อาการป่วยที่พบเห็นได้บ่อยพอๆ กับการเป็นหวัด ไม่สบาย มีไข้ นั่นก็คือ อาการท้องเสีย ท้องร่วง หรือบางรายอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย หลายคนอาจคิดแค่ว่าเป็นอาการอาหารเป็นพิษ แล้วถามไถ่กันเพียงว่า “ไปทานอะไรมา ทานอาหารทะเลที่ไม่สะอาดมาหรือเปล่า” ซึ่งก็ไม่ใช่การคาดคะเนที่ผิดสักทีเดียว แต่นอกเหนือไปจากอาหารเป็นพิษแล้ว ยังอาจมีอีกโรคหนึ่งที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จัก นั่นคือ โรคหวัดลงกระเพาะอาหาร หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “โนโรไวรัส”
“โนโรไวรัส” คืออะไร?
โนโรไวรัส เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อจากคนสู่คน สามารถติดต่อได้ง่ายโดยสัมผัสทางอาหาร น้ำดื่ม และติดต่อทางอากาศ การหายใจได้ เช่น การหายใจใกล้กับผู้ป่วยที่อาเจียน การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงไม่สุก เช่น อาหารทะเล ผัก ผลไม้สดที่ล้างไม่สะอาด รวมถึงการสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง หรือสิ่งของที่มีเชื้ออยู่
เชื้อโนโรไวรัส พบว่ามีการระบาดในช่วงฤดูหนาว และที่ทำให้เชื้อนี้แพร่กระจายได้ง่าย และรุนแรง เพราะเป็นเชื้อที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ทนความร้อนได้มากถึง 60 องศาเซลเซียส ทนต่อน้ำยาฆ่าเชื้อ และอยู่รอดบนผิววัตถุต่างๆ ได้นานหลายวัน
ใครที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโนโรไวรัส?
เมื่อการติดต่อของเชื้อโนโรไวรัสมาจากการสัมผัสอาหาร น้ำดื่ม และอากาศ ดังนั้นเด็กเล็กที่ชอบเอามือเข้าปาก และอาจไม่ระมัดระวังในเรื่องของความสะอาดของอาหารมากพอ จึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโนโรไวรัสมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กๆ ในสถานศึกษา และโรงเรียนต่างๆ แต่ผู้ใหญ่ทั่วไปก็สามารถติดเชื้อได้เช่นกัน หากสัมผัสอาหารด้วยมือที่หยิบจับอาหารที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อน หรือหายใจใกล้กับผู้ป่วยที่อาเจียน เป็นต้น
อาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัส
เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะก่อให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหาร มีระยะฟักตัวสั้น 12-48 ชั่วโมง หลังรับเชื้อ จึงมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารเป็นพิษ มีอาการคล้ายกัน คือ อาเจียนรุนแรง ปวดมวนท้อง ท้องเสีย ไข้ต่ำๆ หากมีอาการรุนแรงในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ อาจก่อให้เกิดการขาดน้ำได้
นอกจากนี้เชื้อไวรัสยังอาศัยอยู่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น และทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเกิดความผิดปกติของการดูดซึมไขมัน และน้ำตาลของลำไส้เล็ก
หากผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำจากการถ่ายท้อง ควรดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่ หรืออาจให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
อันตรายของโนโรไวรัส
อาการขาดน้ำจากท้องร่วง ถือว่าเป็นอาการที่รุนแรงกว่าที่ใครหลายคนคิด เพราะอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโนโรไวรัสเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ผู้ติดเชื้อโนโรไวรัสเสี่ยงมีอาการหนักถึงชีวิต ได้แก่ ผู้ป่วยที่พบว่ามีอุจจาระมีเลือดปน ผู้สูงอายุ หรือผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัวชนิดรุนแรง เช่น โรคไต ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่วมกับอาการท้องเสีย และอาเจียน รวมถึงผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสเป็นเวลานาน มีอาการอุจจาระร่วงนานนับเดือน อาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
วิธีรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโนโรไวรัส
โนโรไวรัส ไม่มียารักษาโดยตรง แต่สามารถรักษาตามอาการได้ เช่น หากมีอาการอาเจียน ให้ยาแก้อาเจียน ถ้าถ่ายมาก ขาดน้ำ ให้สารละลายเกลือแร่ หรือน้ำเกลือ ดังนั้นการให้ยาปฏิชีวนะจึงไม่ได้เป็นประโยชน์ในการรักษาการติดเชื้อโนโรไวรัส
วิธีป้องกันการติดเชื้อโนโรไวรัส
ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด หลีกเลี่ยงน้ำ และอาหารที่ไม่สะอาด ควรล้างมือด้วยสบู่ ถูให้ทั่วนาน 15 วินาที ก่อนล้างมือด้วยน้ำสะอาด และผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำอาหารให้ผู้อื่นรับประทาน หรือใช้หลักการ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” เพื่อสุขอนามัยที่ดีของตัวผู้ป่วยเอง และคนรอบข้าง และเพื่อเป็นการหยุดการแพร่เชื้อจากคนสู่คนต่อไป