โรคกระเพาะ เกิดจากอะไร วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็น โรคกระเพาะ

Home » โรคกระเพาะ เกิดจากอะไร วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็น โรคกระเพาะ
โรคกระเพาะ เกิดจากอะไร วิธีดูแลตนเองเมื่อเป็น โรคกระเพาะ

ในสังคมปัจจุบันมีแต่การแข่งขัน ทำให้การดำเนินชีวิตในแต่ละวันของทุกคนต้องเร่งรีบไปด้วย ส่งผลให้สุขภาพของคนในสังคมแย่ลงและปัญหาทาง สุขภาพที่พบได้บ่อย คือ การเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งโดยทั่วไปเราเรียกกันว่า “โรคกระเพาะ”

โรคกระเพาะ เป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง ประมาณว่าคนทั่วไปมีโอกาสเป็นโรคนี้ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต โดยการเกิดแผลในกระเพาะมักพบในวัยกลางคน ขณะที่การเกิดแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นจะพบในวัยหนุ่มสาว อย่างไรก็ตามการเกิดแผลในกระเพาะอาหารหรือแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้นสามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกเพศและทุกวัย

สาเหตุ โรคกระเพาะ

เกิดจากมีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไปร่วมกับความต้านทานต่อกรดของเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ลดลง จึงทำให้มีแผลเกิดขึ้น และปัจจุบันพบว่ายังมีปัจจัยเสริมอื่นๆที่ทำให้เกิดโรคได้อีก ได้แก่

  1. การติดเชื้อ เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobactor Pylori) ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ติดต่อโดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อจากอุจจาระของผู้ติดเชื้อ เชื้อนี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปฝังตัวอยู่ใต้เยื่อบุกระเพาะ ผนังกระเพาะจึงอ่อนแอลงและมีความทนต่อกรดลดลง ทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นเกิดแผลได้ง่าย แผลหายช้า และเกิดแผลซ้ำได้อีก
  2. รับประทานสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะและลำไส้ เช่น ดื่มชา กาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวดจำพวกแอสไพริน ยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ ยาชุดหรือยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์ เป็นต้น
  3. มีอุปนิสัยการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง เช่น การรับประทานอาหารอย่างเร่งรีบ รับประทานไม่เป็นเวลาหรืออดอาหารบางมื้อ เป็นต้น
  4. การสูบบุหรี่ เพิ่มโอกาสของการเป็นแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น
  5. อื่นๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล คิดมาก นอนไม่หลับ เครียด อารมณ์หงุดหงิด พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น

อาการเมื่อเป็นโรคกระเพาะ

มักมีอาการปวดแสบ ปวดตื้อ จุกเสียดหรือจุกแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาการปวดเหล่านี้เป็นได้ทั้งเวลาก่อนรับประทานอาหารหรือหลังรับประทานอาหารใหม่ๆและเวลาท้องว่าง เช่น เวลาหิวข้าว ตอนเช้ามืดหรือตอนดึกๆก็ปวดท้องได้เช่นกัน อาการปวดจะเป็นๆหายๆ เป็นได้วันละหลายๆครั้ง หรือตามมื้ออาหาร และแต่ละครั้งที่ปวดจะนานประมาณ 15 – 30 นาที อาการปวดจะบรรเทาลงได้ถ้ารับประทานอาหาร ดื่มนมหรือรับประทานยาลดกรด

อาการแทรกซ้อน

โรคกระเพาะถ้าได้รับการรักษาและดูแลตนเองให้ถูกต้องส่วนใหญ่เป็นแล้วจะหาย แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องจนมีอาการมากและเรื้อรังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ เช่น

  • เลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยสังเกตได้จากมีถ่ายอุจจาระสีดำหรืออาเจียนเป็นเลือดหรืออาเจียนมีลักษณะคล้ายผงกาแฟบดปนอยู่
  • กระเพาะลำไส้เป็นแผลทะลุ โดยสังเกตได้จากมีอาการปวดท้องรุนแรงทันทีทันใด หน้าท้องแข็ง กดเจ็บ
  • กระเพาะลำไส้ตีบตัน โดยสังเกตได้จากมีอาการปวดท้อง รับประทานอาหารได้น้อย อิ่มเร็ว และอาเจียนเป็นอาหารที่ไม่ย่อยหลังรับประทานอาหาร

ปวดท้องแบบไหนที่ใช่โรคกระเพาะ ?

  • ปวดท้องเฉียบพลัน นับเป็นการปวดรุนแรงที่อาจไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเราต้องความสนใจเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิดจากโรคอื่นที่ไม่ใช่โรคกระเพาะก็เป็นได้ อาทิ โรคนิ่วในถุงน้ำดี หรือตับอ่อนอักเสบ เป็นต้น
  • ปวดท้องเรื้อรัง นับเป็นอาการปวดท้องที่สามารถพบได้บ่อยที่สุด จะมีลักษณะอาการเป็นปวดๆ หายๆ ต่อเนื่องกันมาไม่น้อยกว่า 1 เดือน อาจเป็นการปวดท้องที่เกี่ยวข้องกับมื้ออาหาร เช่น ปวดขณะที่หิว หรือปวดขณะที่อิ่ม แต่เป็นการปวดที่ทนได้ ซึ่งเมื่อรับประทานยาลดกรด หรือรับประทานอาหารแล้วก็มีอาการดีขึ้น
  • โรคในกระเพราะอาหารที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดเรื้อรัง ได้มีแพทย์ท่านหนึ่งอธิบายเพิ่มเติมเอาไว้ว่าสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายชนิด เริ่มจาก โรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระเพาะอาหาร เช่น การเป็นแผลในกระเพาะ เป็นแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น กระเพาะอาหารอักเสบ หรือเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร ซึ่งอัตราที่จะเกิดโรค หรือภาวะเหล่านี้นั้นมีประมาณร้อยละ 20 – 25 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง

นอกจากนั้น โรคกระเพาะก็อาจขึ้นได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีความผิดปกติทางกายภาพภายในกระเพราะเลย แต่ก็อาจเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการทำงานที่ผิดปกติ อาทิ การบีบตัวของกระเพาะกับลำไส้ที่ทำงานไม่ประสานกัน หรืออาจเกิดจากสภาพกรดในกระเพาะที่มีมากเกินไป แต่ไม่ทำให้เกิดแผล ซึ่งสาเหตุที่ว่ามานี้ก็ทำให้ผู้ป่วยร้อยละ 70 – 75 ต้องเดินทางมาพบแพทย์

แต่ถึงยังไงก็ตาม ความผิดปกติภายในกระเพาะอาหารที่เกิดจากกรดนั้น ผู้ป่วยก็อาจไม่มีอาการปวดท้องเสมอไป โดยผู้ป่วยหลายรายอาจมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระดำ มีสาเหตุมาจากแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดมาจากกรดเกิน ในบางรายอาจมีอาการแสบแน่นที่หน้าอกเนื่องจากกรดไหลย้อน ทำให้หลอดอาหารอักเสบ รวมไปถึงมีอาการไอ เนื่องจากมีการอักเสบขึ้นมาถึงคอ โดยรวมแล้วก็เป็นเรื่องของโรคกระเพาะอาหารทั้งสิ้น

โรคกระเพาะ รุนแรงหรือไม่ ?

ตามปกติแล้ว โรคกระเพาะ นั้นเป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายได้เสมอหากว่ามีการพยากรณ์โรคที่ดี โดยการให้ยาและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย แต่เมื่อใดที่โรคกระเพาะทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากการที่เลือดออกไม่หยุดในบริเวณที่เกิดแผล หรืออักเสบ และเมื่อเกิดการเรื้อรัง นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหารได้ ฉะนั้น ต้องหมั่นดูแลตัวเองให้ดี รับประทานอาหารให้ตรงเวลาและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

5 สัญญาณเสี่ยงบอกว่าใกล้จะเป็นโรคกระเพาะ

ในเวลาที่เรามีอาการปวดท้องอันเกิดมาจากการมีแผลในกระเพาะอาหาร อาจมีลักษณะอาการที่ผู้ป่วยรู้ๆ กันดีนั่นคือ อิ่มก็ปวด หิวก็ปวด ซึ่งอาการปวดของโรคกระเพาะนั้นจะคล้ายคลึงกับการปวดท้องในแบบอื่นๆ อยู่เหมือนกันจนแทบแยกไม่ออก ฉะนั้น จะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังเป็นโรคกระเพาะ ลองมาตรวจดูจาก 5 สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะไปพร้อมๆ กันเลย …

สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 1

  • อาการปวดท้องแบบจุกๆ แสบๆ เป็นลักษณะของอาการปวดที่จู่ๆ ก็จี๊ดขึ้นมา แล้วจู่ๆ ก็หายไปตรงบริเวณเหนือสะดือ นั่นก็คือแถวๆ ลิ้นปี่

สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 2

  • เวลาที่หิว หรือเวลาที่อิ่มก็จะมีอาการปวดท้องทางฝั่งขวามือ อาจไม่ได้ทำให้เรารู้สึกปวดมาก หากว่ากินยาลดกรดเข้าไปก็ยังพอช่วยบรรเทาอาการได้

สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 3

  • มีอาการปวดแสบบริเวณท้อง บางครั้งก็จะเจ็บขึ้นมาถึงตรงลิ้นปี่ โดยไม่ได้เกี่ยวว่าเราจะท้องว่าง หรืออิ่มแล้ว

สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 4

  • เมื่อเวลาที่เรานอนหลับก็มีอาการปวดท้องจนทำให้ต้องตื่น เป็นอาการที่เกิดขึ้นแบบไม่แน่นอน

สัญญาณเสี่ยงเกิดโรคกระเพาะ 5 

  • มีอาการปวดท้องมากๆ จนอาจเกิดอาการข้างเคียง คือ อาเจียน หรือบางทีถึงขั้นที่ถ่ายเป็นเลือด

ในความเป็นจริง การที่จะวิเคราะห์ว่าผู้ป่วยนั้นมีอาการปวดท้องอันเกิดมาจากโรคกระเพาะอักเสบหรือไม่ ก็ยังมีความก้ำกึ่งของลักษณะการปวดในโรคอื่นๆ อยู่เช่นกัน เพราะบางอาการปวดที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นโรคกระเพาะเสมอไป ซึ่งแม้แต่แพทย์เองก็ยังต้องมีการทดสอบว่าเป็นโรคกระเพาะอักเสบจริง หรือว่าป่วยด้วยโรคอื่น เพื่อให้เกิดผลดีต่อการรัษาและการดูแลตนเองของผู้ป่วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงอาการปวดท้องเนื่องจากสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อจะได้ลดความวิตกกังวลไป

การวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะ

โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายว่าจะเป็นโรคกระเพาะนั้นเมื่อเดินมาทางมาให้แพทย์ได้ทำการตรวจวินิจฉัย แพทย์ก็จะทำการสอบถามประวัติและลักษณะอาการที่เป็นเบื้องต้น จากนั้นจึงจะทำการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดว่าอาจเข้าข่ายเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบหรือไม่ รวมถึงทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติม อาทิ การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Endoscopy) , การเอกซเรย์กระเพาะอาหารด้วยการกลืนแป้งแบเรียมเพื่อตรวจดูความผิดปกติ หรืออาจมีการตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร ด้วยการตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ หรือการตรวจด้วยวิธีการพ่นลมหายใจ เป็นต้น

การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะ

โดยส่วนมากผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบมักจะรักษาตามอาการเป็นหลัก ซึ่งหากผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไรที่มักพบได้บ่อย แพทย์ก็จะทำการรักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) , ยาอะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin) หรือยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เพื่อช่วยการฆ่าเชื้อ

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบจากสาเหตุอื่นๆ แพทย์ก็จะรักษาไปตามอาการ เพื่อเป็นการประคับประคองและช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น อาทิ จ่ายยาลดกรดในกลุ่มโปรตอน ปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton Pump Inhibitors) หรือเอช 2 รีเซพเตอร์ แอนตาโกนีสต์ (H2-Receptor Antagonist หรือ H2 Blocker) เพื่อช่วยให้เกิดการหลั่งกรดและรักษาแผลที่เกิดในกระเพาะอาหาร

นอกจากนั้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรังจากการรับประทานยาในกลุ่มยาบรรเทาอาการปวด แพทย์ก็จะแนะนำให้หยุดพฤติกรรมการใช้ยาในเบื้องต้น รวมถึงทำการปรับเปลี่ยนยาที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันให้แทน อีกทั้งแพทย์ก็จะแนะนำให้หยุดพฤติกรรมที่อาจส่งผลให้อาการแย่ลง อาทิ การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน , เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการสูบบุหรี่

เมื่อเป็น “โรคกระเพาะ” ต้องกินยาแบบไหน ? นานเท่าไหร่ ?

โดยปกติแล้วเมื่อเราเป็นโรคกระเพาะก็จะต้องกินยาอยู่ 2 กลุ่ม คือ ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร และยากระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะอาหาร ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีแผลเกิดขึ้นในกระเพาะอาหาร แพทย์ก็จะแนะนำให้กินยาลดกรดต่อเนื่อเป็นเวลา 6 – 8 สัปดาห์ หรือจนกว่าแผลจะหายผ่านการดูด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหาร ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีความผิดปกติในเบื้องต้น แพทย์ก็มักจะแนะนำให้กินยาลดกรดเฉพาะเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นเท่านั้น ส่วนยาประเภทอื่นๆ อาทิ ยาขับลม ก็แนะนำว่าให้กินเฉพาะตอนที่มีอาการแน่นท้องจากลมที่เกิดขึ้นมากในกระเพาะอาหาร โดยกินในเวลาที่มีอาการได้ตามต้องการ

การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคกระเพาะ

  1. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา
  2. รับประทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย และควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียด
  3. หลีกเลี่ยงสิ่งระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร เช่น ยาชุด ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้ปวดแอสไพริน ยาที่มีสเตียรอยด์ น้ำอัดลม อาหารรสจัด เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ช็อคโกแลต ชา กาแฟ เป็นต้น
  4. งดสูบบุหรี่
  5. อาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อไม่ควรมีปริมาณมากเกินไป
  6. ถ้าเครียดพยายามลดความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำสมาธิ การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  7. หมั่นออกกำลังกาย
  8. รับประทานยาลดกรด ยาน้ำ 1 – 2 ช้อนโต๊ะ หรือยาเม็ด 1 – 2 เม็ด (เคี้ยวก่อนกลืน) วันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็นหลังอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน กรณีมีอาการปวดท้องก่อนเวลายาสามารถรับประทานเพิ่มได้และควรรับประทานยาติดต่อกันนานอย่างน้อย 4 – 8 สัปดาห์
  9. ถ้าปฏิบัติตามนี้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน
  10. รับประทานยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ

อ้างอิงแหล่งที่มา
พิศาล ไม้เรียง,(2536).โรคทางเดินอาหาร การวินิจฉัยและการรักษา.(พิมพ์ครั้งที่ 2).ขอนแก่น : โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.
เฟื่องเพชร เกียรติเสวี,(2541).โรคระบบทางเดินอาหาร.(พิมพ์ครั้งที่1).กรุงเทพฯ:เรือนแก้ว การพิมพ์.
สุรเกียรติ อาชานานุภาพ,(2543).ตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป.(พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : อุษาการพิมพ์.
วันทนีย์ เกรียงสินยศ,(2548).กินอย่างไรเมื่อเป็นโรคกระเพาะ. ใน ประเวศ วะสี(บรรณาธิการ).หมอชาวบ้าน.(ปีที่ 26 ฉบับที่ 311,หน้า 52-54).

งานการพยาบาลป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ
ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ผู้เรียบเรียง รุ่งฤดี จิณณวาโส และ ภัทราพร พูลสวัสดิ์

จัดทำโดยหน่วยแนะแนวและปรึกษาปัญหาสุขภาพ โทร.0-2201-2520-1

ขอบคุณข้อมูล จาก http://ramaclinic.ra.mahidol.ac.th/main/?q=node/75

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ