โควิด-19: WHO ชี้ โอมิครอนระบาดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พบแล้วในเกือบ 80 ประเทศ

Home » โควิด-19: WHO ชี้ โอมิครอนระบาดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน พบแล้วในเกือบ 80 ประเทศ



องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกำลังแพร่ระบาดในอัตรารวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ล่าสุดพบแล้วใน 77 ประเทศ

นายเทดรอส อาดานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวในการแถลงข่าวเมื่อ 14 ธ.ค. ว่าอาจมีอีกหลายประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโอมิครอนแล้ว แต่ยังตรวจไม่พบ

ผอ.องค์การอนามัยโลกบอกด้วยว่ามาตรการต่าง ๆ ยังมีไม่เพียงพอที่จะรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้

“เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจนถึงขณะนี้ เราประเมินเชื้อไวรัสที่กำลังคุกคามเราอยู่ในขณะนี้ต่ำเกินไป แม้ว่าโอมิครอนจะไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมาก ๆ อาจจะทำให้ระบบสาธารณสุขรับไม่ไหวหากไม่ได้เตรียมความพร้อมไว้ก่อน” นายเกเบรเยซัสระบุ

โอมิครอน

Getty Images
  • โควิด : สหราชอาณาจักรเผชิญ “สถานการณ์ฉุกเฉินโอมิครอน” ระดมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
  • สธ. แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนรายแรกในไทย
  • วิธีรักษาโควิดแบบไหนให้ผลดีที่สุด
  • วัคซีนจะยังใช้ได้ผลอยู่ไหมกับเชื้อโควิดกลายพันธุ์โอไมครอน

สำหรับประเทศไทย หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ยืนยันการพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนรายแรกซึ่งเป็นชายสัญชาติอเมริกันที่เดินทางจากประเทศสเปนมาไทย จำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนก็เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 11 รายเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. โดย สธ.ระบุว่าผู้ติดเชื้อทั้งหมดมีประวัติการเดินทางไปต่างประเทศ และยังไม่พบการติดเชื้อโอมิครอนภายในประเทศ

เชื้อโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนถูกพบเป็นครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้เมื่อเดือน พ.ย. หลังจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้แต่ประธานาธิบดีไซริล รามโพซา ของแอฟริกาใต้ก็ติดโควิด-19 เช่นกัน

หลังจากนั้นหลายประเทศทั่วโลกออกประกาศห้ามผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาใต้และประเทศต่าง ๆ ในแถบแอฟริกาตอนใต้เข้าประเทศ แต่ก็ยังไม่อาจยับยั้งการแพร่ระบาดของโอมิครอนได้

นายเกเบรเยซัสยังได้แสดงความกังวลเรื่องการกระจายวัคซีนที่ไม่ทั่วถึงหลังจากที่หลายประเทศหันมาเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ประชาชนของตัวเองเพื่อรับมือกับการระบาดของโอมิครอน

โอมิครอน

BBC

การศึกษาของบริษัทไฟเซอร์/บิออนเทคที่เผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ชี้ว่าวัคซีนของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนได้ไม่ดีเท่ากับการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งนั้น แต่ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มหรือวัคซีนเข็มที่ 3

ผอ.องค์การอนามัยโลกกล่วาว่าวัคซีนเข็มกระตุ้น “มีบทบาทสำคัญ” ในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ก็จริง แต่ยังมีคำถามว่าใครควรได้รับวัคซีนก่อน

“การจัดลำดับเป็นเรื่องสำคัญ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่ำในการติดเชื้อหรือการเสียชีวิต ย่อมจะทำให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงและยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มแรกตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากปริมาณวัคซีนมีจำกัด” ผอ.องค์การอนามัยโลกเตือน

ด้านนายบรูซ เอลเวิร์ด ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกไม่เห็นด้วยกับการด่วนสรุปว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนไม่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยรุนแรง

“เราควรเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อันตรายอย่างยิ่งยวด”

ศบค. ตั้งเป้าฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้ 23 ล้านโดส ภายใน มี.ค. 2565

สำหรับแผนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของไทยนั้น ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ได้เห็นชอบแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ภายในเดือน ธ.ค. 2564 โดยให้บริการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 6.6 ล้านโดส แก่ประชาชน แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 3.1 ล้านโดส เข็มที่ 2 จำนวน 2.3 ล้านโดส และเข็มที่ 3 จำนวน 1.2 ล้านโดส

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ศบค. ตั้งเป้าฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพิ่มอย่างน้อย 23 ล้านโดส ภายในเดือน มี.ค. 2565 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันแก่ประชาชน พร้อมระบุด้วยว่าการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะเป็นไปตามแนวทางใหม่ตามคำแนะนำจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริม โดยประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า สามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา โดยเว้นระยะห่างตั้งแต่ 3-6 เดือนขึ้นไป หลังเข็มที่ 2, ประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 และ 2 เป็นไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา สามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา โดยเว้นระยะห่างตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ส่วนประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ เข็มที่ 1 ซิแวคหรือซิโนฟาร์ม เข็มที่ 2 แอสตร้าเซนเนก้า สามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ที่ประชุม ศบค. ยังเห็นชอบแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ของไทยในปี 2565 โดยรัฐบาลตั้งเป้าจะจัดหาวัคซีนจำนวน 120 ล้านโดส จากบริษัทผู้ผลิตหลายบริษัทด้วยกัน อาทิ แอสตร้าเซนเนก้า, ไฟเซอร์, วัคซีนชนิดโปรตีน ซับยูนิต เพื่อให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเพียงพอและครอบคลุมอย่างน้อย 80% ของประชากรทุกคนในประเทศไทย

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ยังขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือในการป้องกันโควิด-19 อย่างดี ทำให้สถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้นด้วย

ปฏิทินฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

BBC

สำรวจมาตรการรับมือ “โอมิครอน” ในประเทศต่าง ๆ

สหรัฐอเมริกา: ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สะสมในสหรัฐอเมริกาทะลุ 8 แสนราย นับเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคระบาดที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ

สหราชอาณาจักร: นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ประกาศว่าประเทศกำลังเผชิญกับ “สถานการณ์ฉุกเฉินโอมิครอน” และยกระดับเตือนภัยของโรคเป็นระดับ 4 ซึ่งเกือบจะรุนแรงสูงสุดจากการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้ในลักษณะทวีคูณ และมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1 คน จากเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน

อิตาลี: ขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากเดิมที่จะสิ้นสุดิสิ้นเดือน ธ.ค. ไปจนถึงวันที่ 22 มี.ค. 2565 จากความกังวลเรื่องการระบาดของโอมิครอน เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจในการจำกัดการเดินทางและการรวมกลุ่มของผู้คน

เนเธอร์แลนด์: รัฐบาลประกาศปิดโรงเรียนก่อนวันหยุดยาวคริสต์มาสหนึ่งสัปดาห์เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

นอร์เวย์: ประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบาร์และร้านอาหาร

ไทย: ศบค. ปรับมาตรการจัดงานรื่นเริงช่วงปีใหม่ โดยอนุญาตให้บริโภคสุราในคืนวันที่ 31 ธ.ค. 2564- 1 ม.ค. 2565 ในร้านอาหารที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก แต่ผู้ประกอบการสามารถเปิดบริการได้ไม่เกิน 01.00 น.

งานปีใหม่ที่มีผู้ร่วมงานตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป ผู้จัดงาน พนักงาน นักร้องนักดนตรี ต้องมีหลักฐานการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ คัดกรองด้วยการตรวจ ATK ก่อนจัดงานภายใน 72 ชม. ส่วนผู้ร่วมงานต้องลงทะเบียนแสดงหลักฐานรับวัคซีนครบเช่นกัน และมีผลตรวจ ATK เป็นลบก่อนเข้างานภายใน 72 ช.ม.

………………………

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ