ใครมีอาการนี้ระวัง ปวดหัวรุนแรงช่วงเช้า เผยสัญญาณเตือน "มะเร็งสมอง"

Home » ใครมีอาการนี้ระวัง ปวดหัวรุนแรงช่วงเช้า เผยสัญญาณเตือน "มะเร็งสมอง"



หมอเตือนปวดหัวรุนแรงช่วงเช้า ซึม ชัก กล้ามเนื้อกระตุก มีปัญหาความคิด พูด มองเห็นภาพซ้อน ไม่ชัด อาจเป็นสัญญาณเตือนมะเร็งสมองแนะสังเกตอาการมาพบแพทย์ไว รักษาระยะแรกมีโอกาสหาย

เมื่อวันที่ 4 .. นพ.วิกรม เจนเนติสิน อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา รพ.เวชธานี กล่าวว่า อาการปวดศีรษะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เมื่อกินยาแก้ปวดแล้วอาการดีขึ้น แสดงว่าอาจมีความรุนแรงน้อยจนร่างกายรับมือและฟื้นฟูเองได้ แต่หากเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และรุนแรงมากขึ้นจนยาแก้ปวดไม่สามารถช่วยได้ ให้สงสัยว่าความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจก่อให้เกิดโรคร้าย เช่น มะเร็งสมอง ซึ่งเกิดจากเนื้องอกที่มีเซลล์ผิดปกติ หรือเซลล์มะเร็ง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นเองที่บริเวณเนื้อเยื่อสมอง หรืออาจลุกลามมาจากมะเร็งอวัยวะอื่น โดยสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งสมองยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด

แต่มีปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยง ได้แก่ อายุมากขึ้น, มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งสมอง, ป่วยเป็นโรคมะเร็งในอวัยวะอื่นที่ลุกลามมาที่สมองได้, ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอชไอวี, สูบบุหรี่เป็นประจำต่อเนื่องหลายปี, สัมผัสสารกัมมันตภาพรังสี สารเคมี หรือภาวะแวดล้อมบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดมะเร็ง

นพ.วิกรมกล่าวว่า อาการของโรคมะเร็งสมองขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่ง อาการจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยทั่วไปแล้วผู้ที่เป็นโรคมะเร็งสมองอาจมีอาการดังนี้ ปวดศีรษะ โดยจะมีอาการรุนแรงในตอนเช้า, คลื่นไส้ อาเจียน, เป็นลมหมดสติ, ซึม, ชัก กล้ามเนื้อกระตุก, อ่อนแรงและชาบริเวณแขนและขา, มีปัญหาการทรงตัว หรือเดินลำบาก, มีปัญหาทางความคิด สติปัญญา อารมณ์ หรือสูญเสียความทรงจำ, มีปัญหาในการพูด, มีปัญหาในการมองเห็น, มีปัญหาบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้หากมีอาการร่วม เช่น มองเห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด, ง่วงซึมผิดปกติ, ปวดศีรษะอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา

สำหรับการวินิจฉัยขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยแพทย์จะมีแนวทางการวินิจฉัย คือ 1.ตรวจระบบประสาท เพื่อหาความผิดปกติในการทำงานของสมอง ที่เป็นผลมาจากการที่มีรอยโรคในสมอง 2.ตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือ CT Scan เพื่อดูลักษณะและตำแหน่งของเนื้อร้าย 3.การเจาะน้ำไขสันหลัง เพื่อตรวจเซลล์มะเร็งหรือความผิดปกติอื่น และ 4. การตัดชิ้นเนื้อตรวจ ทำได้ทั้งผ่าตัดเปิดกระโหลกและแบบระบบนำวิถี เจาะรูเล็กที่กระโหลกแล้วใช้เข็มสอดเข้าไปเก็บตัวอย่าง

การรักษาอาจได้รับการรักษามากกว่าหนึ่งวิธี ขึ้นอยู่กับประเภท ขนาด และตำแหน่งของก้อนเนื้อมะเร็ง รวมไปถึงข้อจำกัดต่าง ๆ ของผู้ป่วย โดยการรักษาที่เป็นมาตรฐานได้แก่ การผ่าตัด การฉายแสง การให้ยาเคมี

บำบัด ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกัน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ การสังเกตความผิดปกติของตัวเอง เมื่อเกิดความผิดปกติควรรีบมาตรวจรักษาโดยเร็ว เพราะหากตรวจพบในระยะแรกที่เนื้องอกยังมีขนาดเล็ก การรักษาจะยังไม่ซับซ้อน และมีโอกาสรักษาหายได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ