โลกร้อน : งานวิจัยพบ เฟซบุ๊กไม่จัดการกับข้อมูลที่พยายามปฏิเสธเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Home » โลกร้อน : งานวิจัยพบ เฟซบุ๊กไม่จัดการกับข้อมูลที่พยายามปฏิเสธเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


โลกร้อน : งานวิจัยพบ เฟซบุ๊กไม่จัดการกับข้อมูลที่พยายามปฏิเสธเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

งานวิจัย 2 ชิ้นพบว่า เฟซบุ๊กไม่จัดการระงับเนื้อหาที่พยายามบอกว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องโกหก

ศูนย์ต่อต้านความเกลียดชังดิจิทัล (Center for Countering Digital Hate) และสถาบันเพื่อการหารือเชิงยุทธศาสตร์ (Institute for Strategic Dialogue) บอกว่า เฟซบุ๊กเข้าไปจัดการกับโพสต์ที่พยายามทำให้คนเข้าใจผิดเรื่องโลกร้อนไม่ถึง 10% ของโพสต์ที่มีเนื้อหาแบบนี้ทั้งหมด

ด้านเฟซบุ๊กบอกว่า นี่เป็นแค่สัดส่วนเล็ก ๆ เท่านั้นของข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด

ศูนย์ต่อต้านความเกลียดชังดิจิทัลเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรที่คอยสังเกตการณ์และต่อต้านความเกลียดชังและข้อมูลเท็จบนโลกออนไลน์ นักวิจัยพบว่า จากโพสต์ 7,000 โพสต์ที่บอกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น “เรื่องหลอกลวง” ที่คน “ประสาท” กันไปเอง มีแค่ 8% เท่านั้นที่เฟซบุ๊กเข้าไปกำกับระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ

โลกร้อน : งานวิจัยพบ เฟซบุ๊กไม่จัดการกับข้อมูลที่พยายามปฏิเสธเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Getty Images

ช่วงก่อนหน้านี้ปีนี้ เฟซบุ๊กออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการกับเนื้อหาที่พยายามปฏิเสธวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ

ศูนย์ต่อต้านความเกลียดชังดิจิทัลศึกษาโพสต์จำนวนหนึ่งจากปีที่แล้วซึ่งมีคนไลค์และแชร์รวมราว 7 แสนครั้ง เป็นกรณีตัวอย่าง ทีมนักวิจัยใช้เครื่องมือวิเคราะห์โซเชียลมีเดียที่ชื่อ “Newswhip” ในการค้นหากลุ่มคำต่าง ๆ อาทิ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” “โลกร้อน” “เรื่องหลอกลวง” “ลัทธิ” หรือเรื่องโกหก เป็นต้น

บทความที่มีคนแชร์มาก ๆ พยายามยืนยันข้อมูลผิด ๆ ว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ในจำนวนข้อมูลเหล่านี้ มีถึง 69% ที่เมื่อไล่ย้อนกลับไปแล้วจะเห็นได้ว่ามาจากแหล่งข้อมูลแค่ 10 แห่งเท่านั้น

  • ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์คืออะไร ไทยสัญญาอะไรไว้
  • ประยุทธ์ บอก COP26 “ไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขปัญหา” โลกร้อน
  • สภาพอากาศสุดขั้วเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร
  • ซักเคอร์เบิร์กนำเฟซบุ๊กสกัดข่าวลวงอันตรายเรื่องโควิด-19
graffiti reading our climate is changing

Getty Images

แต่ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมาจากข้อมูลจากมาตรวัดจำนวนมหาศาลที่เก็บรวบรวมจากทั่วโลก นอกจากนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์อิสระอีกหลายทีมก็ได้ข้อสรุปไปในทางเดียวกันว่านี่เป็นเรื่องจริง อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรม

บทความที่พยายามทำให้คนเข้าใจผิดหลายชิ้นพยายามจะบอกว่าต่อไปประชากรในโลกจะถูกสั่ง “ล็อกดาวน์” เพื่อรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ แต่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าไม่น่าเป็นไปได้เพราะการล็อกดาวน์ช่วงโควิดที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีผลดีอะไรมากต่อปัญหาภาวะโลกร้อน

แม้ทีมนักวิจัยจะไม่สามารถบอกได้ว่ามีการเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากแค่ไหนในเฟซบุ๊ก แต่ก็สามารถบอกได้แล้วว่าเฟซบุ๊กแทบไม่ได้เข้าไปลบข้อมูลเหล่านี้ออก หรือไม่ก็เขียนกำกับว่าข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องเท็จ

กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศ Stop Funding Heat ซึ่งทำงานร่วมกับสถาบันเพื่อการหารือเชิงยุทธศาสตร์ พบว่า ระหว่างเดือน ม.ค. ถึง ต.ค. ปีนี้ มีโฆษณา 113 ชิ้นบนเฟซบุ๊กที่มีข้อความประเภทที่บอกว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องหลอกหลวง” โดยใช้เงินลงโฆษณาไปประมาณ 5.8-7.5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯ

งานวิจัยซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมามาจากการวิเคราะห์โพสต์ 48,700 โพสต์ ระหว่างเดือน ม.ค. ถึง ส.ค. ปีนี้ โดยพบว่ามีเพียง 3.6% ของโพสต์เหล่านี้ที่เฟซบุ๊กเข้าไปกำกับไว้ว่าเป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน

แม้ว่าผู้โพสต์ข้อมูลเท็จส่วนใหญ่ที่ศูนย์ต่อต้านความเกลียดชังดิจิทัลพบจะอยู่ในสหรัฐฯ แต่คนที่เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้นี้มีทั้งในบราซิล อินเดีย โปแลนด์ เฮติ เม็กซิโก รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และไทยด้วย

โฆษกของเฟซบุ๊กบอกว่าการมีปฏิสัมพันธ์ เช่น ไลค์ หรือ แชร์ 7 แสนครั้งนั้นถือว่าเป็นสัดส่วนเพียงเล็กน้อยของการปฏิสัมพันธ์บนเฟซบุ๊กเรื่องสภาพภูมิอากาศทั้งหมดบนเฟซบุ๊กที่มีถึง 200 ล้านครั้ง

……………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ