โรคข้อเข่าเสื่อม กับเทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบัน

Home » โรคข้อเข่าเสื่อม กับเทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบัน
โรคข้อเข่าเสื่อม กับเทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบัน

โรคข้อเข่าเสื่อมนั้นเป็นสาเหตุการปวดข้อเข่าที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดจากผิวกระดูกอ่อนในข้อเข่าเสื่อมสภาพลงร่วมกับคุณสมบัติของน้ำหล่อลื่นข้อเข่าที่แย่ลง นำไปสู่อาการปวดเข่า ข้อฝืด พิสัยการเคลื่อนไหวของข้อเข่าลดลง มีปุ่มกระดูกงอก ไปจนถึงทำให้ข้อเข่าผิดรูป ซึ่งอาการต่างๆเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่มีภาวะข้อเข่าเสื่อมแย่ลง ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆเหมือนเดิมได้และจำเป็นต้องพึ่งพาการทานยาลดอาการปวดต่างๆเรื้อรัง [1-3]

ผู้สูงอายุทุกคนต้องเป็นข้อเข่าเสื่อมหรือไม่?

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ข้อเข่าเสื่อมคืออายุที่มากขึ้นโดยส่วนมากมักจะเริ่มมีอาการหลังจากอายุ 55 ปีขึ้นไป เหมือนกับยางรถยนต์ที่เสื่อมไปตามการใช้งาน โดยนอกจากอายุที่เพิ่มขึ้นแล้วนั้น ยังมีสาเหตุอื่นๆอีกหลายประการที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อม [1,2] เช่น

  • น้ำหนัก น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นนั้นส่งผลกับข้อที่รับน้ำหนักต่างๆโดยเฉพาะข้อเข่าโดยตรง ซึ่งน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัมนั้นส่งผลให้เข่าแต่ละข้างต้องรับน้ำหนักตอนเดินมากขึ้น 3-4 กิโลกรัมเลยทีเดียว
  • พันธุกรรม ในบางรายที่มีพันธุกรรมร่วมด้วยคือมีภาวะกระดูกอ่อนบอบบางหรือรูปร่างกระดูกเข่าที่ผิดปกติ ทำให้เข่าเสื่อมได้เร็วกว่าคนทั่วไป
  • โรคประจำตัวที่เกี่ยวกับการอักเสบตามข้อ เช่นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือผลึกคริสตัลสะสมตามกระดูกอ่อนต่างๆ ก็เป็นภาวะที่เร่งให้เกิดกระดูกข้อเสื่อมได้
  • ประวัติอุบัติเหตุ การบาดเจ็บของเนื้อเยื่อต่างๆรอบๆเข่านั้น ก็ส่งผลให้การรับน้ำหนักของเข่าเสียสมดุลไปทำให้เกิดภาวะเข่าเสื่อมตามมาได้เช่น หมอนรองกระดูกเข่าแตก หรือเอ็นไขว้หน้าฉีกขาด เป็นต้น

 

แนวทางการรักษาข้อเข่าเสื่อมในปัจจุบัน


ในการรักษาภาวะข้อเข่าเสื่อมนั้นมักเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต งดเว้นกิจกรรมที่มีการงอเข่าเช่นการนั่งพับเพียบ ลดน้ำหนัก ทานยาเพื่อบรรเทาอาการ การรักษาด้วยกายภาพบำบัด การใช้อุปกรณ์พยุงเข่าชั่วคราว การฉีดสารลดอักเสบหรือสารหล่อลื่นเทียมเข้าไปในข้อเข่า หรือการผ่าตัดเปลี่ยนข้อในกรณีที่เป็นมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่นๆ [1,2]

ตัวเลือกการรักษาข้อเข่าเสื่อมแบบใหม่ [3]

เนื่องจากเป็นภาวะที่พบได้บ่อยและก่อให้เกิดความทุพพลภาพต่อผู้ป่วยเป็นอันมาก ทำให้การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องและมีความพยายามที่จะพัฒนาแนวทางการรักษาใหม่ๆเพื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้มาตลอด โดยการรักษาที่เริ่มมีการนำมาใช้งานมากขึ้นในช่วงหลังๆได้แก่

  • การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นเข้าข้อเข่า เพื่อหวังผลให้สารต่างๆในเกล็ดเลือดเข้มข้นจะช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูตัวของผิวกระดูกอ่อนและยังทำหน้าที่แทนสารหล่อเลื่อนข้อเข่าได้อีกด้วย โดยแพทย์จะนำน้ำเหลืองของผู้ป่วยมาปั่นเพื่อสกัดแยกเกร็ดเลือดออกมาก่อนฉีดกลับเข้าไปในข้อเข่าของผู้ป่วยเอง

  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมโดยใช้หุ่นยนต์เข้าช่วยการผ่าตัด โดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อโดยมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนั้นสามารถเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดและการจัดตำแหน่งของข้อเทียมให้แม่นยำมากขึ้นได้

  • การฉีดสเต็มเซลล์ชนิดเนื้อเยื่อมีเซนไคม์เข้าข้อเข่า โดยสเต็มเซลล์นั้นมีความสามารถในการแบ่งตัวและเปลี่ยนตัวเองไปเป็นเซลล์ใดก็ได้ ซึ่งเหมาะกับภาวะที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์แบบที่พบได้ในภาวะข้อเข่าเสื่อม โดยหวังให้สเต็มเซลล์ไปกระตุ้นการฟื้นฟูกระดูกอ่อนที่เสื่อมไปโดยตรงและยังมีผลเรื่องการลดการอักเสบจากสารต่างๆที่ได้จากสเต็มเซลล์อีกด้วย ซึ่งวิธีการนี้นั้นสามารถใช้สเต็มเซลล์จากแหล่งใดก็ได้ แต่ควรจะต้องเน้นเป็นสเต็มเซลล์เนื้อเยื่อเป็นหลัก เช่นสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อไขมันหรือจากเนื้อเยื่อสายสะดือ โดยปัจจุบันมีงานวิจัยหลายฉบับที่รายงานผลลัพธ์ที่ดีในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยการฉีดสเต็มเซลล์เข้าข้อเข่า [4]

 

ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมนั้นมีทางเลือกในการรักษามากขึ้นและตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยแต่ละคนที่มีความต้องการแตกต่างกัน เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง

อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://www.medezegroup.com/th/news/knee-osteoarthritis-stem-cell

[Advertorial]  

อ้างอิง

  1. สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย. แนวทางเวชปฏิบัติการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม (Guideline for the Treatment of Osteoarthritis of Knee). Online. [2010]. Available at : https://www.thairheumatology.org/wp-content/uploads/2016/08/Guideline-for-Management-of-OA-knee.pdf. [Sep 2021]
  2. David Zelman. Osteoarthritis of the Knee (Degenerative Arthritis of the Knee). Online. [Jun 2021]. Available at : https://www.webmd.com/osteoarthritis/ostearthritis-of-the-knee-degenerative-arthritis-of-the-knee. [Sep 2021]
  3. David Zelman. What’s New in Knee Osteoarthritis Treatments?. Online. [Jun 2021]. Available at : https://www.webmd.com/osteoarthritis/knee-arthritis-treatment-advances. [Sep 2021]
  4. Pak, J. (2011). Regeneration of human bones in hip osteonecrosis and human cartilage in knee osteoarthritis with autologous adipose-tissue-derived stem cells: a case series. Journal of medical case reports, 5(1), 1-8.

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ