แม้ยุบสภา! ตรีนุช ย้ำองค์กรหลักต้องเดินหน้านโยบายการศึกษา ชี้ รมว.ศธ. ติดตามได้ปกติ

Home » แม้ยุบสภา! ตรีนุช ย้ำองค์กรหลักต้องเดินหน้านโยบายการศึกษา ชี้ รมว.ศธ. ติดตามได้ปกติ



แม้ยุบสภา! “รมว.ตรีนุช” ย้ำองค์กรหลัก ต้องเดินหน้านโยบายการศึกษา ชี้ “รมว.ศธ.” กำกับ ติดตาม ทำงานได้ปกติ เร่งให้ความรู้ความเข้าใจการเลือกตั้ง นักเรียน นักศึกษา

22 มี.ค. – น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว ทำรัฐบาลขณะนี้ อยู่ในรูปแบบรัฐบาลรักษาการ ว่า

หลังจากยุบสภาไป การทำงานอาจจะมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การลงพื้นที่ตรวจราชการ แม้จะทำได้ปกติ แต่ต้องระมัดระวังหลีกเลี่ยงไม่ให้มีนักการเมือง หรือ ผู้สมัคร ส.ส.เข้ามาในกิจกรรม เป็นต้น

ส่วนของการทำงานในตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ก็สามารถทำงานต่อได้ปกติ จนกว่าจะมีการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ ส่วนการแต่งตั้งผู้บริหาร ที่ว่างอยู่ ได้แก่ เลขาธิการสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) หรืออธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 และรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) 2 ตำแหน่ง ก็สามารถต่อทำได้

แต่ต้องเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน ดังนั้น การสรรหาผู้บริหารระดับสูง ก็จะเดินหน้าต่อตามกระบวนการที่มีอยู่ เพราะขณะนี้ มีการเปิดการสรรหาตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงแล้ว

น.ส.ตรีนุช กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ แม้จะยุบสภา เป็นรัฐบาลรักษาการแล้ว ตนได้เน้นย้ำผู้บริหารระดับสูง และองค์กรหลัก ว่า ให้ช่วยกำกับติดตามนโยบายต่างๆ ที่ยังค้างคาอยู่ รวมทั้งวางแผนการทำงานให้เป็นไปตามปกติ เพราะตนสามารถกำกับติดตามงานได้ตามปกติ

โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 ไม่ว่าจะเป็นการรับนักเรียน การสอบครูผู้ช่วย การแต่งตั้งผู้อำนวยโรงเรียนขนาดเล็ก การสรรหารองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และการเตรียมตวามพร้อมด้านต่างๆ เพื่อให้การเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 เป็นไปด้วยความเรียบร้อยที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะให้ความรู้กับนักเรียน นักศึกษาที่มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ บัตรเลือก ส.ส.เขต และ บัตรเลือกพรรค (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) ซึ่งอาจจะสร้างความสับสนให้กับนักเรียนได้

น.ส.ตรีนุช กล่าว เชื่อว่าโรงเรียนแต่ละแห่งจะมีช่องทางให้ความรู้กับ นักเรียน นักศึกษา ของตนอยู่แล้ว แต่ตนได้ให้นโยบายกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และ กศน. ว่าจะต้องให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเลือกตั้ง กับนักเรียน นักศึกษา เพื่อไม่ให้นักเรียน นักศึกษาเสียสิทธิ และมีส่วนร่วมในระบบประชาธิปไตย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ