สิทธิขั้นพื้นฐาน บางอย่างเช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ไม่มีอาณาเขตดินแดนมาเกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เด็กได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
แต่ล่าสุดมีการโพสต์ถึงเหตุการณ์ที่ จ.ตาก ซึ่งพบว่า เด็กจำนวน 23 คน ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียนโดยอ้างว่าเป็นเพราะไม่มีสัญชาติ และระบุว่า เป็นภาระครู
โดยเพจ คลินิกกฎหมายอุ้มผาง โครงการสี่หมอชายแดนจ.ตาก ได้ระบุวา “ชะตากรรมเด็กน้อย ๒๓ คน โรงเรียนปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียน อ้างว่าหากรับเด็กไม่มีสัญชาติไทยอาจเป็นการทำผิดกฎหมาย แถมเป็นภาระครู! เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๖ คลินิกกฎหมายอุ้มผาง โรงพยาบาลอุ้มผาง ได้รับการร้องทุกข์จากครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนุโพ ว่ามีนักเรียนจำนวน ๒๓ ราย ซึ่งเป็นเด็กที่เกิดในประเทศไทยจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ ถูกปฏิเสธไม่รับเข้าเรียนต่อชั้นอนุบาล ๑-๒ ที่ โรงเรียนบ้านนุโพ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
เมื่อคลินิกกฎหมาย ฯ ได้ตรวจสอบ พบว่ามีการออก “ประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต ๒ เรื่อง มาตรการเกี่ยวกับการรับนักเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต ๒” ซึ่งสั่งห้ามมิให้โรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต ๒ รับบุคคลดังต่อไปนี้เข้าเป็นนักเรียน กล่าวคือ (๑) ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่พักอาศัยและมีชื่ออยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว หรือศูนย์อพยพ (๒) คนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย (๓) บุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศเดินทางไปกลับบริเวณชายแดน
แน่นอนที่สุด การปฏิเสธไม่รับเด็กเข้าเรียนของโรงเรียนซึ่งอ้างตามประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต ๒ นั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องอย่างชัดแจ้ง การกระทำดังกล่าวยังขัดต่อเจตนารมณ์ของประเทศไทยที่ประสงค์เปิดโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ
หลักฐานทางทะเบียน และสถานะทางกฎหมาย มาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕ อีกทั้งยังจะเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี อาทิ ปฏิญญาโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน พ.ศ.๒๕๓๓ อนุสัญญาสิทธิเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ
จากเด็ก ๒๓ คนในวันนี้ จะเพิ่มเป็นเด็กในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต ๒ ทั้ง ๕ อำเภอชายแดนจังหวัดตาก เด็กในอำเภอแม่สอด ซึ่งในสถานศึกษาบางแห่ง มีเด็กต่างชาติศึกษาอยู่มากกว่าร้อยละ ๕๐ รวมถึงเด็กในพื้นที่อำเภอพบพระ แม่ระมาด และท่าสองยางซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ชายแดนไทยเมียนมาด้วยเช่นกัน
เราทราบกันดีว่าจังหวัดตากเป็นพื้นที่ชายแดนที่มีความละเอียดอ่อนและมีความสำคัญมากในหลายมิติ แต่กลายเป็นว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่คุ้มครองสิทธิทางการศึกษาของประชาชนเช่นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาฯ กลับมีมุมมองความมั่นคงแบบเก่า ยิ่งกว่าหน่วยความมั่นคงของไทย ซึ่งเข้าใจมานานแล้วว่าชาตินิยมหรือสัญชาตินิยมไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ชายแดนและพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ได้
ประเทศไทยได้รับการชื่นชมในทางระหว่างประเทศในเรื่องการให้การศึกษาแก่ทุกคนอย่างไม่เลือกปฏิบัติเสมอมา ประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต ๒ ฉบับนี้ แสดงถึงความถดถอยในการดำเนินนโยบายเรื่องการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ อันส่งผลเป็นการทำลายภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย ซึ่งบุคลากรทางการศึกษาของไทยสร้างสมมานานหลายสิบปี จึงขอเรียนถามท่านผู้บริหาร ว่าท่านเห็นด้วยกับการออกประกาศที่มีเนื้อหาเป็นการเลือกปฏิบัติเช่นนี้หรือไม่?