แล้งสุดรอบ1,200ปี นักวิทย์เผยโลกร้อนทำอเมริกาซีกแปซิฟิกเหือดแห้ง
แล้งสุดรอบ1,200ปี – วันที่ 15 ก.พ. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ทวีปอเมริกาเหนือฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในสหรัฐอเมริกากำลังประสบกับภาวะแห้งแล้งที่สุดในรอบ 1,200 ปี โดยสาเหตุมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือโลกร้อน ที่มีพฤติกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยเร่งหลัก
ผลการศึกษาดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ Nature Climate Change พบว่า สภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯ ซีกตะวันตกระหว่างปี 2543 ถึง 2564 มีความแห้งแล้งมากที่สุดรอบ 1,200 ปี โดยความแห้งแล้งเมื่อปี 2564 นั้นรุนแรงอย่างมาก และคาดว่าจะเลวร้ายลงอีกในปีนี้
การศึกษายังพบว่าสาเหตุหลักของปรากฏการณ์ข้างต้นมาจากสภาวะโลกร้อนที่มีพฤติกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยเร่งหลัก ทำให้ความแห้งแล้งนั้นเลวร้ายลงถึงร้อยละ 72 เช่น ไอร้อนจากปฏิกิริยาสันดาปของเชื้อเพลิงฟอสซิล (ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และถ่านหิน)
ปฏิกิริยาสันดาป หรือการเผาไหม้ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณน้ำจืดในพื้นที่ซึ่งเผชิญกับภาวะแห้งแล้งอย่างหนักตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีเพียงฝนตกหนักซึ่งเป็นผลสะท้อนใหญ่จากสภาพแห้งแล้งที่ช่วยบรรเทาภาวะดังกล่าว
หนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบชัดเจนที่สุด คือ มหานครลอสแองเจลิส หรือแอลเอ ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเกิดฝนตกหนักเมื่อเดือนธ.ค. 2564 วัดปริมาณน้ำฝนได้ถึง 10 นิ้ว นับเป็นภาวะฝนตกหนักครั้งที่สองนับตั้งแต่มีการบันทึกมาขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) แต่ก็ไม่สามารถบรรเทาความแห้งแล้งลงได้มากนัก
ผลกระทบดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้นในเดือนม.ค. ของปีนี้ หลังเกิดฝนตกเพียงเล็กน้อยที่นครแอลเอวัดปริมาณได้เพียงหนึ่งในสิบส่วนของ 1 นิ้ว นับเป็นสภาวะแห้งแล้งมากที่สุดอันดับ 8 ของแอลเอ และล่าสุดเดือนก.พ.นี้ ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ถือว่าเป็นแนวโน้มไม่ดีตั้งแต่เริ่มปี
ศาสตราจารย์ เดวิด เฟลด์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาผังเมืองและนโยบายภาคสังคม มหาวิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า สภาพอากาศเหวี่ยงไปมาสุดขั้วแบบนี้เป็นสัญญาณของโลกร้อน โดยเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก
“เราเผชิญกับภาวะแห้งแล้งที่ยาวนานกว่าปกติ มีฝนตกน้อยลง แล้วเหวี่ยงไปเป็นภาวะฝนตกหนักและพายุที่รุนแรงมากขึ้น” ศ.เฟลด์แมน ระบุ
นายพาร์ก วิลเลียมส์ ผู้นำคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน ระบุว่า ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นนั้นยากมากที่จะแก้ไขได้ด้วยปริมาณน้ำฝนสูงผิดปกติในปีเดียว ตนคาดว่าจะได้มีฝนตกหนักต่อเนื่องอีกนานหลายปีจึงจะทำให้สภาวะแห้งแล้งสุดขั้ว (Megadrought) ลดน้อยลง