GISTDA เผยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวในภาคอีสานถูกน้ำท่วมจนส่งผลกระทบแล้วกว่า 5 แสนไร่ ที่โคราชเจอหนักสุดกว่า 2 แสนไร่ ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันยังน่าห่วงหลายจุด
วันนี้ (19 ต.ค.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า (GISTDA) เปิดเผยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมที่ระบุว่า พื้นที่ปลูกข้าวภาคอีสาน กระทบน้ำท่วมแล้วกว่า 5 แสนไร่ และยังเสี่ยงอีก 2 แสนกว่าไร่
ทั้งนี้ GISTDA เปิดภาพจากกลุ่มดาวเทียม Sentinel / radarsat/ landsat วิเคราะห์พื้นที่ปลูกข้าวบริเวณลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชี ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงวันที่ 11 – 17 ตุลาคม 2564 พบพื้นที่ปลูกข้าวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขังสูงถึง 581,882 ไร่ โดยพบในพื้นที่จังหวัด
- นครราชสีมา 209,005 ไร่
- ขอนแก่น 90,096 ไร่
- ชัยภูมิ 61,237 ไร่
- มหาสารคาม 53,248 ไร่
- ร้อยเอ็ด 66,699 ไร่
- กาฬสินธุ์ 28,422 ไร่
- บุรีรัมย์ 25,086 ไร่
- สุรินทร์ 20,261 ไร่
- ยโสธร 11,406 ไร่
- ศรีษะเกษ 7,829 ไร่
- อุบลราชธานี 7,384 ไร่ และ
- อำนาจเจริญ 1,209 ไร่
นอกจากนี้ GISTDA คาดการณ์พื้นที่ปลูกข้าวที่เสี่ยงว่าจะได้รับผลกระทบอีก 222,402 ไร่ รวมทั้งมีการใช้ดาวเทียม COSMO-SkyMed-4 ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขังในเขตพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบพื้นที่น้ำท่วมขังในบริเวณบางส่วนของ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น และ บุรีรัมย์ รวมทั้งสิ้น 343,062 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักที่ไหลบ่าเข้าท่วมในพื้นที่เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัยของประชาชน
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมของประเทศไทย ณ เวลานี้ยังคงน่าเป็นห่วงหลายจุด ทั้งเขตภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจากการวิเคราะห์ด้วยข้อมูลจากดาวเทียม Sentinel-1 ในช่วง 17–18 ตุลาคม 2564 เปรียบเทียบกับช่วง 10-11 ตุลาคม 2564 หรือ ช่วงก่อนและหลังพายุคมปาซุ พบว่าจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ มีพื้นที่น้ำท่วมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดชัยภูมิที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 73 ตร.กม. หรือ 46,000 ไร่
ทั้งนี้ ภาพรวมของทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมีพื้นที่น้ำท่วมเพิ่มขึ้นประมาณ 218 ตร.กม. หรือ 136,000 ไร่ ณ วันที่ 18 ต.ค. 64 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของพายุคมปาซุ ที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก ส่งผลให้หลายพื้นที่น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และกระทบต่อพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ทำการเกษตร พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำ และที่อยู่อาศัยบางส่วน ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงประชาชนในพื้นที่ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ข้อมูลภาพจากดาวเทียมเหล่านี้ GISTDA จะส่งต่อให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบและที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน การติดตาม การประเมินสถานการณ์ และการฟื้นฟูความเสียหายต่อไป
GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง และสามารถตรวจสอบพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th