นครราชสีมา-วันนี้ (30 มิถุนายน 2564) ที่ประชุมคณะกรรมโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา และคณะอนุกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) จังหวัดนครราชสีมา ได้ติดตามสถานการณ์และการดำเนินมาตรการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดกันอย่างเข้มข้น
ซึ่งวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จำนวน 3 ราย ,ต.บ้านเกาะ ต.หัวทะเล ต.จอหอ อ.เมืองนครราชสีมา รวม 3 ราย , ต.โป่งแดง อ.ขามทะเลสอ 1 ราย ,ต.หนองหว้า อ.บัวลาย 1 ราย ,ต.ประทาย อ.ประทาย 1 ราย ,ต.สำโรง ต.บ่อปลาทอง อ.ปักธงชัย รวม 4ราย ,ต.เสิงสาง อ.เสิงสาง 1 ราย , ต.สารภี อ.หนองบุญมาก 1 ราย , ดอนตะหนิน อ.บัวใหญ่ 2 ราย , ต.ปากช่อง อ.ปากช่อง 1 ราย ,ต.คลองไผ่ ต.วังโรงใหญ่ ต.หนองบัวน้อย อ.สีคิ้ว รวม 4 ราย ,ต.ทัพรั้ง อ.พระทองคำ 3 ราย และ ต.บ้านปรางค์ อ.คง 1 ราย รวมเป็นพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 26 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2564 ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 1,249 ราย รักษาหายแล้ว 963 ราย ยังรักษาตัวอยู่ 269 ราย และเสียชีวิตไป 17 ราย
ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีคลัสเตอร์ที่น่าสนใจ ต้องจับตาเป็นพิเศษในช่วงนี้ จะมีในเขต อ.เมืองนครราชสีมา “คลัสเตอร์หมู่บ้านแห่งหนึ่ง” โดยผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อเป็นครู และเชื้อได้ระบาดไปติดสามี ซึ่งทำงาน อยู่ จ.สุรินทร์ ติดเชื้อตอนเดินทางมาบ้านภรรยาที่ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 และทุกครั้งที่มาจะร่วมดื่มสังสรรค์กับเพื่อนบ้านซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 1,087 ของ จ.นครราชสีมา จากนั้น วันที่ 15 มิถุนายน 2564 เดินทางไปบ้านแม่ที่ อ.ปักธงชัย และวันที่ 16 มิถุนายน 2564 เดินทางกลับมาบ้านภรรยาและไปหาเพื่อนซึ่งเป็นผู้ป่วยรายที่ 1,048 ก่อนเดินทางกลับ จ.สุรินทร์ ซึ่งเชื้อได้ระบาดทำให้มีผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์นี้แล้ว 24 ราย
และยังมี คลัสเตอร์จุดจำหน่ายน้ำแข็ง อ.เมือง นครราชสีมา ซึ่งผู้ติดเชื้อรายที่ 1,127 ของ จ.นครราชสีมาเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 แล้วมาพักอาศัยที่ห้องพักที่ อ.สูงเนิน แล้วไปทำงานจุดจำหน่ายน้ำแข็งในวันที่ 17 มิถุนายน 2564 กับเพื่อนร่วมงาน เริ่มมีอาการป่วยวันที่ 19 มิถุนายน 2564 ตรวจพบเชื้อที่ รพ.เทพรัตน์ ก่อนถูกส่งตัวรักษาต่อที่ รพ.มหาราชนครราชสีมาในวันที่ 26 มิถุนายน 2564 จากนั้นกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยรายนี้ ก็ตรวจพบเชื้อโควิด-19 ทำให้มีผู้ป่วยในคลัสเตอร์นี้แล้ว 6 ราย
นอกจากนี้ ยังมี คลัสเตอร์ ต.ตะเคียน อ.ด่านขุนทด ซึ่งเกิดจากผู้ป่วยโควิด-19 จากพื้นที่เสี่ยงสูง กรุงเทพมหานครเดินทางมาบ้าน ที่ ม.1 ต.ตะเคียน อ.ด่านขุนทด เมื่อวันที่ 5-6 มิถุนายน 2564 แล้วเชื้อแพร่กระจายทำให้มีการติดเชื้อภายในครอบครัว และเครือญาติ รวมถึงเพื่อนร่วมงาน ที่ทำงานโรงงานใน อ.สีคิ้ว ซึ่งเบื้องต้นมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในคลัสเตอร์นี้ 8 ราย
ส่วน คลัสเตอร์ อ.เสิงสาง ยังคงต้องจับตาเช่นกัน โดยผู้ป่วยรายแรกในคลัสเตอร์นี้ พบที่ บ้าน ใน ต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง โดยมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิดที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสูง กรุงเทพมหานคร ทำให้เชื้อแพร่ระบาดในครอบครัว ก่อนแพร่กระจายไปยังเครือญาติ เพื่อนฝูง กลุ่มเด็กนักเรียนและครอบครัวของเด็กนักเรียน จนล่าสุด พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในคลัสเตอร์นี้แล้ว 24 ราย ซึ่งทีมปฏิบัติการสอบสวนโรคสาธารสุขจังหวัดฯ ได้เร่งลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดโดยเร็ว
ขณะเดียวกัน โลกโซเชียลได้มีการแชร์ข้อมูลว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกที่หมู่บ้าน ใน เขตเทศบาลนครนครราชสีมา จำนวน 15 คน และเจ้าหน้าที่ฯ ได้เข้ามารับตัวไปรักษาแล้วเมื่อวานนี้ พร้อมกับระบุว่า ไม่จำเป็นอย่าไปแถวตลาดนัดเปิดท้ายเซฟวัน ซึ่งกระแสข่าวดังกล่าวได้สร้างความตื่นกลัวให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในละแวกดังกล่าว และในเขตเทศบาลนครฯ เป็นอย่างมาก
จนล่าสุด ทาง ตลาดเซฟวันโคราช ต้องประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อมูลในเพจเฟซบุ๊ก “ตลาดเซฟวัน” โดยยืนยันว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จริง เป็นผู้ค้าในตลาดโซนประจำพาวิลเลี่ยน บริเวณ UG และคนในครอบครัว เดินทางไปสถานที่เสี่ยงกรุงเทพมหานคร รวมจำนวน 5 คน โดยเป็นเจ้าของร้าน และสามี กับลูกอีก 2 คน และลูกจ้าง 1 คน เมื่อวานนี้ (29 มิถุนายน 2564) เวลา 11.00 น. ทาง รพ.มหาราชนครราชสีมา ได้ส่งรถและเจ้าหน้าที่ฯ มารับตัวเข้ารักษาที่ รพ.เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งทางตลาดฯ ได้ดำเนินมาตรการรับมือ ด้วยการปิดทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณโซนพาวิลเลี่ยนและพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมดำเนินการให้ผู้ค้าที่มีความเสี่ยงสูง ใกล้ชิดผู้ป่วย กักตัวอยู่บ้าน 14 วัน เพื่อรอผลตรวจครั้งที่ 1-2-3 และผู้ค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ ให้แยกตัวเพื่อสังเกตอาการและให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTTA อย่างเคร่งครัด โดยเว้นระยะระหว่างบุคคล หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น , สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา , ล้างมือบ่อยๆ จัดให้มีจุดบริการเจลล้างมืออย่างทั่วถึงเพียงพอ , ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนเข้าใช้บริการ ,ตรวจหาเชื้อโควิด-19 พร้อมกับติดตั้งและใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ” ก่อนเข้า-ออกสถานที่ทุกครั้ง