รายการประจำทุกวันอังคารเว้นอังคารของกลุ่ม CARE คิด เคลื่อน ไทย มักได้ “Tony Woodsome” หรือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยมาร่วมแสดงทรรศนะเป็นประจำในช่วงกว่าสามเดือนที่ผ่านมา
หลายครั้งหลายหนที่อดีตนายกฯ ทุ่มเทพูดถึงการบริหารประเทศในสภาวะวิกฤตในมิติของการสื่อสารภาครัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ ครั้งนี้ โทนี กลับมาพูดเรื่องเดิมกับช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมา จากประเด็นการ “กึ่งล็อกดาวน์” กรุงเทพฯ ที่ประกาศออกมาในช่วงดึก ไปจนถึงการสั่งปิดแคมป์คนงานโดยไร้มาตรการเยียวยา
“รวมอำนาจไว้ที่นายก แต่การสื่อสารจากนายกฯ กลับไม่ชัดเจน”
โทนีถามกลับไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าเหตุใดจึงปล่อยให้การสื่อสารทุกวันนี้สร้างความสับสนให้ประชาชนสูงเช่นนี้ ภาวะดังที่สังคมเกิดความสับสน ผู้คนไม่สามารถเตรียมแผนรับมือได้ แม้ทุกคนจะพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมาตลอด
ในอีกมิติหนึ่ง การบริหารประเทศด้วยการรวมศูนย์ตามฉบับ พล.อ.ประยุทธ์ ก็นับว่าเป็นกลยุทธ์โลกเก่าและปัจจัยสำคัญอยู่ที่ “การต้องหาข้อยุติให้ได้ ดักปัญหาล่วงหน้า ไม่ใช่เล่นวันต่อวัน” ขณะเดียวกัน ทุกวันนี้ประเด็นวัคซีนก็ยังเป็นมิติลี้ลับของชาติ
“ความไม่ชัดเจนของบ้านเมืองเรามันสูงมาก โดยเฉพาะท่ามกลางวิกฤตนี้”
เมื่อกลับมาที่ภาพใหญ่ของประเทศ อดีตนายกฯ วิจารณ์สารพัดมาตรการที่ออกมาจากฝั่งรัฐบาลว่าเป็นไปจาก “ความไม่รู้จริง” และไร้ซึ่งการศึกษาผลกระทบอย่างแท้จริง
ประการแรกที่อดีตนายกฯ ระบุคือมาตรการสุ่มตรวจที่ยังน้อยเกินไปทำให้ไม่สามารถระบุยอดการติดเชื้อที่แท้จริงได้ เมื่อไม่ทราบความเสี่ยงที่แท้จริง จึงไม่อาจเป็นไปได้ที่จะมีมาตรการแก้ไขได้มีประสิทธิภาพ
ในประเด็นเฉพาะนี้ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสริมว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันยังนับว่าต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะการตรวจเชิงรุกต่ำเกินไป ซึ่งตนเองในฐานะแพทย์ต้องนับว่าเป็นกังวลมาก
นอกจากนี้ มาตรการหลายอย่างที่ไทยทำเป็นการเลียนแบบต่างประเทศโดยไม่หันมามองถึงศักยภาพของการเงินการคลังในประเทศ ดร.ทักษิณ อธิบายว่า “เราเป็นประเทศกำลังพัฒนา อย่าเลียนแบบประเทศพัฒนาแล้ว เราไม่มีเงิน เราไม่อยู่ในฐานะนั้น” ส่วนปัจจัยที่ผลักดันให้ประเทศเดินมาถึงจุดนี้เป็นเพราะความไม่รู้จริงของผู้สั่งการ
“รัฐบาลอยู่บนความไม่รู้มากกว่าความรู้ เลยจะสั่งแบบคนรู้ไม่จริง”
การสั่งปิดแคมป์คนงานข้ามชาตินับเป็นตัวอย่างการสั่งงานแบบไม่รู้จริงมากที่สุด เนื่องจากเป็นการสั่งปิดโดยที่ไม่ประเมินสถานการณ์ ความเสี่ยง ผลกระทบ ไปจนถึงแนวทางการเยียวยา รูปแบบสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการเหวี่ยงแหซึ่ง “บางอย่างมันคุ้ม บางอย่างขาดทุนมโหฬาร”
“ไม่รู้อะไรก็เหวี่ยงแหไว้ก่อน บางอย่างมันคุ้ม บางอย่างมันขาดทุนมโหฬาร”
หนทางฟื้นประเทศ
เมื่อมองไปสู่การหาทางออกให้ประเทศไทย ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะกลับไปยังปริศนาวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีคำถามสำคัญคือเหตุใดจึงสั่งแค่สองแบรนด์อย่างซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าเท่านั้น ขณะที่วัคซีนทางเลือกอย่างไฟเซอร์ที่ไม่เพียงไม่ทราบชัดว่าเมื่อไหร่จะเข้ามา ยังไม่มีความชัดเจนว่าประชาชนจะต้องควักเงินจ่ายเองอย่างโมเดอร์นาหรือไม่
“เรามีโรงงานผลิตแอสตร้าฯ ในประเทศไทยนะ แต่รับบริจาคต่างหากด้วยนะ”
ปัจจุบัน รัฐบาลก็เพิ่งกู้เงินเพิ่มไป ดร.ทักษิณ จึงแนะว่าเหตุใดจึงไม่ไปทุ่มเทใช้เงินตรงนั้นสั่งซื้อวัคซีคเข้ามาให้ได้อย่างพอเพียง เพราะเงื่อนไขการอยู่กับเชื้อไวรัสชนิดนี้คือต้องมีความรู้และวัคซีนเพื่อให้อยู่ได้ไปในระยะยาว
ดร.ทักษิณ ชี้ว่า การสุ่มตรวจเชิงรุก การฉีดวัคซีนทั่วถึง จะเป็นอาวุธสำคัญเบื้องต้น ถ้าสองตัวนี้ยังไม่รู้เรื่อง มันเจ๊งหมด ซึ่งหากเศรษฐกิจพังต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว แล้ว “เราจะเอายังไงกับเศรษฐกิจที่คนกำลังตายผ่อนส่ง”
“ถ้าจะล็อกดาวน์แบบต่างชาติ เรามีปัญญาดูแลเขาไหม ถ้าไม่มีปัญญาออกกติกาดีไหม อย่าเหวี่ยงแหไปเรื่อยๆ มันพังทีละแถบ ผลสุดท้ายมันพังทั้งประเทศ”
ประเทศไทยที่สูญเสียโอกาสในการต้อนรับนักท่องเที่ยวไม่ได้ส่งผลกระทบแค่กับแรงงานในภาคบริการเท่านั้น แต่ยังส่งผลร้ายไปถึงฟากเกษตรกรที่ขาดนักท่องเที่ยวเข้ามาบริโภคสินค้าเกษตรในประเทศจำนวนหลายสิบล้านคน
ดร.ทักษิณ สรุปสภาพการบริหารประเทศสุดท้ายว่า “รัฐบาลไม่ซีเรียสกับการแก้ปัญหา แต่ซีเรียสกับการสั่งการ” ทั้งๆ ที่ กฎหมาย, ทหาร หรือตำรวจ ไม่มีฝั่งใดสามารถรักษาโรคและฟื้นเศรษฐกิจประเทศได้ทั้งสิ้น