โซเชียลแชร์ภาพ ทีมแพทย์ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้ชาวบ้าน ลำบากแค่ไหนต้องไปให้ถึง

Home » โซเชียลแชร์ภาพ ทีมแพทย์ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้ชาวบ้าน ลำบากแค่ไหนต้องไปให้ถึง

โซเชียลแชร์ภาพ ทีมแพทย์ลงพื้นที่ฉีดวัคซีนให้ชาวบ้าน เจอถนนลูกรังเป็นดินโคลน รถเข้าไม่ได้ แต่ลำบากแค่ไหนต้องไปให้ถึง

เฟซบุ๊ก สสอ. หล่มเก่า โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า “16 กันยายน 2564 07.30 น. ศปก.คกก.คร.อำเภอหล่มเก่า และ คคก.บริหารวัคซีนป้องกัน Covid-19 อ.หล่มเก่า โดยคณะทำงาน พอ.สว.อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ออกปฏิบัติงานหน่วยแพทย์ พอ.สว.บูรณาการหน่วยฉีดวัคซีนพระราชทาน Sinopharm ให้กับประชาชน เป้าหมาย

  • กลุ่มผู้พิการ
  • กลุ่มผู้ด้อยโอกาส/ชุมชนแออัด
  • กลุ่มผู้สูงอายุ70ปีขึ้นไป/ผู้ป่วยติดเตียง/กลุ่มโรคเรื้อรัง
  • พระ/นักบวช
  • ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบนัดของวัคซีนเข็ม2

ในเขตพื้นที่ -หมู่ที่ 17 บ้านนาสะอุ้ง ต.วังบาล -หมู่ที่ 2 บ้านสักง่า ต.ศิลา และเข็มที่ 1 เขต ต.หล่มเก่า ,ต.บ้านเนิน,ต.นาเกาะ,ต.นาแซง ,ต.หินฮาว และเขตรับผิดชอบ รพ.สต.อุ่มกะทาด ต.ศิลา อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์”

โดยภาพดังกล่าวเป็นการลงพื้นที่ของทีมแพทย์ และเจ้าหน้าที่ พอ.สว.อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่นำวัคซีนซิโนฟาร์มพระราชทาน จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในพระราชานุเคราะห์จาก ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ องค์ประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี (พอ.สว.) และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ฯ ซึ่งทรงห่วงใยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งทรงเล็งเห็นความสำคัญของการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของโรคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการช่วยเหลือราษฎรผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในทุกภูมิภาค ให้สามารถเข้าถึงวัคซีนโดยเร็ว ผ่านหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.)

สำหรับ พื้นที่ หมู่ที่ 17 บ้านนาสะอุ้ง ต.วังบาล และ พื้นที่ หมู่ที่ 7 บ้านสักง่า ต.ศิลา อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ นั้น ถือเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล และอยู่ในถิ่นทุรกันดาร โดยเฉพาะการเดินทางเข้า-ออกหมู่บ้านในช่วงหน้าฝน นั้นเป็นไปด้วยความลำบาก ส่วนใหญ่ชาวบ้าน จะต้องใช้รถเพื่อการเกษตรในการสัญจร ส่วนรถยนต์ทั่วไปนั้น ไม่สามารถจะเดินทางเข้าออก ทั้ง 2 หมู่บ้านได้ เนื่องจากเส้นทางเข้าหมู่บ้านเป็นทางดิน และมีสภาพเป็นโคลน เมื่อถึงฤดูฝน จึงเป็นอุปสรรคในการเดินทางเข้าและออก ซึ่งจากในภาพที่ปรากฏ เจ้าหน้าที่ต้องดั้นด้น ทั้งการเดินเท้า ทั้งต้องนั่งรถเพื่อการเกษตรของชาวบ้าน เพื่อเดินทางเข้าพื้นที่

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ