องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) แสดง “ความกังวลอย่างยิ่ง”ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในทวีปยุโรป ที่กำลังเผชิญการระบาดระลอกใหม่ในหลายประเทศ
นพ.ฮานส์ คลูเกอ ผู้อำนวยการ WHO ประจำภาคพื้นยุโรป ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีโดยเตือนว่า ยุโรปอาจมีผู้เสียชีวิตจากโควิดเพิ่มอีก 5 แสนรายภายในเดือน มี.ค.ปีหน้า หากยังไม่ดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน
นพ. คลูเกอ ชี้ว่า การบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ เช่น การสวมหน้ากากอนามัยอาจช่วยบรรเทาการระบาดได้ในทันที
คำเตือนนี้มีขึ้นหลังจากหลายประเทศรายงานยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 พุ่งสูงทำสถิติใหม่ ตลอดจนมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั้งบางส่วนและทั่วประเทศ
- ออสเตรียจำกัดเสรีภาพผู้ไม่ฉีดวัคซีนโควิดขณะยอดติดเชื้อพุ่ง
- ยุโรปวิกฤตเจอโควิดระลอก 4 เยอรมนีหวั่นมีผู้เสียชีวิตนับแสน
- มีกว่า 50 ประเทศที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้าขององค์การอนามัยโลก
นพ. คลูเกอ อธิบายว่า ปัจจัยที่ทำให้ยอดการระบาดเพิ่มสูงขึ้นในขณะนี้มีด้วยกันหลายอย่าง เช่น การเข้าสู่ฤดูหนาว การให้วัคซีนต้านโควิดที่ยังไม่ครอบคลุม และการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา
เขาเรียกร้องให้เร่งฉีดวัคซีนแก่ประชากรให้มากขึ้น และบังคับใช้มาตรการด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน และการใช้การรักษาวิธีใหม่ ๆ เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด
“โควิด-19 กลายเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตในภูมิภาคเราอีกครั้ง” เขากล่าวกับบีบีซี และว่า “เรารู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร” เพื่อต่อสู้กับโรคนี้
นพ. คลูเกอ ระบุว่า มาตรการบังคับฉีดวัคซีนควรเป็น “ทางออกสุดท้าย” แต่ชี้ว่าขณะนี้อาจเป็น “เวลาเหมาะที่สุด” ในการอภิปรายเรื่องนี้ทั้งในเชิงของกฎหมายและสังคม
เขากล่าวว่า “ก่อนหน้านี้มีวิธีอื่น ๆ เช่น โควิดพาส” ซึ่งเป็นเอกสารรับรองการปลอดโรค ซึ่งไม่ใช่เครื่องมือจำกัดเสรีภาพ แต่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้คนมีอิสระ
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ออสเตรียกลายเป็นชาติแรกในยุโรปที่ประกาศว่า การฉีดวัคซีนต้านโควิดจะเป็นข้อกำหนดทางกฎหมาย โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ.ปีหน้า
คำประกาศนี้ มีขึ้นพร้อมการประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ในวันจันทร์ 22 พ.ย.เป็นระยะเวลา 20 วัน โดยจะประเมินผลหลัง 10 วันแรก หลังจากยอดผู้ติดเชื้อในออสเตรียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ แชเลนแบร์ก ของออสเตรีย ระบุว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากในสังคมเสรีนิยมอย่างออสเตรีย แต่การฉีดวัคซีนเป็น “ตั๋วสู่ทางออกเพียงอย่างเดียวที่เรามี ในการหลุดพ้นจากวงจรอันเลวร้ายนี้”
นายแชเลนแบร์ก ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า “นี่เป็นปัญหาของทั้งสังคม เพราะแม้แต่คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว หากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการรักษาในไอซียูได้เพราะหอผู้ป่วยเต็มจากพวกที่ล้มป่วยเพราะไม่ได้ฉีดวัคซีน พวกเขาก็ถือว่าได้รับผลกระทบเช่นกัน”
นอกจากนี้ หลายชาติในยุโรปยังบังคับใช้มาตรการใหม่เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด โดยสาธารณรัฐเช็ก และสโลวาเกีย ได้ประกาศมาตรการใหม่เพื่อควบคุมผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หลังจากอัตราการติดเชื้อทั่วยุโรปพุ่งทำสถิติใหม่
เมื่อคืนวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุจลาจลรุนแรงในเมืองรอตเทอร์ดาม ของเนเธอร์แลนด์ หลังจากผู้ประท้วงมาตรการควบคุมโควิดหลายร้อยคนได้แสดงความไม่พอใจรัฐบาลที่เตรียมใช้แผนควบคุมโรคเพิ่มขึ้น รวมทั้งสั่งห้ามทำกิจกรรมจุดพลุดอกไม้ไฟในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ส่วนในเยอรมนี นายเยนส์ สปาน รัฐมนตรีสาธารณสุข เรียกสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญว่า “เหตุฉุกเฉินแห่งชาติ” และไม่ตัดความเป็นไปได้ที่อาจมีการสั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศอีกครั้ง
ขณะที่ในสหราชอาณาจักร รายงานว่า มีผู้ติดโควิดรายใหม่เพิ่มอีก 44,242 คน เมื่อวันที่ 19 พ.ย.
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลระบุว่า ไม่มีแผนใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง แต่ระบุว่าอาจมีการบังคับใช้มาตรการพิเศษ หรือที่เรียกว่า “แผนการบี” เพื่อควบคุมโควิดในอังกฤษ เพื่อปกป้องสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ซึ่งอาจรวมถึงการบังคับใช้พาสปอร์ตโควิดสำหรับการเข้าแหล่งชุมนุมในอาคาร การบังคับสวมหน้ากากอนามัยในอาคารบางแห่ง และคำแนะนำให้ทำงานจากบ้าน
………
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว