“โรงรับจำนำ” สถาบันการเงินประเภทหนึ่งของประชาชนในยามยาก เพียงวางทรัพย์สินเป็นหลักค้ำประกันแลกกับเงินที่ต้องการ กลายเป็น “ที่พึ่ง” ของใครหลายคนในช่วงเวลาขาดแคลนเงินทอง ว่ากันว่า หากจะดูว่าเศรษฐกิจในขณะนั้นดีหรือไม่ ให้ดูจำนวนประชาชนที่เดินเข้าออกโรงรับจำนำ อย่างไรก็ตาม ในภาวะการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลก โรงรับจำนำที่ควรจะมียอดจำนำเพิ่มขึ้น กลับมีแนวโน้มลดลงในช่วงปีที่ผ่านมา เมื่อดูจำนวนทรัพย์ที่ถูกนำมาจำนำกับสถานธนานุเคราะห์ในปี 2563 พบว่ามีจำนวนลดลงจากปี 2562 ถึง 4.74% ขณะที่ยอดตั๋วจำนำของโรงรับจำนำเอกชนแห่งหนึ่งก็มีทิศทางลดลงจากปีที่ยังไม่มีสถานการณ์โควิด-19 กว่า 50% เลยทีเดียว
เห็นได้ว่า สถานการณ์ของโรงรับจำนำก็ซบเซาและได้รับผลกระทบไม่ต่างจากธุรกิจประเภทอื่น แล้วแผนการจะเพิ่มโรงรับจำนำของ “บิ๊กตู่” จะช่วยเหลือประชาชนได้จริงไหม Sanook คุยกับผู้ประกอบการโรงรับจำนำ เพื่อรับฟังปัญหาและข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
- ทักษิณสะอื้น! ไทยมาถึงจุดเพิ่มโรงรับจำนำได้ยังไง ทำไมไม่เพิ่มรายได้ให้คนจน
โควิด-19 สะเทือนโรงรับจำนำ
“ตั้งแต่เกิดมา เราอยู่โรงรับจำนำมาโดยตลอด เราจะรู้เลยว่า แต่ก่อนพนักงานทำงานไม่หยุดทั้งวัน มีลูกค้าเดินเข้าออกตลอด คือไม่มีวันที่จะมานั่งว่างแบบนี้ ทุกวันนี้ต้องนั่งมองว่าลูกค้าหายไปไหน มันต่างกันเยอะมาก 50 – 60 เปอร์เซ็นต์ ได้เลยกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา” คุณเม รองผู้จัดการโรงรับจำนำแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เล่าให้ฟังเมื่อเราถามว่าสถานการณ์ที่โรงรับจำนำเป็นอย่างไรบ้างในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมา
คุณเมยกตัวอย่างจำนวนตั๋วจำนำของเดือนพฤษภาคม ปี 2564 ซึ่งเป็นเดือนที่ตรงกับช่วงเปิดเทอมของโรงเรียนทั่วประเทศและเป็นเดือนที่โรงรับจำนำจะมีผู้เข้าใช้บริการอย่างคึกคัก โดยมีจำนวนทรัพย์จำนำในเดือนนี้เพียง 807 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2563 (871 ราย), ปี 2562 (1,544 ราย), และปี 2561 (1,702 ราย) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในช่วงปีก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 มีจำนวนทรัพย์จำนำมากกว่าปีที่มีการระบาดกว่า 50% ขณะที่ในรายงานประจำปีของสำนักงานธนานุเคราะห์ก็แสดงให้เห็นทิศทางการเข้ารับบริการของประชาชนที่ลดน้อยลงเช่นกัน โดยในเดือนพฤษภาคม ปี 2561 มีทรัพย์จำนำมากถึง 121,854 ราย ก่อนจะลดลงมาเป็น 118,745 ราย ในปี 2562 และ 90,806 ราย ในปี 2563 ตามลำดับ
ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานของ Rocket Media ยังเผยว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีตัวเลขหนี้ครัวเรือนรวมทั้งสิ้น 14.02 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.3% ของ GDP ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 18 ปี แต่สถานการณ์ของสถานธนานุเคราะห์ในปี 2563 กลับมีแนวโน้มลดลงจากปี 2562 ถึง 4.74% (จาก 1,370,703 รายการ เป็น 1,305,781 รายการ)
นอกจากนี้ สถิติการเข้าใช้บริการสถานธนานุบาล กรุงเทพมหานคร ก็ยังมีแนวโน้มลดลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยในปี 2562 มีผู้ใช้บริการมากถึง 470,000 คน ก่อนจะลดลงเหลือ 400,000 คน ในปี 2563
AFP
“ของที่คนเอามาจำนำเยอะสุดก็ยังเป็นทองคำ เพราะว่าทองคำเป็นของที่มีมูลค่า นอกจากนี้ก็เป็นพวกเครื่องประดับ เพชร พลอย นาฬิกา โน้ตบุ๊ก กล้องถ่ายรูป แล้วก็พวกแท็บเล็ต” คุณเมอธิบาย
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงข้าวของเครื่องใช้ เช่น ครก ไม้ตีพริกหรืออุปกรณ์ทำมาหากินอื่น ๆ ที่เคยเห็นเป็นสีสันของการรายงานข่าวบ้างประปราย คุณเมระบุว่า เท่าที่รู้คือโรงรับจำนำของรัฐยังรับของประเภทนั้นอยู่ แต่โรงรับจำนำของเธอไม่ได้รับแล้ว
“แต่ก่อนเราเคยรับแม้กระทั่งเสื้อผ้า ชุดแต่งงานก็รับหมด เพราะสมัยก่อนทุกอย่างยังมีมูลค่า เราสามารถซื้อขายได้ แต่สมัยนี้มันต่างกัน เราต้องรับสิ่งที่เราสามารถนำไปขายได้ ถ้าเกิดลูกค้าไม่มาไถ่คืนหรือไม่มาส่งดอก แต่คือทุกวันนี้คนไม่มีของมาจำนำ จนมาถามจริง ๆ ว่าอันนี้รับไหม อันนั้นรับไหม ไมโครเวฟรับไหม ตู้เย็นรับไหม ซึ่งแต่ก่อนเราเคยรับ แต่ตอนนี้เราไม่รับแล้ว”
ขาลงของโรงรับจำนำ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการโรงรับจำนำอย่างมาก แต่คุณเมก็ระบุว่า สถานการณ์ของโรงรับจำนำซบเซามาตั้งแต่ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว เนื่องจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น ภาพจำของโรงรับจำนำ ที่ดูไม่ “คูล” ในสายตาของคนรุ่นใหม่อีกต่อไป ขณะที่สื่อก็สร้างภาพโรงรับจำนำหน้าเลือด พูดจาไม่ดี และคอยขูดรีดลูกค้า รวมไปถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายกว่าเดิมในปัจจุบัน ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโรงรับจำนำ
“โรงรับจำนำเป็นช่วงขาลงมาสักพักหนึ่งแล้ว เพราะคนเข้าถึงเงินได้ง่ายกว่าสมัยก่อน คนไม่จำเป็นต้องเข้าโรงรับจำนำเพื่อจะได้เงินสด คนสามารถไปใช้บัตรเครดิต สินเชื่อเงินสดได้ พวกนั้นเข้าถึงได้ง่ายกว่าการมาโรงรับจำนำ แล้วการไปแบบนั้นมันดูดีกว่าการเดินเข้าโรงรับจำนำ คือคนไทยยังฝังรากอยู่กับคติเดิม ๆ ว่าการเข้าโรงรับจำนำมันไม่คูล” คุณเมอธิบาย
ไม่ใช่แค่เรื่องของภาพลักษณ์และช่องทางการเข้าถึงเงินที่ง่ายกว่าเดิมที่ส่งผลกระทบต่อโรงรับจำนำ แต่สภาพเศรษฐกิจที่ชลอตัวในช่วง 6 – 7 ปีที่ผ่านมา คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณเมยอมรับว่า “สาหัส” สำหรับโรงรับจำนำของเธอ
AFP
“มันเป็นปัญหาที่มีมาระยะยาว เพราะเศรษฐกิจไม่ดีมาสักพักหนึ่งแล้ว คนส่วนใหญ่คิดว่าเศรษฐกิจไม่ดี โรงรับจำนำจะดี มันไม่ใช่เลย คือในสมัยก่อน เมื่อ 40 ปีก่อนอาจจะใช่ เพราะคนจำนำไปซื้อ ไปใช้จ่ายจริง ๆ แต่สมัยนี้คนจำนำเพราะเอาไปลงทุน ไปต่อยอด ไปทำธุรกิจ แม่ค้าเอาของมาจำนำ เพราะต้องการเอาเงินไปซื้อของมาขาย ได้กำไรแล้วถึงเอามาส่งดอก มันก็เลยเป็นการจำนำเพื่อไปลงทุน ไม่ได้เอาไปใช้จ่าย คือมันมีส่วนน้อยที่จะจำนำไปใช้จ่าย ประมาณ 70/30 เปอร์เซ็นต์เลย”
คุณเมยอมรับว่า สถานการณ์เช่นนี้ก็เป็นเหมือน “วงจรชีวิต” ของโรงรับจำนำ ที่เธอเองก็ไม่รู้ว่าจะสามารถยืนหยัดทำธุรกิจนี้ได้อีกนานแค่ไหน เพราะไม่ว่าจะเกิดภาวะวิกฤตแค่ไหน โรงรับจำนำก็มักจะถูกเพิกเฉยจากรัฐบาลและสังคมส่วนใหญ่ เนื่องจากภาพจำของสังคมที่มองว่าโรงรับจำนำเป็นสถานที่ขูดรีดเลือดเนื้อประชาชน และในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ “โรงรับจำนำก็ถูกกระทำเช่นเดียวกัน”
เราช่วยประชาชน แล้วใครช่วยเรา
“โรงรับจำนำไม่เคยได้รับอะไรจากรัฐบาลเลย นอกจากขอความร่วมมือให้ทำเพื่อประชาชน ภาษีจ่ายเท่าเดิม ทุกอย่างตามยอดจำนำ เขาก็มีฐานภาษีของเขาอยู่ เราต้องยืดตั๋วให้ลูกค้า ซึ่งเราก็ให้ความร่วมมือมาโดยตลอด แต่คือรัฐบาลไม่ช่วยเหลืออะไรเราเลย มีแต่คำสั่งออกมา เราเข้าใจว่าการที่เราทำธุรกิจแบบนี้มันคือการช่วยเหลือคนอื่นในรูปแบบที่เราสามารถทำได้ และไม่ทำให้เราขาดทุน ลูกค้าที่มาจำนำกับเรา เราก็พยายามให้ราคาที่เราให้ได้ แต่เราไม่เคยได้รับการเยียวยาจากรัฐเลย” คุณเมพ้อ
เมื่อถามต่อไปว่าโรงรับจำนำอยากได้รับการเยียวยาอย่างไร คุณเมชี้ว่า การช่วยเหลือโรงรับจำนำคือการที่รัฐบาลมาคุยกับผู้ประกอบการโดยตรง มารับฟังปัญหา และทำให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโรงรับจำนำชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะในปัจจุบันมีธุรกิจประเภทอื่นที่ใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อรับจำนำสินค้าโดยให้ราคาตัดหน้าโรงรับจำนำ ทำให้โรงรับจำนำขาดรายได้ อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเธอ แต่เธอก็ไม่คาดหวังให้รัฐบาลให้เงินช่วยเหลือ ทว่าเธออยากให้เศรษฐกิจกลับมาดีอีกครั้ง ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลควรทำก็คือบริหารจัดการเศรษฐกิจให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่โยนภาระให้ผู้ประกอบการ
“บอกให้เรายืดตั๋วลูกค้า 5 เดือน ไป 6 เดือนนะ บางทีขอมา 8 เดือน คือเราก็ยังต้องจ่ายเงินเดือนลูกน้องนะ แล้วเราจะใช้จ่ายยังไงล่ะ ทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย แต่คุณจะบอกว่าเพื่อประชาชน ทุกครั้งเราก็อยากถามว่า เราทำเพื่อประชาชน แล้วใครทำเพื่อเราบ้าง เขาอาจจะมองว่า เราได้ดอกเบี้ย เราได้เงินจากประชาชน ถ้าของหลุดก็เอาไปขายสิ แต่เศรษฐกิจแบบนี้ ของหลุด โรงหล่อไม่เปิด คนรับซื้อไม่ซื้อ แล้วเราจะอยู่ได้ยังไง”
AFP
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 – 3 วันก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวทางแก้ไขหนี้สินประชาชน โดยระบุว่าต้องมีการเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำและจัดทำโรงรับจำนอง เพื่อดูแลผู้มีรายได้น้อยและมีที่ดินให้สามารถเข้าถึงเงินทุน คุณเมแสดงความคิดเห็นว่า การเพิ่มโรงรับจำนำจะไม่ช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะคนจนทุกวันนี้แทบไม่มีเงินกินข้าวแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น การบอกว่าเพื่อช่วยเหลือคนจน หมายความว่า คนเหล่านั้นไม่ได้มีทั้งทองและสินค้าฟุ่มเฟือยอื่น ๆ แล้วพวกเขาจะนำทรัพย์สินอะไรมาจำนำได้
“โรงรับจำนำไม่ใช่ ‘โรงตึ๊งวิญญาณ’ ที่จะเอาอวัยวะมาจำนำได้” คุณเมชี้
“ถ้าเศรษฐกิจแย่มาหลายปี คนไม่มีเงินกินข้าวมาหลายปีก่อนหน้าโควิดด้วยซ้ำ แล้วคนจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อทอง คุณจะแจกทองประชาชนไหมล่ะ เศรษฐกิจแย่ ต่างชาติไม่มาลงทุน ในประเทศก็ไม่ลงทุน มันก็แย่ ขนาดบางคนมีลูกหลานเรียนอยู่โรงเรียนนานาชาติ ยังต้องเอาของมาจำนำเพื่อไปจ่ายค่าเทอม คือเราไม่ได้บอกว่าลูกค้าประเภทนี้เข้าไม่ได้นะ เรารับลูกค้าทุกประเภท แต่ถ้าเศรษฐกิจดี การเมืองดี เราก็จะไม่เจอแบบนี้ ทุกธุรกิจจะไม่เจอปัญหาแบบนี้” คุณเมกล่าวปิดท้าย