ใครทำ ? : เบื้องหลังการขับ ลิโอเนล เมสซี่ ออกจาก บาร์เซโลน่า

Home » ใครทำ ? : เบื้องหลังการขับ ลิโอเนล เมสซี่ ออกจาก บาร์เซโลน่า
ใครทำ ? : เบื้องหลังการขับ ลิโอเนล เมสซี่ ออกจาก บาร์เซโลน่า

โลกฟุตบอลอะไรก็เกิดขึ้นได้ คำนี้เราได้ยินมานาน แต่ก็ยากจะเชื่อจริง ๆ สำหรับการย้ายทีมของ ลิโอเนล เมสซี่ นักเตะอันดับ 1 ของโลกที่ย้ายออกจาก บาร์เซโลน่า  

เมสซี่ กับ บาร์ซ่า น่าจะเป็นเนื้อเดียวกันจนแทบแยกกันไม่ออกมานานเกิน 10 ปี ในวันที่เขาแถลงการ “ลาจาก” คำพูดและภาษากายของ เมสซี่ บอกอย่างชัดเจนว่า หากเรื่องทั้งหมดนี้มันขึ้นอยู่กับเขา … เขาจะไม่มีทางย้ายจาก บาร์เซโลน่า แน่นอน 

ดังนั้นหากไม่ใช่เมสซี่ที่ผลักดันให้เกิดการย้ายทีมครั้งประวัติศาสร์ครั้งนี้ เหมือนเมื่อปี 2020 ที่เจ้าตัวส่ง “บูโรแฟกซ์” ขอย้ายทีมเอง แต่ไม่ได้รับการอนุมัติ ใครกันล่ะที่ทำให้สัญลักษณ์ของสโมสรคนนี้ต้องย้ายออกไปในปี 2021 ทั้งที่เจ้าตัวอยากอยู่ ? 

ติดตามได้ที่ Main Stand

การบริหารที่ล้มเหลวของบาร์เซโลน่า 

ผู้ต้องสงสัยรายแรกคือสโมสรบาร์เซโลน่าเอง ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งที่เฉพาะเจาะจงได้ แต่หมายถึงการบริหารงานองค์กรที่ผิดพลาด จากทีมที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก กลับกลายเป็นทีมที่เจอวิกฤตหนักหนาที่สุดในช่วง 2 ปีหลังสุด โดยเฉพาะเมื่อไวรัส โควิด-19 เข้ามาเป็นอีกตัวแปรสำคัญ

ในมือผู้บริหารคนเก่าอย่าง โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว บาร์เซโลน่าสร้างดีลที่ผิดพลาดและจ่ายเงินกับสิ่งที่ไม่จำเป็นมากมาย ทั้งกับการซื้อนักเตะ การจ่ายค่าเหนื่อย ไปจนถึงการจ้างทีมที่คอยปั่นกระแสโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีการเปิดเผยจาก The Athletic ว่า บาร์เซโลน่ามีหนี้รวมถึง 1.2 พันล้านยูโร และทำให้เมสซี่ฉุนขาด ถึงกับส่งบูโรแฟกซ์เพื่อขอฉีกสัญญาเมื่อเดือนสิงหาคม 2020 แต่ทางบาร์ซ่าและ ลา ลีกา ขวางไว้ โดยอ้างเงื่อนไขของสัญญาที่ต้องทำก่อนวันที่ 30 มิถุนายน 2020 แม้มีโควิดก็ไม่สน จนเมสซี่ต้องยอมเล่นให้ทีมต่อ

ขณะที่ประธานสโมสรคนใหม่อย่าง โจน ลาปอร์ต้า ก็ยืนยันตรงกันว่า หลังจากเขาตรวจสอบตัวเลขหนี้ในบัญชีของสโมสรสำหรับฤดูกาล 2020-21 เพียงปีเดียว สโมสรมีหนี้เพิ่มอีกกว่า 500 ล้านยูโร ขณะที่รายรับที่เข้ามาไม่สัมพันธ์กันเลย เพราะมีเพียง 384 ล้านยูโรเท่านั้น ตกลงจากปีก่อนเกือบครึ่ง (ปีก่อนได้ 671.4 ล้านยูโร)

 

สำหรับสโมสรที่เป็นสมาชิกของ ลา ลีกา มันมีกฎข้อหนึ่งที่ว่าพวกเขาจะต้องมีรายจ่ายในส่วนของค่าเหนื่อยให้น้อยกว่ารายรับของสโมสร เพื่อป้องกันปัญหาการเงินร้ายแรงที่จะตามมาภายหลัง กฎนี้ส่งผลกับการต่อสัญญากับเมสซี่โดยตรง เพราะสัญญาของเมสซี่ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2021 ที่ผ่านมา

สำหรับสัญญาฉบับใหม่ เมสซี่ได้เขาประชุมกับลาปอร์ต้าแบบตัวต่อตัว และข้อมูลจากข่าววงในที่อ้างโดย The Athletic บอกว่า สัญญาฉบับนี้ เมสซี่ยินยอมที่จะลดค่าเหนื่อยลง 50% เนื่องจากหากเขาไม่ยอมลด กฎรายจ่ายของแต่ละสโมสรที่ ลา ลีกา วางไว้ จะทำให้บาร์ซ่าไม่ผ่านเกณฑ์ และทำให้สโมสรต้องโดนลงโทษ เนื่องจากในปีที่แล้ว (ฤดูกาล 2020-21) บาร์เซโลน่าขาดทุนอย่างหนัก ทาง ลา ลีกา ได้อะลุ้มอล่วยให้แล้ว เนื่องจากสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันเรื่องโควิด-19 และให้โอกาสพวกเขาได้แก้ไขเรื่องรายรับ-รายจ่าย ต่ออีก 1 ปี เพื่อให้ทางลีกได้ตรวจสอบอีกครั้ง 

ข้อตกลงระหว่างเมสซี่กับบาร์เซโลน่าคือ เขาจะลดค่าเหนื่อยต่อปีลง จาก 45 ล้านปอนด์ เหลือเพียง 20 ล้านปอนด์ โดยจะเซ็นสัญญาเป็นระยะเวลา 5 ปี และตามข้อมูลที่เปิดเผยคือ เมสซี่จะเล่นให้กับบาร์ซ่า 2 ปี หลังจากนั้นจะยอมให้เมสซี่ย้ายไปเล่นใน เมเจอร์ ลีก ซอคเกอร์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมกับรับบททูตของสโมสรอีก 3 ปี โดยบาร์ซ่าจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ซึ่งทั้งสองฝ่ายจับมือ “ดีล” กันเรียบร้อยแล้ว 

แต่ปัญหามันไม่ง่ายแบบนั้น เพดานค่าเหนื่อยของทีมก็ยังแก้ไขไม่ได้ เพราะสัญญาของนักเตะบาร์เซโลน่าแต่ละคนแพงมาก ๆ อองตวน กรีซมันน์ 8 แสนยูโรต่อสัปดาห์ ขณะที่นักเตะคนอื่น ๆ หากไม่นับกลุ่มเยาวชนที่ดันขึ้นมาจากอคาเดมีของตัวเองอย่าง อันซู ฟาติ, เปดรี้ หรือ ริกิ ปุตช์ ไม่มีนักเตะคนไหนเลยที่ค่าเหนื่อยต่ำกว่า 150,000 ยูโรต่อสัปดาห์ และมีถึง 8 คน ที่รับค่าเหนื่อยระหว่าง 200,000 ถึง 400,000 ยูโรต่อสัปดาห์ (ทั้งหมดนี้ไม่รวมนักเตะอย่าง เซร์คิโอ อเกวโร กับ เมมฟิส เดปาย ที่ย้ายเข้ามาใหม่)

 

บาร์เซโลน่า พยายามจะเคลียร์ตรงนี้แล้วเพื่อให้อะไร ๆ มันง่ายขึ้น พวกเขามีข่าวจะขาย อองตวน กรีซมันน์ เพื่อลดภาระค่าเหนื่อย ทว่าก็ไม่มีทีมไหนสู้ราคาไหว นอกจากนี้พวกเขายังพยายามเทขาย อุสมาน เดมเบเล่, ซามูเอล อุมติตี้, มิลาเร็ม ปานิช ผลสุดท้ายก็เหมือนเดิม แม้นักเตะจะอยากย้าย แต่ค่าเหนื่อยของพวกเขาก็ทำให้ทีมที่จะซื้อต้องถอยฉากไปเกือบหมด บาร์เซโลน่าต้องแบกค่าใช้จ่ายทุกอย่างไว้ต่อไป ซึ่งนั่นส่งผลให้พวกเขาต้องคุยกับ เมสซี่ เพื่อขอให้ลดค่าเหนื่อยตัวเองลง 50% นอกจากนี้ พวกเขายังต้องไปคุยกับ ฆาเวียร์ เตบาส ประธานของ ลา ลีกา เพื่อช่วยหาทางให้ทีมสามารถรั้งเมสซี่ต่อไปได้ 

ข้อตกลงระหว่าง บาร์เซโลน่า กับ ลา ลีกา คือ บาร์เซโลน่าจะต้องเป็นฝ่ายยกมือสนับสนุนให้กับ ลา ลีกา ในการขายหุ้นของ ลา ลีกา ให้กับ CVC Capital Partners จำนวน 10% คิดเป็นเงิน 2.7 พันล้านยูโร โดยเงินจำนวนนี้ ลา ลีกา บอกว่าจะเอามาแบ่งให้กับสโมสรสมาชิก เพื่อลดภาระด้านการเงินจากสถานการณ์โรคโควิด-19 

ขณะที่บาร์เซโลน่าเอง ก็จะได้นำเงินจำนวนนี้ไปเพิ่มเพดานค่าเหนื่อยของตัวเอง ทำให้พวกเขาสามารถขยายสัญญาเมสซี่ออกไปได้ แม้จะขายนักเตะที่ไม่ได้ใช้งานคนอื่น ๆ ไม่ออกก็ตาม 

“ดีล!” เพื่อรั้งเมสซี่อยู่กับทีม ไม่มีเหตุผลอะไรที่บาร์เซโลน่าจะไม่ยอม ทุกอย่างควรจะจบลงอย่างแฮปปี้เอนดิ้งแล้ว ทว่าในความสงบนี้กลับมีใครบางคนที่ “เอ๊ะ” กับข้อเสนอนี้ขึ้นมา และการเอ๊ะนั่นเอง ที่ทำให้บาร์เซโลน่าหยุดปากกาที่กำลังจะเซ็นสัญญา และขอทบทวนอีกครั้ง…

จบโดยที่เมสซี่ไม่รู้ตัว 

ขณะที่บาร์เซโลน่าเตรียมการเพื่อแถลงการณ์ยกเลิกการต่อสัญญากับ ลิโอเนล เมสซี่ ตัวของนักเตะนั้นไม่มีความคิดที่จะย้ายทีมเลย และเจ้าตัวก็มั่นใจมาก ๆ ว่าสิ่งที่เขาเจรจากับทีมไปได้ข้อตกลงที่สำเร็จแล้ว เรียกง่าย ๆ ว่า เมสซี่ไหวตัวไม่ทัน รู้อีกทีสโมสรก็ประกาศว่าเรื่องทั้งหมดมันจบลงแล้ว 

หลังจากได้รับรู้ความจริงสุดช็อก เมสซี่ก็ขึ้นแถลงข่าวด้วยตนเอง เนื้อหาใจความของเขาที่กล่าวในวันนั้นเต็มไปด้วยคำขอบคุณ และความรักที่มีต่อสโมสรบาร์เซโลน่า พร้อมทั้งย้ำว่า เขาไม่เคยอยากจะจากทีมเลย ทว่าสิ่งที่ซ่อนอยู่ในความซึ้ง คือการสื่อว่าใครสักคนกำลังทำสิ่งที่อยู่เบื้องหลังการล้มโต๊ะเจรจา 

“การที่ผมไม่ได้ออกมาพูดผ่านสื่อบ่อย ๆ เป็นการเชื้อเชิญให้คนอื่น ๆ เอาความคิดของพวกเขามายัดใส่ปากของคุณ แต่นั่นไม่ใช่ความจริงทั้งหมดหรอกนะ ผมจะพูดเฉพาะในมุมของผมเท่านั้น สำหรับผมแล้วผมซื่อสัตย์ โปร่งใส และไม่เคยโกหกใคร นั่นคือสิ่งที่ผมเป็นมาเสมอ และผมอยากให้แฟน ๆ ได้รู้”

นักข่าวที่ร่วมงานแถลงการณ์ในวันนั้น พยายามจะชักจูงให้เมสซี่ ชี้ถึงตัวการที่ทำให้ความฝันของเขาต้องพังทลาย มีการถามถึงการตัดสินใจของ โจน ลาปอร์ต้า ประธานสโมสร และ ฆาเวียร์ เตบาส ประธาน ลา ลีกา ว่าเป็นใครกันแน่ที่ทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้น ? ซึ่งเมสซี่ก็ไม่ได้ตอบตรง ๆ เสียทีเดียว

 

“ผมรู้แค่ว่า ลา ลีกา ไม่สามารถปล่อยให้การเซ็นสัญญาของผมเกิดขึ้นได้ มันเป็นเพราะหนี้ของสโมสร ทีมของเราไม่สามารถเป็นหนี้ได้มากกว่านี้อีกแล้ว ทุกอย่างจึงไม่เกิดขึ้น สำหรับเตบาส ผมไม่มีอะไรจะพูด ผมไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว และผมไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเขา” เมสซี่ ว่าไว้เช่นนั้น แล้วใครล่ะเป็นคนล้มข้อเสนอที่ทุกฝ่ายตกลงกันไว้แล้ว 

คำแถลงของเมสซี่ในวันนั้น พาให้สื่อไปค้นหาความจริงกันอุตลุด บ้างก็บอกว่า บาร์เซโลน่าคือคนที่หักหลัง เมสซี่ เพราะค่าเหนื่อยของเขามากเกินไปจริง ๆ ต่อให้ลดลงมาแล้ว 50% ก็ยังทำให้สโมสรมีค่าเหนื่อยของนักเตะรวมคิดเป็น 110% ของรายรับทั้งหมด และบาร์เซโลน่าต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายลงอย่างน้อยอีก 200 ล้านยูโรในปีนี้ ถึงจะได้รับอนุญาตจาก ลา ลีกา ให้ต่อสัญญากับ เมสซี่ ได้ 

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องใหญ่จากชายที่ชื่อว่า เจาเม่ โยปิส ที่เป็นอาจารย์ในคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย บาร์เซโลน่า และเคยทำงานเป็นนักวางกลยุทธ์ในองค์กรให้กับทีมบาร์เซโลน่า ที่ขอลาออกจากตำแหน่งทันทีเมื่อรู้ข่าวว่าเมสซี่จะไม่ต่อสัญญา ก็ออกมาแฉในแนว ๆ ที่ว่า ไม่ต้องโทษใครเลย โจน ลาปอร์ต้า คือคนที่อยู่เบื้องหลังการผลักเมสซี่ออกจากทีม ทั้ง ๆ ที่เขานี่แหละที่เป็นคนใช้นโยบาย “รั้งเมสซี่” ให้ตัวเองเอาชนะการเลือกตั้งประธานสโมสรเมื่อปลายปี 2020 ดังนั้นเขาจึงไม่สามารถร่วมงานกับสโมสรได้อีกต่อไป 

และหลังจากโดนถามว่า ลาปอร์ต้าทำยังไงเพื่อล้มดีลนี้ คำตอบของโยปิสคือ ลาปอร์ต้ายกเลิกข้อเสนอจาก ลา ลีกา ในการสนับสนุนให้ ลา ลีกา ขายหุ้นให้กับ CVC ตามที่เคยตกลงกันไว้ … เมื่อไม่ตกลงก็หมายความว่า บาร์เซโลน่าจะไม่สามารถเพิ่มเพดานค่าเหนื่อยได้ และไม่สามารถต่อสัญญาเมสซี่ได้

 

คำกล่าวทั้งหมดนี้อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เพราะมันมาจากคน ๆ เดียวที่เคยทำงานให้กับองค์กร แต่ถ้าเมื่อลองลากเส้นความเกี่ยวพันของส่วนต่าง ๆ ทั้งหมด ทำให้สื่อเจ้าดังหลายเจ้าวิเคราะห์ว่า การล้มดีลของ CVC เกิดขึ้นจริง และลาปอร์ต้าก็เลือกทำในสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อสโมสร

ขณะที่หลายคนถามว่า ทำไมเมสซี่จึงไม่สามารถ “เล่นฟรี” แบบไม่รับค่าเหนื่อยล่ะ ? ปัญหาทุกอย่างจะได้จบ … คำตอบคือ นั่นเป็นแนวคิดอุดมคติที่เป็นไปไม่ได้ เมสซี่คือนักเตะที่ดีที่สุดในโลก และการเล่นฟรีจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย นี่คือโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้นเมสซี่จึงต้องออกจากทีมโดยที่เขานั้นแทบไม่ทันตั้งตัว

ผิดกันหมดจึงต้องล้มกระดาน 

จะโทษลาปอร์ต้าคนเดียวก็ไม่ได้ เขาทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว ในช่วงที่ได้รับตำแหน่ง เขาบอกเองว่า “สโมสรนี้เละเทะกว่าที่ผมเข้าใจเยอะเลย” และสิ่งที่แสดงให้เราเห็นก็พอจะสะท้อนได้ชัดว่า ลาปอร์ต้าพูดจริง 


การไม่ต่อสัญญาเมสซี่ อาจจะเป็นความผิดร้ายแรงของเขา ที่สัญญากับแฟน ๆ ไว้แต่ทำไม่ได้ ทว่าเรื่องนี้มันซับซ้อนเกินกว่าที่ลาปอร์ต้าจะเข้าใจ เขาเคยคิดแค่ว่า สามารถตกลงกับเตบาสได้แล้ว เพดานค่าเหนื่อยก็จะสูงขึ้น แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น 

เนื้อหาสัญญาของการขายหุ้น ลา ลีกา ให้กับ CVC คือ สโมสรใหญ่อย่าง บาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริด จะต้องได้ส่วนแบ่งด้านการตลาดและการถ่ายทอดสดน้อยลงกว่าที่เคย เพราะทาง ลา ลีกา จะเอาส่วนต่างนี้ไปเฉลี่ยให้กับทีมอื่น ๆ ให้ได้ใกล้เคียงกับสองทีมนี้มากขึ้น เหมือนกับที่ พรีเมียร์ลีก ทำกับทุกสโมสรในลีกสูงสุดของอังกฤษ โดยทาง ลา ลีกา ได้ตั้งคณะกรรมการตัดสินใจเรื่องนี้จาก 12 สโมสรในลีก (นอกจาก บาร์ซ่า และ มาดริด) 

สรุปชัด ๆ ง่าย ๆ คือ ภายใต้ความดีใจระยะสั้นที่บาร์เซโลน่าจะมีเมสซี่ในทีมต่อไป พวกเขาจะได้ส่วนแบ่งต่อปีลดลงจากเดิม 10% ในระยะเวลาสัญญาที่ ลา ลีกา ตกลงกับ CVC คือ 50 ปี ซึ่งหากเอาส่วนแบ่ง 10% ไปคูณ 50 (ระยะสัญญา 50 ปี) แม้จะไม่มีตัวเลขชัด ๆ เพราะมันเป็นเรื่องของอนาคต แต่ก็สามารถเข้าใจได้ว่า แม้จะได้เมสซี่อยู่กับทีมต่อไปอีก 2-5 ปีเป็นอย่างน้อย แต่บาร์เซโลน่าจะมีรายได้ลดลงไปนานถึง 50 ปี 

นี่เป็นเหมือนการเอาขนมหวานมาหลอกเด็กชัด ๆ ลาปอร์ต้าเกือบจะคว้าลูกวาดนั้นเข้าปากแล้ว ตามนโยบายที่เขาหาเสียงไว้ แต่สุดท้ายเขาก็พบว่าทีมจะเสียเปรียบมาก และมีผลลบมากกว่าบวกหากยอมรับสัญญารับเงินสนุนจาก ลา ลีกา และ CVC ครั้งนี้ ดังนั้น การตัดเมสซี่ออก ถือเป็นการเจ็บสั้นแต่ดีกว่าปวดนาน … ไม่อยากทำก็ต้องทำ แต่ใครกันล่ะที่นำเสนอความจริงข้อนี้กับลาปอร์ต้า ให้ต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ทำในสิ่งที่ผู้นำส่วนใหญ่ไม่ทำกัน นั่นคือการ “คืนคำพูด” 

ชื่อของชายอีกคนโผล่เข้ามาในละครเรื่องนี้ … ฟลอเรนติโน่ เปเรซ ประธานสโมสร เรอัล มาดริด ทีมคู่รักคู่แค้นของ บาร์เซโลน่า คือคนที่สื่อ “อ้างว่า” เป็นคนขอให้ลาปอร์ต้าทบทวนข้อเสนอที่จะทำให้สโมสรมีรายได้ลดลงนาน 50 ปี 

เปเรซ คือชายคนเดียวที่เข้ามาคุยกับลาปอร์ต้า เพื่อโน้มน้าวให้เขาไม่ยอมรับข้อตกลงของ ลา ลีกา และ CVC ใจความของเปเรซคือ นี่เป็นสัญญาขูดเลือดทีมใหญ่อย่าง มาดริด และ บาร์ซ่า เพื่อเอาไปแจกจ่ายให้กับทีมเล็ก ๆ ในลีก ซึ่งเป็นสิ่งที่สองทีมนี้พยายามไม่ให้เกิดขึ้นมาตลอด ชัดเจนที่สุดคือการร่วมกันก่อตั้ง ซูเปอร์ลีกลีก ที่รวมเฉพาะทีมชั้นนำทั่วยุโรปมาแข่งขันกัน เพื่อสร้างมูลค่าและทำเงินได้มากกว่าที่โลกฟุตบอลเคยมี 

แม้ไอเดีย ซูเปอร์ลีก จะล่มปากอ่าว (ถึง มาดริด, บาร์ซ่า และ ยูเวนตุส 3 ทีมที่ร่วมก่อการจะยังไม่ล้มเลิกก็ตาม) แต่การพยายามลดช่องว่างระหว่างทีมใหญ่ของ บาร์เซโลน่า กับ เรอัล มาดริด และทีมอื่น ๆ ในลีกที่มีรายได้ต่างกันสุดขั้ว ที่ ลา ลีกา ต้องการมาโดยตลอด ยังคงดำเนินต่อไป เรียกง่าย ๆ ศึกระหว่าง มาดริด, บาร์ซ่า vs ลา ลีกา ยังไม่จบ และเปเรซก็พยายามเตือนให้ลาปอร์ต้ารู้ว่า ศัตรูกำลังจะ “ตีป้อมแตก” หากลาปอร์ต้าและบาร์ซ่า รับข้อเสนอ พวกเขาจะต้องเสียใจในระยะยาวแน่นอน 

ย้ำอีกครั้งว่าเรื่อง เปเรซ, บาร์ซ่า และ ลา ลีกา ยังคงต้องหาความจริงกันต่อไป ตอนนี้ยังเป็นการลือกันเท่านั้น ทว่าหลายสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ก็พอจะบอกได้ว่า เปเรซ น่าจะเกี่ยวจริง ๆ เพราะเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2021 เรอัล มาดริด เพิ่งยื่นฟ้อง ฆาเวียร์ เตบาส จากการขายหุ้น ลา ลีกา ให้กับ CVC เนื่องจากมองว่าการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ไม่เป็นธรรมกับพวกเขา เพราะจะทำให้ต้องสูญเสียรายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดจำนวน 10.95% ไปตลอดระยะเวลา 50 ปี 

การฟ้องครั้งนี้ตรงกับข้อมูลที่เป็นเหตุผลให้ลาปอร์ต้ายอมทิ้งเมสซี่ และ CVC เพื่อรักษาผลประโยชน์ระยะยาวของสโมสรเป๊ะ … แบบนี้เขาเรียกว่ามีเค้า แม้จะเป็นศัตรูกัน แต่เป้าหมายของทั้งสองสโมสรนั้นเหมือนกัน นั่นคือทั้งคู่ต้องการอยู่บนจุดสูงสุดเสมอ และเชื่อว่าพวกเขาคือสโมสรที่มีพาวเวอร์ ที่สมควรจะได้รับส่วนแบ่งมากกว่าทีมอื่น ๆ ในลีก 

หลังจากที่ มาดริด สั่งฟ้อง เตบาส ได้ไม่กี่ชั่วโมง จากที่เคยลือกันว่า เปเรซคือคนโน้มน้าวให้ลาปอร์ต้าล้มดีลกับ ลา ลีกา ก็ดูจะเป็นความจริงขึ้นมาอีก เพราะ ฆาเวียร์ เตบาส ก็ได้โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ โดยมีการแชร์คลิปวีดีโอการเข้าเจรจากันของ ฟลอเรนติโน่ เปเรซ กับ โจน ลาปอร์ต้า 2 หัวเรือใหญ่จาก มาดริด และ บาร์ซ่า พร้อมด้วยแคปชันว่า

“รู้หรือยังใครอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ไม่มีเมสซี่ ไม่มีเงินอีก 270 ล้าน ไม่มีเพดานค่าเหนื่อย ทายซิ สโมสรไหนจะได้ประโยชน์โดยสมบูรณ์แบบ ?” 

ไม่ว่าใครจะทำอะไร ต่อจากนี้ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว ตอนนี้เมสซี่กลายเป็นนักเตะใหม่ของ ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ไปเรียบร้อย ทุกอย่างต้องดำเนินต่อไป บาร์ซ่า ต้องเริ่มชีวิตใหม่ที่ไร้เมสซี่ ไปพร้อม ๆ กับการจับมือกับ มาดริด เพื่อต้านนโยบายของ ลา ลีกา กันต่อไป 

หากจะบอกว่าใครสักคนผิดในเรื่องนี้ คงต้องบอกว่าผิดกันทั้งหมด ลา ลีกา ผิดที่ไม่บริหารให้ดีตั้งแต่แรกในเรื่องส่วนแบ่งการตลาด พวกเขาปล่อยให้ มาดริด และ บาร์เซโลน่า ได้ส่วนแบ่งจากการถ่ายทอดสดมากกว่าทีมอื่น ๆ ในลีกมานานมาก จนทั้งสองทีมไม่อยากจะลดส่วนที่ตัวเองเคยได้ลง 

ขณะที่ บาร์เซโลน่า ก็เสียเวลาไปมากกับการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ เต็มไปด้วยความฉ้อโกง การซื้อนักเตะที่ไม่สามารถใช้งานได้ และการจ่ายค่าเหนื่อที่แตะเพดานมาโดยตลอด จนกระทั่งทุกอย่างพังลงจากการทุบด้วยค้อนปอนด์ยักษ์ที่ไม่ว่าใครก็ไม่สามารถต้านทานได้อย่าง “โควิด -19” 

ประสบการณ์ครั้งนี้จะสอนให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ … สำหรับแฟนบอลก็เช่นกัน แม้จะไม่ได้เล่นเกมตัวเลขร่วมกับ 2 สโมสรและ ลา ลีกา แต่เราก็ได้รู้ว่า การใช้จ่ายของสโมสรไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเหมือนกับในเกม Football Manager และเหนือสิ่งอื่นใด มันเป็นการยืนยันว่า “ในโลกฟุตบอล อะไรก็เกิดขึ้นได้” 

เพราะแม้แต่ ลิโอเนล เมสซี่ ก็ยังโดน บาร์เซโลน่า ปฏิเสธได้เลย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ