว่าฯ กทม. ที่บางคน ร้อนอกร้อนใจ อยากเอาขี้เถ้าอุดปากก้าวไกลไม่ให้ตัดคะแนน ชัชชาติ ก็ปรากฏว่าคู่แข่งไม่ได้มีแค่สุชัชวีร์ ยังจะมี สกลธี ภัททิยกุล อาสาเป็นตัวแทน กปปส. ตัดคะแนน ปชป. เพิ่ง ลาออกจาก พปชร. แล้วไปพบประยุทธ์
ที่ภาคใต้ก็เป็นศึกใหญ่ในขั้วเดียวกัน พรรคที่ส่งประยุทธ์เป็นนายกฯ Vs พรรคที่ทิ้งคำมั่นสัญญาหัวหน้าเดิม ร่วมรัฐบาลสืบทอดอำนาจ โดยมีพรรคกล้าเป็นตัวทำโพลว่า คนใต้ฝ่ายขวาแต่ไม่เอาประยุทธ์มีเท่าไหร่ พรรคก้าวไกลทำโพลว่า คนใต้ ที่เชียร์ฝ่ายค้านมีเท่าไหร่
พูดอย่างนี้ไม่ใช่การเมืองมีแต่เรื่องเสื้อสี ตลาดการเมือง มีหลายระนาบด้วยกัน ทั้งตลาดอุดมการณ์ ตลาดอุปถัมภ์ ตัวบุคคล “บ้านใหญ่” ยกตัวอย่างหลักสี่ ย่อมมีปัจจัย อดีต ส.ส. เข้าถึงดูแลชุมชนได้มากกว่าคนหน้าใหม่
เพียงแต่เลือกซ่อม กทม. ครั้งนี้ ตลาดอุดมการณ์เข้มข้น เพราะเป็นศึกปักธงนำร่องเลือกตั้งใหญ่ ใครแพ้ชนะก็ไม่ส่งผลต่อสัดส่วนในสภา พรรคใหญ่ไม่สามารถอ้างยุทธศาสตร์ เลือกเราแลนด์สไลด์ หรือเลือกเราไปหนุนประยุทธ์ มันจึงเปิดกว้างเป็นกึ่งๆ ทำโพลล่วงหน้า เช่นวัดกระแสพี่โทนี่คลับเฮาส์ฮิตแค่ไหน วัดพลังคนรุ่นใหม่ผ่านก้าวไกล วัดใจ กปปส.จะเชียร์ใคร
ตลาดการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้ายิ่งน่าสนใจ ท่ามกลางคะแนนนิยมประยุทธ์ตกต่ำ และความแตกแยกในพรรค พลังประชารัฐ ไม่ใช่แค่ฟากประชาธิปไตยต้องสู้กันเอง เพื่อไทย Vs ก้าวไกล ในฟากอนุรักษ์ก็เกิดทั้งพรรคใหม่และขวาใหม่
สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า อดีต กปปส. “สามทหารเสือ” มอง พปชร.ไม่ใช่คำตอบแล้ว จึงอาจตั้งพรรค “ขวาใหม่” หนุนประยุทธ์ เพื่อสู้กระแส “ซ้ายใหม่” ก้าวหน้าก้าวไกล โดยเชื่อว่าแม้ขวาสุดโต่งมีน้อย แต่กระแส “ขวากลาง” จากความกลัวทักษิณ+ก้าวไกลจะเยอะขึ้น กลายเป็นตลาดใหญ่
พรรคกล้าล่ะ สาทิตย์ไม่แน่ใจ แต่พรรคกล้าเค้าก็ประกาศชัดนะ สมองซีกขวายึดมั่นชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ สมองซีกซ้ายมีฝีมือบริหารมากกว่าตู่
พรรคประชาธิปัตย์ก็จ้องช่วงชิงคะแนน “ฝ่ายขวา” คืน ทั้งภาคใต้และ กทม. โดยอวดตัวว่าอนุรักษ์มาแต่ดึกดำบรรพ์ หวังลึกๆ ว่าถ้าตู่เสื่อม เครือข่ายอำนาจก็อาจให้โอกาสนายกฯบางโพล
งั้นภูมิใจไทยอยู่ตรงไหน อยู่บุรีรัมย์ ไม่สนตลาดอุดมการณ์ เต็มเหนี่ยวกับตลาดอุปถัมภ์ พร้อมร่วมทุกรัฐบาลเพื่อสานโปรเจ็กต์หัวลำโพง แต่แนวโน้มชูอุดมการณ์อนุรักษนิยมปลอดภัยกว่า
ว่าที่จริง พลังประชารัฐก็พึ่งตลาดอุปถัมภ์ ส.ส.บ้านใหญ่ แค่ใช้ประยุทธ์หาเสียง “รัฐธรรมนูญนี้ร่างมาเพื่อพวกเรา” แต่ตอนนี้แตกแยกจนจะทำให้ประยุทธ์ขาลอย
นอกจากขวา ก็ยังมี อุตตม สนธิรัตน์ จิบกาแฟหาช่องเป็นพรรคหล่อๆ กลางๆ หวังชูสมคิดกลับมาประกาศ “คนจนหมดประเทศ”
ฉากทัศน์ที่แย่งกันเป็นพรรคฝ่ายขวาหรือขวาใหม่ โดยเชื่อว่าตลาดคะแนนเสียงฝ่ายขวาเปิดกว้าง หลังคนรุ่นใหม่แผ่นดินไหว นับเป็นตลกร้าย เชื่อเช่นนั้นจริงหรือแย่งกันโหนเอาใจอำนาจ
ถ้าพูดให้ชัด ต้องบอกว่าระบอบประยุทธ์ไปต่อได้ยากในทางการเมือง แต่อำนาจหนุนหลังยังใหญ่โตมหึมา จึงเกิดการแตกตัวเป็นขวาโต่ง ขวากลาง กลางขวา เสนอตัวรับใช้หรือหวังเป็นตัวเลือกใหม่
ยุทธศาสตร์ของระบอบจำแลงคือ ทำลายการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ ทำลายการเคลื่อนไหวนอกสภา ให้พรรคการเมืองยอมรับประชาธิปไตยที่ถูกจำกัด แล้วแย่งกันเข้ามารับใช้
ก็อยู่ที่ว่าคนรักประชาธิปไตยจะทันเกมนี้หรือไม่ และจะใช้บัตรเลือกตั้งแสดงพลังอย่างไร