โรมร้องก้าวไกล ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพ จากสภาทนายความ

Home » โรมร้องก้าวไกล ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพ จากสภาทนายความ


โรมร้องก้าวไกล ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพ จากสภาทนายความ

โรมร้องก้าวไกล ถูกเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพ บังคับแต่งกายเข้าสอบ ทั้งที่มีใบรับรองแปลงเพศ เหตุสภาทนายความดึงเรื่อง จนได้รับความอับอายอย่างมาก

วันที่ 10 ส.ค.2565 โรม ชิษณ์ชาภา พานิช ผู้สมัครเข้ารับฝึกอบรมวิชาว่าความ ภาคทฤษฎี รุ่นที่ 57 เจ้าหน้าที่ของสภาทนายความยื่นหนังสือถึงธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล หลังถูกเลือกปฏิบัติเนื่องจากมีเพศสภาพเป็นเพศชาย โดยระบุว่าวันแรกที่ตนเข้าไปสมัครเข้ารับฝึกอบรม เจ้าหน้าที่ของสภาทนายก็แจ้งต่อหน้าผู้สมัครอบรมจำนวนมากว่าตนไม่สามารถแต่งกายเป็นหญิงเข้าสอบข้อเขียนได้เนื่องจากคำนำหน้าของตนเป็นผู้ชาย

ดังนั้นจึงต้องแต่งตัวแบบผู้ชายตามระเบียบของสภาฯ มิฉะนั้น จะโดนตัดคะแนนหรือให้ออกจากห้องสอบตามแต่ดุลพินิจของกรรมการผู้คุมสอบและตรวจข้อสอบ แต่ถ้าอยากแต่งหญิงเข้าสอบจะต้องทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสภาทนายขออนุญาตแต่งหญิงโดยแนบใบรับรองผ่าตัดแปลงเพศจากคุณหมอพร้อมติดรูปที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเพื่อให้กรรมการพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ อย่างไรก็ตามยังทิ้งท้ายว่าแต่ก็ยังถือว่าผิดระเบียบอยู่ ทั้งนี้ ต้องขึ้นกับดุลพินิจของคนที่คุมสอบในวันนั้นด้วย

จากกรณีดังกล่าวตนจึงยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) เพื่อวินิจฉัยว่าการกระทำของสภาทนายดังกล่าวเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ตาม พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558

แต่คำวินิจฉัยออกมาไม่ทันวันเข้าสอบ การเข้าสอบภาคทฤษฎีของตนจึงไร้ซึ่งความคุ้มครองใดๆ และสิ่งที่คาดคิดไว้ก็เกิดขึ้น กรรมการผู้คุมสอบได้ทักท้วงตนในระหว่างทำข้อสอบว่าตนแต่งกายผิดระเบียบเพราะใส่กระโปรงเข้าสอบแต่คำนำหน้าในบัตรนักศึกษาเป็นนาย แล้วให้ตนเซ็นรับทราบการผิดระเบียบดังกล่าวในใบเช็คชื่อผู้เข้าสอบเพื่อให้กรรมการตรวจข้อสอบพิจารณาหักคะแนนการแต่งกาย

“เรื่องนี้ทำให้ตนอับอายและสูญเสียสมาธิในการทำข้อสอบมาก เพราะกรรมการทักต่อหน้าผู้เข้าสอบที่นั่งสอบอยู่เป็นจำนวนมาก”

จนกระทั่งวันที่ 27 เม.ย. ได้มีคำวินิจฉัยของ วลพ. สั่งให้สภาทนายแก้ไขกฎระเบียบรองรับการแต่งกายตามเพศสภาพได้ โดยให้เวลา 90 วัน ในการปฏิบัติตามคำวินิจฉัย แต่สภาทนายก็ได้ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาจนถึงวันที่ใกล้สอบวิชาว่าความอีกครั้งคือภาคปฎิบัติ ในวันที่ 14 ส.ค.นี้ โดยเพิ่งมาทราบเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่าสภาทนายได้ยื่นฟ้อง วลพ. ต่อศาลปกครองแล้ว ทำให้ในวันสอบที่ใกล้มาถึงนี้ ตนก็ยังต้องเข้าสอบอย่างผิดระเบียบ

อีกทั้งยังต้องฝากชีวิตไว้กับดุลพินิจของกรรมการผู้คุมสอบว่าจะลงโทษตนโดยการให้ออกจากห้องสอบหรือตัดคะแนนข้อสอบ หรือทำการทักท้วงตนและให้เซ็นรับทราบว่าผิดระเบียบเพื่อให้กรรมการพิจารณาหักคะแนน ทำให้อับอายเหมือนอย่างที่เคยเป็นตอนสอบครั้งที่แล้วอีกก็ได้

ดังนั้นจึงขอยื่นหนังสือที่ถูกเลือกปฏิบัติที่ได้รับและจะกำลังได้รับในอนาคตอันใกล้นี้เพื่อขอความช่วยเหลือจาก ส.ส. พรรคก้าวไกลที่ทำงานเพื่อสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศมาอย่างจริงจังโดยตลอด ให้ช่วยเร่งรัดให้สภาทนายแก้ไขกฎระเบียบให้บุคคลสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้และให้สภาทนายยุติการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศกับดิฉันและผู้เข้าสอบทุกคนที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดหรือคนข้ามเพศในวันสอบที่จะถึงนี้ด้วย

ด้านธัญวัจน์กล่าวว่า เป็นอีกครั้งที่กฏระเบียบของกระทรวง ข้อกำหนดต่างๆ เป็นปัญหาต่อการแต่งกายตามเพศสภาพของบุคคลข้ามเพศ เนื่องจากกฎหมายของประเทศไทยอย่างเป็นระบบสองเพศ และมองเรื่องเพศกำเนิดเป็นสำคัญ และในปัจจุบันปัญหาดังกล่าวจึงแก้ไขด้วยดุลพินิจของแต่ละหน่วยงาน ไม่มีกฏหมายในการรับรองเพศเรื่องดังกล่าวจึงไม่ถูกแก้ปัญหาเป็นระบบ ทำให้บุคคลข้ามเพศประสบปัญหา

เรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ Gender Identity ยังไม่ได้บัญญัติในกฏหมาย อัตลักษณ์ทางเพศคือการรับรู้ตนว่าเป็นเพศอะไร และมีเจตจำนงในการดำเนินชีวิตในเพศนั้น ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับ เพศวิถี

เรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพเป็นเรื่องที่มีร้องอยู่ในคณะกรรมาธิการการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ฯ เช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมาธิการได้มีการตั้งอนุกรรมาธิการและกำลังยกร่างกฏหมายรับรองเพศให้กลุ่มคนข้ามเพศ และ บุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะการแก้ปัญหาต้องแก้จากนิติบัญญัติซึ่งเป็นกลไกสำคัญ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ