โฆษก ตร.ชี้แจงเหตุรับ “ผู้กองแคท” เป็นตำรวจผ่านหลักสูตร กอส. และเลื่อนยศเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ยังไม่มีคำสั่งคาดโทษทางวินัย เหตุโพสต์รูปภาพที่ไม่เหมาะสม พร้อมระบุตำรวจชั้นผู้น้อยมีโอกาสเลื่อนเป็นสัญญาบัตรได้
พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจง ร้อยตำรวจเอกหญิงอาทิติยา เบ็ญจะปัก รองสารวัตร กลุ่มงานวิชาการและงานสารบรรณ สำนักงานเลขานุการตำรวจแห่งชาติ เลื่อนขึ้นตำแหน่งอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ว่าการเข้าเป็นตำรวจโดยผ่านวิธีการคัดเลือกตามหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนเข้ามาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร หรือ กอส. เป็นการเปิดรับจากเลขานุการตำรวจแห่งชาติ มีตำแหน่งว่าง คือ ตำแหน่งพิธีกรในงานสำคัญ จึงเปิดรับสมัครโดยผ่านการอนุมัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ที่ผ่านหลักเกณฑ์เข้ามาสมัคร โดยบรรจุเป็นยศ สิบตำรวจตรีก่อน จากนั้นไปอบรม กอส. จึงเลื่อนขึ้นเป็น ร้อยตำรวจตรี
สำหรับประเด็นการเลื่อนยศได้เร็วนั้น ชี้แจงว่า จากยศร้อยตำรวจตรี เลื่อนเป็นร้อยตำรวจโท โดยการใช้วุฒิปริญญาตรีเทียบ ใช้เวลา 1 ปี ส่วนยศร้อยตำรวจโท เลื่อนเป็นร้อยตำรวจเอก ใช้เวลาประมาณ 3 ปี ส่วนการใช้วุฒิปริญญาโทและปริญญาเอกเทียบ ในยศร้อยตำรวจตรี ขึ้นร้อยตำรวจโท ใช้เวลา 1 ปี และครองยศอีก 1 ปี จะได้ขึ้นร้อยตำรวจเอก โดยการอบรมหลักสูตร กอส. ในรุ่นเดียวกับร้อยตำรวจโทหญิง อาทิติยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดรับประมาณ 300 คน ซึ่งไม่มีใครในรุ่นที่ขึ้นยศเร็ว หรือช้ากว่าใคร เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาและหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งในหน่วยงานเดียวกันนั้นได้ขออนุมัติตำแหน่งสอบเข้า 4 ตำแหน่ง ซึ่งหน่วยงานอื่นที่มีตำแหน่งว่าง ก็สามารถทำเรื่องร้องขอมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ และก็จะต้องผ่านวิธีการสรรหาคัดเลือกมาบรรจุ
พล.ต.ท.อาชยน ยังไม่ยืนยันว่าในตำแหน่ง และคุณวุฒิของร้อยตำรวจเอกหญิงอาทิติยา จะขาดแคลนหรือไม่ แต่การเข้ามาอบรมตามหลักสูตรนั้น ก็จะต้องผ่านเข้ามาด้วยการสอบแข่งขัน เป็นทายาทของตำรวจที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ การโอนย้ายจากหน่วยงานอื่น และการคัดเลือกเข้ามา ส่วนการขาดแคลนก็เป็นอีก 1 วิธีที่จะสามารถเปิดรับบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นตำรวจได้ เช่น ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ
สำหรับการโพสต์ข้อความ และรูปภาพของร้อยตำรวจเอกหญิงอาทิติยา นั้นจะเข้าข่ายผิดระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือไม่นั้น พล.ต.ท.อาชยน กล่าวว่า คำสั่งไม่ได้ห้ามให้ตำรวจเล่นสื่อสังคมออนไลน์ แต่ตำรวจต้องมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ และดูเรื่องความเหมาะสมในการโพสต์ข้อความหรือรูปภาพตัวเองลงในสื่อสังคมออนไลน์ และไม่ควรทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ซึ่งผู้บังคับบัญชาอาจจะมีการตักเตือน หรือลงโทษทางวินัยได้ แต่กรณีของร้อยตำรวจโทหญิงอาทิติยา ยังไม่มีคำสั่งลงโทษทางวินัย
สำหรับหลักสูตร กอส. มีกำหนดการอบรมประมาณ 1 ปี รุ่นละประมาณ 350 คน โดยการรับบุคคลภายนอกเข้ามาสอบแข่งขัน แต่หากมีจำนวนคนสมัครมากกว่าจำนวนที่เปิดรับ ก็จะทบยอดไปในปีถัดไป
นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจชั้นประทวนผู้มีวุฒิปริญญาตรีขึ้นไป เพื่อแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร หรือ กอน. เพื่อเปิดโอกาสให้ตำรวจชั้นประทวนมาสอบแข่งขันบรรจุเป็นตำรวจสัญญาบัตร และยืนยันว่ามีการเปิดโอกาสให้ตำรวจชั้นประทวนที่มีความรู้ ความสามารถ วุฒิการศึกษาสอบเลื่อนขั้นได้ตามหลักเกณฑ์ โดยในปีนี้จะเปิดคัดเลือกตำรวจชั้นประทวนเลื่อนขึ้นเป็นสัญญาบัตรประมาร 900 นาย
พล.ต.ท.อาชยน ยอมรับว่า สำหรับนักเรียนนายร้อยตำรวจที่จบการศึกษามาปีละประมาณ 200 นาย จะใช้มีความเข้มข้นในการฝึกและเป็นตำรวจสายอาชีพ เป็นตัวหลักในการทำหน้าที่ทั้งสืบสวน สอบสวน จราจร แต่อาจไม่เพียงพอจึงต้องเปิดให้สมัครในหลักสูตรต่างๆ เพื่อให้มาเป็นฝ่ายอำนวยการ และงานเฉพาะทางที่มีความจำเป็นต่อตำรวจ โดยหลังจากที่พ.ร.บ.ตำรวจ ปี 2565 ออกมาบังคับใช้แล้ว หลังจากนี้ก็จะมีความชัดเจน โปร่งใส่ในการคัดเลือกตำรวจเข้ามารับราชการมากขึ้น
ส่วนการรับบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นตำรวจแล้วพบว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมหลายรูปแบบนั้น พลตำรวจโทอาชยน กล่าวว่า ในช่วงที่รับสมัครนั้นบุคคลดังกล่าว อาจจะมีคุณวุฒิ คุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์จึงรับได้ แต่เมื่อเข้ามาแล้วได้กระทำความผิด ก็จะต้องดำเนินการลงโทษตามขั้นตอน ซึ่งหลังจากนี้ก็จะต้องมีความรัดกุมในการตรวจสอบประวัติให้มากยิ่งขึ้น
ขณะที่มีกลุ่มคนที่มีนามสกุลดัง เข้ามาเป็นตำรวจโดยผ่านการอบรม กอส.นั้น ก็เห็นว่าหลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ดีที่จะให้ผู้ที่เข้ามาเป็นตำรวจซึมซับความเป็นตำรวจ แต่หากการกระทำที่ไม่ดีนั้นก็เป็นเรื่องเฉพาะบุคคลไป ระบบนี้ก็จะเป็นการสกรีนคนไม่ดีให้ออกไปได้