กรมอุทยานฯ ห่วงวิกฤตวัวแดง เร่งวางแผนอนุรักษ์ ม.เกษตรฯ ชี้อยู่สภาพใกล้สูญพันธุ์ แนะรวบรวมข้อมูลวัวแดงให้เป็นปัจจุบัน ด้าน ม.มหิดล ห่วงวัวแดงเสี่ยงโรคติดต่อจากปศุสัตว์
16 พ.ค. 66 – ที่ตึกวนศาสตร์ 60 ปี คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นางรุ่งนภา พัฒนวิบูลย์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การประเมินสถานภาพประชากร และการกระจายของวัวแดงในประเทศไทย”
โดยมี ผศ. ดร.กอบศักดิ์ วันธงไชย คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวต้อนรับ
โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 70 คน จาก 12 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอุทยานฯ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยฯ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร สมาคมอุทยานแห่งชาติ Panthera องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย
นางรุ่งนภา กล่าวว่า กรมอุทยานฯ มีการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์และแผนดำเนินการและมีตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐาน โดยเน้นการประสานงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ในการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเพื่อประเมินสถานภาพและแนวทางการอนุรักษ์วัวแดง เพื่อประเมินจำนวนประชากรการกระจายพันธุ์ ภัยคุกคาม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากหน่วยงานต่างๆ
เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการอนุรักษ์และฟื้นฟูวัวแดงในประเทศไทยทั้งในรูปแบบการอนุรักษ์ในถิ่นกำเนิดและนอกถิ่นกำเนิด นำไปสู่ในการนำข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในการกำหนดแนวทาง และทิศทางในการฟื้นฟู การดูแลจัดการประชากรวัวแดงอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้วัวแดงคงอยู่เป็นสมบัติของประเทศไทยและของโลกต่อไป
อีกทั้งรูปแบบหรือทิศทางในการอนุรักษ์วัวแดงนี้ยังสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อนำไปปรับใช้ในการอนุรักษ์สัตว์ป่าชนิดอื่นการประชุมในครั้งนี้จึงนับว่าเป็นอีกก้าวย่างหนึ่งที่สำคัญ
รศ. ดร.นริศ ภูมิภาคพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า วัวแดง (Banteng; Bos javanicus) ถูกจัดอยู่ในสถานภาพสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ โดยพบว่าวัวแดงที่กระจายอยู่ในพื้นที่คุ้มครองของประเทศไทยหลายแห่งอยู่ในสภาพวิกฤตและประชากรมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลประชากร การกระจายพันธุ์ และภัยคุกคามของวัวแดงในพื้นที่อนุรักษ์ ในภาพรวมของประเทศไทยยังไม่ได้ถูกรวบรวมให้มีความทันสมัยและให้เป็นปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลในระดับพื้นที่อนุรักษ์และข้อมูลอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวข้างต้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการวางแผนอนุรักษ์วัวแดงในอนาคต
ด้านดร.บริพัตร ศิริอรุญรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการสุขภาพสัตว์ป่า มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านโรคติดต่อระหว่างสัตว์ป่ากับปศุสัตว์ มีความสำคัญมากต่อการอนุรักษ์ประชากรวัวป่า ทั้งในธรรมชาติและในสถานที่เพาะเลี้ยง ซึ่งยังมีองค์ความรู้ด้านนิเวศวิทยาและระบาดวิทยาน้อยมาก ทั้งเชื้อโรคเก่า เช่น ไวรัสปากเท้าเปื่อย และเชื้ออุบัติใหม่ เช่น ไวรัสลัมปีสกิน
จึงยากต่อการป้องกันและควบคุมโรคที่คุกคามวัวป่า ในระยะยาวการศึกษาด้านพันธุศาสตร์ประชากรและพันธุศาสตร์โมเลกุลรวมถึงเทคโนโยลีโอมิคส์ จะมาช่วยสร้างความเข้าใจแบบองค์รวมมากขึ้นและสามารถนำมาสร้างมาตรการและนโยบายการจัดการประชากรและความเสี่ยงด้านสุขภาพได้ดีขึ้น