ย้อนไปเมื่อเดือน ก.พ. บีบีซีไทย เสนอข่าวที่ชาวดัตช์พากันออกไปเล่นสเก็ตน้ำแข็งกันอย่างสนุกสนานหลังจากอากาศที่เย็นทะลุจุดเยือกแข็งนานต่อเนื่องหลายวัน ทำให้แม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ และแหล่งน้ำหลายแห่งทั่วประเทศกลายเป็นน้ำแข็ง
ภาพคู่หนุ่มสาวจูงมือกันหรือเด็ก ๆ ที่เล่นฮอกกี้ และการนั่งเลื่อนน้ำแข็ง อาจทำให้หลายคนลืมตั้งคำถามว่าเหตุใดปีนี้ถึงเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่แหล่งน้ำต่าง ๆ ในเนเธอร์แลนด์มีอุณหภูมิเย็นจัดและจับตัวเป็นน้ำแข็งที่หนาพอจะลงไปเล่นสเก็ตได้
ภาพเหตุการณ์เลวร้ายในเวลาต่อมาในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกถึงได้ทำให้คนเริ่มตั้งคำถามถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับสภาพอากาศสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วมใหญ่ คลื่นความร้อน หรือไฟป่า
ย้อนไปเมื่อปลายเดือน ต.ค. องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organisation) ออกมาระบุว่า ตอนนี้เหตุสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วหรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “extreme weather events” ได้กลายเป็น “นิวนอร์มอล” หรือ “เรื่องปกติใหม่” ไปแล้ว
รายงานสถานะของสภาพภูมิอากาศ (The State of Global Climate 2021 report) ในปี 2021 ได้เน้นย้ำให้เห็นว่าโลกกำลัง “เปลี่ยนแปลงต่อหน้าต่อตาเรา”
อุณหภูมิเฉลี่ยระหว่างปี 2002-2021 กำลังจะเพิ่มเกิน 1 องศาเซลเซียสครั้งแรกเมื่อเทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม รายงานฉบับดังกล่าวยังบอกอีกว่า ระดับน้ำทะเลโลกก็สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในปี 2021 ด้วย
ขณะเรากำลังจะเข้าสู่ช่วงท้ายปีเตรียมต้อนรับปีใหม่ บีบีซีไทยชวนย้อนมองเหตุสภาพอากาศรุนแรงสุดขั้วในปีนี้ที่เป็นอุทาหรณ์ว่าโลกจะต้องเผชิญอะไรต่อไปหากไม่สามารถควบคุมระดับอุณหภูมิไว้ได้
คลื่นความร้อน
ศาสตราจารย์เพตเตอรี ทาลัส จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก บอกว่า มีหลักฐานมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์มีส่วนทำให้เกิดขึ้น โดยยกตัวอย่างปรากฏการณ์คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นในแคนาดาและบางรัฐที่อยู่ติดกันของสหรัฐอเมริกา
แต่ก่อนที่สหรัฐฯ ที่จะเจอกับคลื่นความร้อน ย้อนไปเดือน ก.พ. รัฐเท็กซัสต้องเผชิญกับอากาศหนาวเหน็บที่สุดในรอบกว่า 30 ปีจนประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องประกาศภาวะภัยพิบัติร้ายแรง สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของสหรัฐฯ ระบุว่า สภาพอากาศหนาวเย็นผิดปกติในรัฐเท็กซัส ซึ่งมีภูมิประเทศบางส่วนเป็นทะเลทราย และมักเผชิญกับคลื่นความร้อนนั้น เป็นผลมาจากมวลอากาศหนาวจากขั้วโลก (Arctic outbreak) ซึ่งมักเกิดขึ้นบริเวณเหนือพรมแดนแคนาดา-สหรัฐฯ ได้ทะลักเข้าสู่สหรัฐฯ แล้วหอบเอาพายุหิมะเข้าถล่มพื้นที่รัฐเท็กซัสซึ่งอยู่ทางภาคใต้ทั้งหมด 254 เขตเป็นครั้งแรก
นสพ.นิวยอร์กไทมส์ รายงานเมื่อเดือน ก.ค. ว่าพายุฤดูหนาวในรัฐเท็กซัสทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 210 คน
ต่อมาในช่วงปลายเดือน มิ.ย. ภูมิภาคอเมริกาเหนือเริ่มเผชิญกับคลื่นความร้อนระลอกแรก ไม่ว่าจะเป็นที่รัฐโอเรกอน หรือรัฐบริติชโคลัมเบียของแคนาดา
หมู่บ้านลิตตันในรัฐบริติชโคลัมเบียเคยมีอุณหภูมิสูงสุด 44.4 องศาเซลเซียส แต่มาในปีนี้อาการร้อนขึ้นเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิสูงขึ้นเป็น 49.6 องศาเซลเซียส ขณะที่รัฐซีแอตเทิลของสหรัฐฯ ที่อยู่ใกล้เคียงกันอากาศร้อนถึง 42.2 องศาเซลเซียสจากที่เคยสูงสุดแค่ 39.4 องศาเซลเซียส ส่วนที่เมืองพอร์ตแลนด์ในรัฐโอเรกอน อุณหภูมิสูงถึง 46.7 องศาเซลเซียส
Click here to see the BBC interactive
ต่อมาในเดือน ส.ค. อุณหภูมิที่อุทยานแห่งชาติหุบเขามรณะ (Death Valley National Park) ในสหรัฐฯ พุ่งสูงแตะ 54.4 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจเป็นอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดในโลกที่เคยมีการวัดที่เชื่อถือได้ สถิติดังกล่าว ซึ่งได้รับการยืนยันจากหน่วยงานสภาพอากาศแห่งชาติสหรัฐฯ เกิดขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญคลื่นความร้อนทางชายฝั่งตะวันตกของประเทศ
ทีมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จากนานาชาติตีพิมพ์เผยแพร่ผลวิจัยข้างต้นในวารสาร The Lancet Planetary Health ฉบับเดือน ก.ค. ซึ่งเผยว่า จากการเก็บข้อมูลอัตราการเสียชีวิตของผู้คนในขณะที่อากาศมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำเกินขอบเขตที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตหรืออุณหภูมิห้องจากสถานที่ทั้งหมด 750 แห่งทั่วโลก พบว่าอุณหภูมิทั้งร้อนจัดและหนาวจัดแบบสุดขั้วได้ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องล้มตายไปถึงปีละ 5 ล้านคน
ด้านทีมนักวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ 27 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ หรือ World Weather Attribution บอกว่า หากมนุษย์ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศอย่างที่ทำมา สิ่งที่เกิดขึ้นจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงถึง 150 เท่า
หากอยากจะเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยอุณหภูมิเพียงเล็กน้อยสามารถส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ได้อย่างไร ให้ลองนึกถึงกราฟเส้นโค้งที่มีสภาวะร้อนและเย็นสุดขั้วอยู่ 2 ฝั่ง ส่วนตรงกลางเป็นระดับอุณหภูมิโดยเฉลี่ย การเปลี่ยนแปลงของส่วนกึ่งกลางเพียงเล็กน้อยทำให้เส้นโค้งนั้นไปแตะบริเวณที่เป็นสุดขั้วมากขึ้น ดังนั้น คลื่นความร้อนที่บางประเทศเจอจึงได้เกิดขึ้นบ่อยและนานขึ้น
ไฟป่ารุนแรง
ผลกระทบร้ายแรงที่ตามมาจากคลื่นความร้อนก็คือไฟป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดความร้อนอย่างยาวนานและเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นวงจร เป็นผลให้พื้นดินและต้นไม้ไร้ความชุ่มชื้น ความแห้งแล้งนี้เองเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดไฟป่าซึ่งลุกลามไปอย่างรวดเร็ว
หลังจากหมู่บ้านลิตตันของแคนาดาเผชิญอุณหภูมิสูงสุดเป็นกระวัติการณ์ไม่นานก็เกิดเหตุไฟป่าลุกลามทำลายพื้นที่จำนวนมาก ลองอ่านคำบอกเล่าของเหยื่อไฟป่าในครั้งนั้นจากบทความนี้ว่า คลื่นความร้อนทำลายหมู่บ้านในแคนาดาภายในวันเดียวได้อย่างไร
แต่ขณะที่หลายคนอาจเคยได้ยินข่าวไฟป่าทำลายหมู่บ้านในแคนาดาแล้ว เหตุที่ร้ายแรงที่สุด ไม่ใช่แค่ในปีนี้แต่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของรัสเซียคือเหตุไฟป่าที่เขตไซบีเรีย สร้างความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมโลกอย่างมหาศาล โดยเหตุเพลิงไหม้ป่าสนหิมะได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากเป็นสองเท่าของสถิติเมื่อปีที่แล้ว และผลักให้อัตราการปล่อยคาร์บอนจากไฟป่าทั่วโลกในปีนี้ พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ทศวรรษ
สำนักงานควบคุมดาวเทียมคอเปอร์นิคัสเพื่อการติดตามสภาพบรรยากาศโลกแห่งยุโรป (CAMS) เผยว่าไฟป่าในไซบีเรียซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ ตั้งแต่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัสเซียไปจนถึงภูมิภาคอเมริกาเหนือ ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกแล้วกว่า 800 ล้านตัน นับแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา สูงกว่าอัตราการปล่อยคาร์บอนทั้งปีของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูงสุดของยุโรปและอยู่ในอันดับ 6 ของโลก
นสพ.เดอะการ์เดียน รายงานเมื่อเดือน ก.ย. ว่าเหตุดังกล่าวทำลายป่ารัสเซียไปกว่า 113 ล้านไร่ ทำลายสถิติเมื่อปี 2012
การเกิดไฟป่ารุนแรงในเขตอากาศหนาวจัดเช่นนี้ สะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันของภาวะโลกร้อนที่ยิ่งเลวร้ายลงทุกที โดยสำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของกลุ่มกรีนพีซประจำรัสเซียได้ชี้ถึงสาเหตุของไฟป่าขนาดใหญ่ ว่าเกิดจากความละเลยไม่ใส่ใจของภาครัฐ ทั้งยังมีกฎหมายห้ามไม่ให้จัดการดับไฟ หากหน่วยปฏิบัติการผจญเพลิงต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงเกินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง หรือในกรณีที่ไฟป่าไม่ได้ไหม้ลามถึงเขตที่อยู่อาศัย
น้ำท่วม
ปีเตอร์ เกลค ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจากสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ บอกว่า เมื่อมีพื้นที่ที่แห้งแล้งมากขึ้นอย่างในไซบีเรียหรือภาคตะวันตกของสหรัฐฯ ฝนก็ไปตกที่อื่นแทน ในพื้นที่ที่เล็กกว่า เกิดเป็นน้ำท่วมที่รุนแรงกว่า อย่างที่จีน เยอรมนี เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ที่เกิดน้ำท่วมเป็นประวัติการณ์
150 kids and teachers of a kindergarten in Zhengzhou rescued pic.twitter.com/lKDxvvtmrI
— CGTN (@CGTNOfficial) July 21, 2021
หลายคนน่าจะจำได้ดีถึงเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เป็นผลจากฝนที่ตกหนักเป็นประวัติการณ์ในภาคกลางของจีนเมื่อช่วงเดือน ก.ค. ซึ่งมีกว่า 12 เมืองในมณฑลเหอหนานที่ได้รับผลกระทบ
ถึงเดือน ส.ค. บีบีซีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 302 คน มีคนราวสูญหายราว 50 คน โดยรวมมีคนที่ได้รับผลกระทบเกือบ 13 ล้านคน และครัวเรือนเกือบ 9 พันหลังได้รับความเสียหาย
- น้ำท่วม : ชายผู้ออกแบบเมืองในจีนให้เป็น “ฟองน้ำยักษ์” รับมือน้ำท่วม
- จีนน้ำท่วมใหญ่ ระดับน้ำแตะพระบาทพระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาองค์ใหญ่ที่สุดในโลกครั้งแรกนับแต่ปี 1949
สตีเฟน แมคโดเนล ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำประเทศจีน บอกว่า นักวิทยาศาสตร์หลายคนเคยเตือนว่าการสร้างเขื่อนมากมายยิ่งทำให้ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมยิ่งรุนแรงเข้าไปใหญ่ มีการไปตัดเส้นทางแม่น้ำและทะเลสาบที่เคยเชื่อมโยงกัน ทำให้ไม่สามารถระบายออกไปยังพื้นที่ราบน้ำท่วมถึงซึ่งเคยดูดซับน้ำฝนที่ตกในช่วงฤดูร้อนของทุกปี
ข้ามมาที่ฝั่งยุโรปในช่วงเดือน ก.ค. เหมือนกัน เกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเบลเยียม และอีกหลายพื้นที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 220 คน โดยคาดว่าน่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
คณะนักวิจัยพบว่า ในภูมิภาคใหญ่นี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากจากมนุษย์ ทำให้ปริมาณฝนตกในหนึ่งวันเพิ่มสูงขึ้น 3-19% ในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ยังมีโอกาสทำให้เกิดฝนตกที่คล้ายกันกับฝนที่ทำให้เกิดน้ำท่วมมากขึ้น 1.2-9 เท่า
การที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่องและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ฝนตกหนักที่ทำให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อหลายพื้นที่ในยุโรป จะกลายเป็นเรื่องปกติมากขึ้น
ศาสตราจารย์เฮย์ลีย์ ฟาวเลอร์ จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล กล่าวว่า แบบจำลองสภาพภูมิอากาศที่ทันสมัย บ่งชี้ถึงการเพิ่มขึ้นของเหตุฝนตกหนักรุนแรงในโลกที่ร้อนขึ้นในอนาคต
“เหตุการณ์นี้เผยให้เห็นว่า หลายพื้นที่ไม่สามารถทนทานต่อความรุนแรงของสภาพอากาศในปัจจุบันได้ เราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมถึงการพัฒนาการเตือนภัยฉุกเฉินและระบบการจัดการ และทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเรา ‘ทนทานต่อสภาพอากาศ’ เพื่อลดการบาดเจ็บล้มตาย และความเสียหาย ทำให้พวกมันทนทานต่อเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงให้ได้”
การศึกษานี้ ซึ่งใช้วิธีการตรวจทานผลงานที่ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่ง ได้รับการจัดทำขึ้นจากนักวิจัย 39 คน
หลังจากเจอกับความหนาวเหน็บ คลื่นความร้อน สหรัฐฯ ก็ต้องเจอกับน้ำเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพายุโซนร้อนเอลซา (Elsa) ในเดือน ก.ค. ที่เข้าซัดที่รัฐฟลอริดาทางฝั่งตะวันตกของประเทศจนทำให้ผู้คนกว่า 20,000 คน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไปจนถึงเฮอร์ริเคนไอดาในช่วงปลายเดือน ส.ค. ซึ่งเคลื่อนขึ้นฝั่งตอนใต้ของสหรัฐฯ ที่รัฐลุยเซียนา โดยตรงกับวาระครบรอบ 16 ปี เหตุภัยพิบัติครั้งรุนแรงจากเฮอร์ริเคนแคทรีนา
นสพ.เดอะการ์เดียนรายงานเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ว่าเฮอร์ริเคนไอดาทำให้มีผู้เสียชีวิตในรัฐลุยเซียนา 26 ราย นอกจากรัฐลุยเซียน ครัวเรือนอีกหลายแสนครัวเรือนในรัฐนิวยอร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย และรัฐมิสซิสซิปปี ไม่มีไฟฟ้าใช้
ที่นครนิวยอร์ก น้ำท่วมฉับพลันทำให้ระบบรถไฟใต้ดินเกือบทั้งหมดต้องหยุดชะงัก มีคนอย่างน้อย 14 รายเสียชีวิต โดย 11 คนในจำนวนนี้จมน้ำขณะติดอยู่ในที่พักชั้นใต้ดิน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ระบุก่อนเดินทางไปลุยเซียนาว่า “นี่เป็นเรื่องของความเป็นความตาย และเราทุกคนต้องเผชิญกับมันด้วยกัน นี่เป็นความท้าทายที่ใหญ่หลวงที่สุดในยุคนี้แต่ผมก็มั่นใจว่าเราจะจัดการได้”
ผู้นำสหรัฐฯ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุของน้ำท่วมในครั้งนี้ และบอกว่าต้องมี “การลงทุนครั้งประวัติศาสตร์” เพื่อจัดการกับวิกฤตดังกล่าว
เมื่อพูดถึงปัญหาน้ำท่วม ปัจจัยที่น่ากังวลอีกอย่างคือระดับน้ำทะเลโลกที่สูงมากขึ้น
จากรายงานขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นปีละ 2.1 มิลลิเมตรระหว่างปี 1993 ถึง 2002 แต่จากปี 2013 ถึง 2021 ระดับน้ำเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเป็น 4.4 มิลลิเมตร โดยส่วนใหญ่เป็นผลมากจากการละลายของธารน้ำแข็ง
ศาสตราจารย์โจนาธาน บอมเบอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ธรณีวิทยาน้ำแข็งและธารน้ำแข็งแห่งเมืองบริสตอล บอกว่า ระดับน้ำทะเลในตอนนี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าช่วงเวลาใด ๆ ในช่วง 2 พันปีที่ผ่านมา
“หากเรายังให้ทุกอย่างเดินหน้าไปเช่นนี้ ระดับน้ำทะเลอาจสูงกว่า 2 เมตรภายในปี 2100 ซึ่งจะทำให้คนราว 630 ล้านคนทั่วโลกต้องผลัดถิ่น ไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าผลกระทบของปรากฏการณ์นั้นจะเป็นอย่างไร”
- ฝนตกหนักในยุโรปน่าจะเกิดจากฝีมือมนุษย์
- จากไฟป่าในไซบีเรียสู่น้ำท่วมที่นิวยอร์ก ย้อนดูเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในปีนี้
- หลังปรากฏการณ์ทะเลหนุน ย้อนดูคำเตือน กทม. จมน้ำภายในปี 2030
- โลกเผชิญวันอากาศร้อนทะลุ 50 องศาเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 4 ทศวรรษ
ภัยแล้ง
ย้อนไปเมื่อเดือน มิ.ย. นสพ.เดอะการ์เดียน รายงานว่า สหประชาชาติบอกว่าภัยแล้งเสี่ยงเป็น “โรคระบาดใหญ่โรคถัดไป” หากประเทศต่าง ๆ ไม่รีบดำเนินมาตรการจัดการกับน้ำและผืนดิน
รายงานของสหประชาชาติระบุว่า ในศตวรรษนี้ มีคนอย่างน้อย 1.5 พันล้านคนได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งโดยตรง โดยคิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 1.24 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ศาสตราจารย์เพตเตอรี ทาลัส จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก บอกว่า นี่เป็นปีที่สองติดต่อกันแล้วที่เขตกึ่งร้อนของทวีปอเมริกาใต้ประสบกับภัยแล้ง ส่งผลต่อปริมาณน้ำและการเกษตร การคมนาคม และการผลิตพลังงาน
เมื่อเดือน ส.ค. สถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา รายงานว่า องค์การนอกภาครัฐ 13 แห่ง อาทิ สภาผู้ลี้ภัย และสภาผู้ลี้ภัยเดนมาร์ก บอกว่า คนในซีเรียและอิรักมากกว่า 12 ล้านคนกำลังเผชิญภาวะเข้าไม่ถึงแหล่งน้ำ
รายงานของกลุ่มเอ็นจีโอเหล่านี้ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้น ประมาณน้ำฝนที่น้อยเป็นประวัติการณ์ และภัยแล้ง ทำให้ผู้คนในภูมิภาคนี้ไม่มีน้ำดื่มและน้ำสำหรับทำการเกษตร
พวกเขาบอกอีกว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปยังไปส่งผลกระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าเนื่องจากเขื่อนไม่มีน้ำ ผลที่ตามมาก็คือส่งผลต่อการดำเนินการของระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ อาทิ สถานบริการด้านสาธารณสุข
เมื่อปลายเดือน ก.ย. นสพ.เดอะการ์เดียน รายงานว่า ภัยแล้งที่เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2019 กำลังทำให้ประเทศบราซิล ปารากวัย และอาร์เจนตินา เข้าจุดวิกฤต โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการตัดไม้ทำลายป่าเป็นปัจจัยสำคัญ
แม่น้ำปารานา ซึ่งไหลผ่านบราซิล ปารากวัย และอาร์เจนตินา ลดระดับลงต่ำสุดในรอบ 77 ปี ตั้งแต่ภูมิภาคนี้เผชิญภัยแล้งช่วงปลายปี 2019
วิกฤตนี้ดังกล่าวทำให้อาร์เจนตินาเสี่ยงภาวะขาดแคลนน้ำ ทำให้ราคาพลังงานในบราซิลสูงขึ้น และก็ยิ่งทำให้เกิดไฟป่าลุกลามไปทั่วภูมิภาค
ด้านปารากวัยซึ่งไม่ได้อยู่ติดชายฝั่งทะเลและต้องพึ่งน้ำจากแม่น้ำต่าง ๆ ต้องเผชิญกับวิกฤตสาหัสเป็นพิเศษ
………………..
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว