หลายคนคงรู้จักโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง หรือคนสมัยก่อนจะเข้าใจในชื่อว่า “โรคพุ่มพวง” เพราะเป็นโรคที่นักร้องลูกทุ่งสาวขวัญใจมหาชนต้องเสียชีวิตไปนั่นเอง แต่ทำไมภูมิคุ้มกันของเราถึงหันมาทำร้ายร่างกายของเราได้ ทำไมถึงไม่ทำหน้าที่ปกป้องเราจากเชื้อโรคต่างๆ เหมือนเดิม Sanook! Health จะอธิบายให้ฟังค่ะ
โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง คืออะไร?
โรคนี้มีชื่อเรียกมากมาย ทั้งโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง โรคภูมิต้านตนเอง โรคภูมิแพ้ตัวเอง แต่ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า โรคออโตอิมมูน (Autoimmune) เป็นกลุ่มโรคที่อธิบายถึงการทำงานที่ผิดปกติของเม็ดเลือดขาว ซึ่งโดยปกติจะทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันร่างกายของเราจากเชื้อโรค และสิ่งแปลกปลอมต่างๆ แต่เมื่อมันทำงานผิดปกติ เม็ดเลือดขาวผู้แสนดีจึงหันมาทำร้ายร่างกายของเองเสียเอง ทำร้ายเนื้อเยื่อในร่างกายขนเกิดอาการอักเสบอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดอวัยวะนั้นๆ ก็ใช้งานไม่ได้
คลิปการทำงานของเม็ดเลือดขาวขณะไล่ตามจับแบคทีเรีย
โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง เกิดขึ้นได้อย่างไร?
คล้ายมะเร็งตรงที่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าสาเหตุมาจากอะไร มีเพียงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้ เช่น
- กรรมพันธุ์
- ความเครียด
- แสงแดด
- รับฮอร์โมนเพศหญิง
- สูบบุหรี่
โดยปัจจัยเหล่านี้เป็นเพียงส่วนน้อยที่จะทำให้เกิดโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง สาเหตุหลักมาจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำงานผิดปกติเสียเอง โดยอาจได้รับแรงกระตุ้นจากสิ่งต่างๆ ข้างต้นหรือไม่ก็ได้
โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง พบได้บ่อยมากแค่ไหน?
จริงๆ แล้วโรคนี้ไม่ได้เป็นเพียงโรคเดียว แต่เป็นชื่อเรียกกลุ่มโรค ที่แบ่งย่อยลงไปเป็นชื่อเรียกต่างๆ อีก เช่น โรคพุ่มพวงนั้นจริงๆ แล้วคือโรค SLE นอกจากนี้ยังมีโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเองที่พบในผู้ป่วยเบาหวานประเภท 1 (มักพบในตับอ่อน) โรคลูปัส และโรคข้อรูมาตอยด์ เป็นต้น ดังนั้นจึงสามารถพบได้บ่อยพอสมควรจากการเป็นโรคแทรกซ้อนจากโรคที่เป็นอยู่แล้ว เมื่อบวกกับภูมิคุ้มกันที่ทำงานผิดปกติด้วย จึงเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้
ใครที่มีความเสี่ยงต่อโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง?
- เพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ หมายถึง ช่วงอายุที่มีประจำเดือน โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายถึง 5-10 เท่า
- คนในครอบครัวเคยเป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวานประเภท 1 โรคข้อรูมาตอยด์ โรคลูปัส โรค SLE โรคผิวหนังแข็ง หรืออื่นๆ ที่ใกล้เคียง
- อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจกระตุ้นให้โรคแสดงอาการ เช่น สัมผัสแสงแดด ติดเชื้อแบคทีเรีย สูบบุหรี่ รับสารเคมีบางชนิด หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ อยู่ในภาวะเครียด
อาการของโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง
อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งทำงานผิดปกติ เช่น
- ขาแขนอ่อนแรง เดินขึ้นบันได หรือถือของไม่ไหว ยกแขนไม่ขึ้น หนังตาตก กลืนอาหารลำบาก
- ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โดยจะมีอาการใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกง่าย หงุดหงิด กินจุแต่น้ำหนักลด
- ผื่นขึ้นตามผิวหนัง เล็บ เยื่อบุต่างๆ
- มีอาการชาปลายนิ้ว ปลายเท้า
- ผิวซีด หน้าซีด หรือเป็นจ้ำเลือด
- หูหนวกฉับพลัน
- จอประสาทตาอักเสบ ตาแห้ง ตาแดง ปวดตา
โรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง มีวิธีรักษาหรือไม่?
ปัจจุบันโรคภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเอง ไม่มีวิธีรักษาอย่างตรงจุด มีเพียงรับยาเพื่อรักษาเฉพาะอาการไป เช่น ยาบรรเทาอาการอักเสบ ยาซึมเศร้า ยานอนหลับ ยาทดแทนฮอร์โมน เช่น อินซูลิน และยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อควบคุมไม่ให้อวัยวะนั้นๆ ถูกทำลาย ถึงจะต้องทานยาเป็นจำนวนมาก และอาจจะต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน แต่ไม่ก็จำเป็นต้องทานยาไปตลอดชีวิตเสมอไป เมื่อทานยาอย่างต่อเนื่อง แพทย์จะลองให้หยุดยา และนัดตรวจอาการเรื่อยๆ อาจจะสามารถหายขาดโดยที่ไม่ต้องทานยาต่อได้ แต่แพทย์จะยังคงนัดพบเพื่อติดตามดูอาการเป็นระยะ
วิธีป้องกันตัวเองจากโรคภูมิคุ้มกันตัวเอง
ยังไม่มีวิธีที่จะหลีกเลี่ยงโรคนี้ได้ 100% แต่สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ได้ โดย
- รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- จัดการกับความเครียดของตัวเอง ปล่อยวางด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ นั่งสมาธิ ท่องเที่ยว ฯลฯ
- ไม่ตากแดดแรงมากเกินไป หรือหากจำเป็นต้องทาครีมกันแดด
- หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี