- อาภานา อลูรี
- ผู้สื่อข่าวบีบีซี
ราชาและปรีติ นาราซิมฮาน เริ่มเดินทางไปทั่วอินเดียตั้งแต่ช่วงต้นปี เพื่อรณรงค์ให้คนเลิกถ่มน้ำลายในที่สาธารณะ สามีภรรยาคู่นี้พูดเชิญชวนผ่านโทรโข่งจากรถที่แปะป้ายข้อความเรียกร้องให้คนเลิกถ่มน้ำลาย
ถ้าคุณเคยไปอินเดีย คุณจะเข้าใจว่าพวกเขากำลังเผชิญกับงานยากแค่ไหน ท้องถนนในอินเดียเต็มไปด้วยน้ำลาย บางทีเป็นน้ำลายหรือเสมหะเฉย ๆ แต่บางครั้งก็เป็นสีแดงน้ำหมาก บางทีเลอะเทอะบนกำแพง อาคาร และสะพานประวัติศาสตร์อย่างสะพานหาวฑา หรือสะพานหาวราห์ ในเมืองกัลกัตตาของอินเดีย
ราชาและปรีติ เริ่มการรณรงค์มาตั้งแต่ปี 2010 แล้ว ทำกิจกรรมทั้งในโลกออนไลน์และเคลื่อนไหวร่วมกับชุมชนในเขตต่าง ๆ
ปฏิกริยาที่พวกเขาต้องเผชิญมีทั้งความเฉยเมยไปจนถึงโกรธเคือง ราชาเล่าว่ามีชายคนหนึ่งบอกเขาว่า “คุณมีปัญหาอะไร” “นี่มันที่ดินของพ่อคุณเหรอ”
แต่ปรีติบอกว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายอย่างเปลี่ยนไป คนที่ถ่มน้ำลายบางคนถึงกับมาขอโทษขอโพย
“ความกลัวเรื่องการระบาดใหญ่ทำให้พวกเขาฉุกคิดขึ้นมา” ปรีติกล่าว
ประเทศที่คนถ่มน้ำลาย
นครมุมไบเคยพยายามเรียกร้องเรื่องนี้มามากแล้ว มีอาสาสมัครที่คอยมาเตือนคนไม่ให้ถ่มน้ำลาย ทิ้งขยะ และปัสสาวะในที่สาธารณะ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็แทบไม่มีใครใส่ใจ
แต่แล้วก็เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งแพร่ระบาดทางอากาศ ทางการเริ่มออกมาตรการทั้งโทษปรับไปจนกระทั่งถึงจำคุกภายใต้กฎหมายการจัดการภัยพิบัติ (Disaster Management Act) แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ยังออกมาแนะนำให้ชาวอินเดียเลิกถ่มน้ำลายในที่สาธารณะ โดยเขาบอกว่าเป็นสิ่งที่ “เรารู้กันมาตลอดว่าเป็นเรื่องผิด”
แต่ย้อนไปเมื่อปี 2016 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอินเดียเคยกล่าวในรัฐสภาว่า “ท่านผู้มีเกียรติ อินเดียเป็นประเทศที่คนถ่มน้ำลายกัน เราถ่มน้ำลายเวลาเราเบื่อ เราถ่มน้ำลายเวลาเราเหนื่อย เราถ่มน้ำลายเวลาเราโกรธ เราถ่มน้ำลายกันแบบนั้น เราถ่มน้ำลายกันทุกที่และตลอดเวลา”
และก็เป็นจริงอย่างที่รัฐมนตรีคนดังกล่าวพูด คนอินเดียถ่มน้ำลายทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นตามทางเดิน ขณะขับรถ ขี่มอเตอร์ไซค์ และรถสามล้อ
แต่นี่เป็นนิสัยเฉพาะของผู้ชายอินเดีย ซานโตช ดีไซ คอลัมนิสต์ บอกว่า ชายอินเดียรู้สึกสบาย ๆ กับร่างกายตัวเอง “และกับทุกอย่างที่ออกมาจากร่างกาย”
อุดดาลัก มูเคอร์จี จากหนังสือพิมพ์เดอะเทเลกราฟในอินเดียบอกว่า การถ่มน้ำลายเป็นการ “ทำเท่” ที่ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมความเป็นชายแบบแย่ ๆ
ราชาบอกว่าเหตุผลที่คนชอบทำเช่นนี้ในที่สาธารณะมีตั้งแต่การแสดงความรู้สึกโกรธไปจนถึงการฆ่าเวลาเฉย ๆ “หรือไม่ก็แค่เพราะพวกเขาสามารถทำได้ พวกเขารู้สึกว่ามีสิทธิที่จะทำได้”
นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าการชอบถ่มน้ำลายมีที่มาจากแนวคิดฮินดูและเรื่องชนชั้นวรรณะเรื่องการรักษาความบริสุทธิ์ของร่างกายด้วยการเอาของเสียออกจากร่างกายนอกบ้านตัวเอง
“ทัศนคติเรื่องการถ่มน้ำลายมีขอบเขตมากไปกว่าเรื่องการรักษาความสะอาด” มูเคอร์จี กล่าว “คนขับแท็กซี่เคยบอกผมว่า “วันไหนเป็นวันที่แย่ ผมก็อยากจะเอาประสบการณ์นั้นออกไปจากตัว…”
- ทำไมวิกฤตโควิดในอินเดียจึงสำคัญต่อคนทั้งโลก
- มหาราชาอินเดีย เจ้าชายผู้เสเพลหรือนักการเมืองเปี่ยมวิสัยทัศน์
- อินเดียพบผู้ติดเชื้อราดำเกือบ 9,000 ราย ซ้ำเติมผู้ป่วยที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด
- โควิด-19 : เชื้อรามิวคอร์ไมโคซิส ทำผู้ป่วยโควิดในอินเดียทุพพลภาพ
สู้กับน้ำลาย
แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นที่อินเดียเท่านั้น
ในยุโรปยุคกลาง คุณสามารถถ่มน้ำลายระหว่างรับประทานอาหารได้ แต่ขอแค่ให้ทำใต้โต๊ะ อีราสมุส นักปรัชญาชาวดัตช์ เขียนไว้ว่า การเก็บน้ำลายไว้ถือว่าไร้มารยาท ในอังกฤษ คนก็เคยถ่มน้ำลายกันบนรถรางสาธารณะ
ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาจากการระบาดของวัณโรค คนมีความรู้เรื่องการรักษาสุขอนามัยมากขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน
แต่วิทยา กริชนัน เจ้าของหนังสือ “Phantom Plague: How Tuberculosis Shaped History” ที่กำลังจะตีพิมพ์ บอกว่าอินเดียยังมีอุปสรรคอีกหลายอย่าง เขาบอกว่าการถ่มน้ำลายเป็นสิ่งที่สังคมยังยอมรับกันอยู่ เพราะคนยังเคี้ยวยาสูบ นักกีฬาถ่มน้ำลายออกกล้อง หรือในภาพยนตร์บอลลีวูดที่นักแสดงชายยังถ่มน้ำลายใส่กันเวลาสู้กัน
แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคืออินเดียยังมีระบบชั้นวรรณะอยู่ ราชาบอกว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าถึงห้องน้ำ น้ำสะอาด และระบบปะปาดี ๆ ได้เหมือนกัน
ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเตือนว่าการลงโทษคนเฉย ๆ จะไม่ช่วยอะไรหากไม่พยายามเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงมีพฤติกรรมเช่นนั้น และขณะที่การระบาดใหญ่ดำเนินมา 2 ปีแล้ว ความกระตือรือล้นที่จะเคลื่อนไหวต่อต้านพฤติกรรมแบบนี้ก็เริ่มแผ่วลงไปด้วย คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักว่าการถ่มน้ำลายเป็นปัจจัยที่ทำให้โควิด-19 ระบาด
“มันไม่เป็นไรหากเราต้องเสียเวลา เราจะพยายาม” ราชากล่าว “หากเราเปลี่ยนทัศนคติในคนแค่ 2% นั่นก็ถือว่าเราสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว”
………….
ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว