ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากแสดงความไม่พอใจต่อคลิปของยูทูบเบอร์ 3 คน จนเป็นกระแสเมื่อวันจันทร์ (19 เม.ย.) จากการกล่าวในคลิปว่าผู้ชายไม่ควรแต่งเป็นผู้หญิง แม้โลกยุคปัจจุบันและสังคมไทยเปิดกว้างต่อกลุ่มเพศหลากหลาย (LGBTQ+) มากกว่าอดีต
ยูทูบเบอร์ 3 คนนี้ กล่าวในคลิปดังกล่าวว่า พวกตนเปิดให้ผู้ที่ติดตามอินสตาแกรมถามคำถามเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ และพวกตนจะคัดเลือกมาตอบ ซึ่งในคลิปดังกล่าว พวกตนโทรศัพท์ไปหาเจ้าของคำถามที่ถูกคัดเลือก ซึ่งสายที่ 2 ของรายการนี้ ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเป็นคนจากกลุ่มเพศหลากหลาย ที่ถามว่าจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าผู้หญิงอย่างไรให้เหมาะสมกับรูปร่างที่ค่อนข้างใหญ่ของตน
พลั้งปาก “ดูผู้ช้ายผู้ชาย ไม่น่าจะใส่เป็นผู้หญิงได้”
เหตุนี้ทั้ง 3 คนจึงขออนุญาตดูรูปในอินสตาแกรมของผู้ที่ได้รับคัดเลือก ซึ่งคนขวาและคนกลาง มองว่าแต่งตัวออกมาสวยกว่าที่คิดไว้ จากนั้นคนขวาให้คำแนะนำว่าควรเลือกเสื้อผ้าแนวสตรีท ที่ดูเข้าได้กับทุกเพศ แต่คนซ้ายแย้งว่าเจ้าของคำถามอาจจะต้องการแต่งกายให้แนบเนียนกับผู้หญิงมากที่สุด
“คืออยากได้แบบเนียนนีใช่แมะ แต่เราว่าแบบ… คือดูจากรูปแล้วอะ – ดูแบบผู้ช้ายผู้ชายอะ เออมันแบบดูไม่น่าจะใส่เป็นผู้หญิงได้รึเปล่า (หัวเราะ)” คนซ้าย กล่าว
ผู้ได้รับคัดเลือก ถามต่อไปว่าตนเหมาะกับการสวมเดรสหรือไม่ คนซ้ายจึงโบกมือและตอบว่า “หยุด เดรสไม่ได้ เดรสคือปริจริงๆ เต่อด้วย ไม่อย่างนั้นแบบ เธอต้องไปซื้อเสื้อผ้าคนอ้วนไรเงี้ย” ขณะนั้นคนกลางที่นั่งอยู่ตรงกลางแสดงสีหน้าอึ้งกับคำตอบ
“ถึงแบบอะ พูดตรงๆ ว่าแบบว่าสมัยนี้แบบ ‘เพศทางเลือก’ อาจจะเป็นอะไรที่ดูรับได้ อะไรอย่างงี้ใช่ป้ะ แต่จริงๆ แล้วแบบการที่ผู้ชายๆ มาแต่งหญิงเงี้ย มันก็ไม่ได้อยู่ดี ถ้าแกไม่เชื่อลองใส่เดรสแบบที่แกอยากใส่ สีชมพูไปเลยอย่างเงี้ย ติดกิ๊บด้วยอะ ละก็เดินห้าง ถ้าไม่มีใครมองแก แกมาตบหน้าฉันเลยตรงนี้” คนซ้าย กล่าว
คำพูดนี้ได้รับการวิจารณ์จากเพจเฟซบุ๊กหลายเพจ และแม้แต่ในช่องยูทูบต้นคลิปเอง ซึ่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกล่าวถึงในหลายประเด็น ตั้งแต่การเลือกใช้คำว่า “เพศทางเลือก” แทนที่จะเป็นกลุ่มเพศหลากหลายหรือคำอื่นๆ ประเด็นเกี่ยวกับแฟชั่น ที่ไม่มีเพศ ทุกคนสามารถใส่เสื้อผ้าของทุกเพศได้ เรื่อยไปจนถึงประเด็นเกี่ยวกับทัศนคติต่อคนเพศหลากหลายของยูทูบเบอร์รายดังกล่าว
ละครส่งอาจารย์?
ต่อมามีผู้แจ้งว่า ผู้ทำคลิปนี้ระบุว่าคลิปดังกล่าวเป็นเพียงการแสดง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ เท่านั้น เพราะเมื่อเข้าไปดูในอินสตาแกรมที่ปรากฏในคลิป พบว่ารูปแรกที่ทุกคนโพสต์คือเดือน มี.ค. และมียอดกดติดตามน้อยมาก จึงดูรู้ว่าเป็นบัญชีที่สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะกิจ
อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้แสดงความเห็นว่า ถึงจะเป็นละครจริง แต่ไม่มีเรื่องอื่นให้แสดงแล้วอย่างนั้นหรือ ประเด็นของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่าคลิปนี้จะเป็นละครหรือไม่ แต่ประเด็นอยู่ที่ทัศนคติของผู้จัดทำคลิปและความเหมาะสมที่จะเผยแพร่เนื้อหาลักษณะดังกล่าวในโลกออนไลน์
กระแสวิจารณ์นี้ส่งผลให้ยอดผู้ชมคลิปเมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. วันจันทร์ (19 เม.ย.) ที่ราว 26,000 ครั้ง เพิ่มมาอยู่ที่ 88,000 ครั้งเมื่อเวลา 19.00 น. ของวันเดียวกัน