วันที่ 16 ก.พ. 2567 เพจ “MakeeShop” ซึ่งเป็นเพจของแม่ค้าคนดังกล่าว โพสต์ข้อความระบุว่า “ที่รักรู้ไหม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวxxxที่ผ่านมา ทำให้รู้เลยว่าลูกค้ารักและพร้อมปกป้องxxxมากขนาดไหน ตอนนี้xxxใจฟูมากก ไม่รู้จะตอบแทนและแทนคำขอบคุณยังไง xxxขอบคุณมากๆ ขอบคุณจากใจ
xxx สัญญาว่าจะพัฒนาตัวเองและพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้น เพื่อตอบแทนที่รักทุกท่าน และวันนี้ xxxขอจัดสินค้าใหม่ราคาปังๆ เพื่อตอบแทนลูกค้าทุกท่าน #คืนนี้ไลฟ์สด 20.00 น. มาเจอกันหน้าเพจนะ มีแจกให้เยอะมากก ขอบคุณและรักจากใจจริง”
สืบเนื่องจาก วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอก ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจตรี จตุพล บงกศมาศ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค สั่งการให้นายชยพล สายทวี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ คดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวน ที่ 125/2566 กรณี กลุ่มบุคคลลักลอบนำเข้าและจำหน่าย สินค้าไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ผ่านช่องทางออนไลน์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นำคณะพนักงานสืบสวน สนธิกำลังร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอเมืองยะลา เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนจังหวัดชายแดนภาคใต้ กองบังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อุตสาหกรรมจังหวัดยะลา สาธารณสุขอำเภอเมืองยะลา และเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าตรวจค้นโกดังเก็บสินค้าในพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานในการสืบสวน
- วัยรุ่นใจกว้าง สะสมคลิปอนาจารเด็ก ใจดีโพสต์เผื่อแผ่ คนคอเดียวกัน
- 8 ข้อห้าม! ถ้าปล่อยตัว ทักษิณ ชินวัตร เป็นอิสระ ต้องมีเงื่อนไขอะไรบ้าง
- ก้าวไกล ตั้งคำถาม ‘ทักษิณ’ ป่วยจริงหรือไม่ หากวันนั้นเดินออกจากรพ. เลย
กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจากศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบข้อมูลว่าบริษัท มากี้ช็อป 2017 จำกัด ซึ่งมีที่ตั้งในพื้นที่จังหวัดยะลา มีพฤติการณ์สงสัยว่ามีการนำเข้าและจำหน่ายสินค้าที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และลักลอบจำหน่ายสินค้าหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยเปิดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นซื้อ – ขายสินค้าออนไลน์ทางเพจ Facebook ชื่อ MakeeShop และ Tiktokชื่อ Makeeshopofficial ซึ่งมีผู้ติดตามจำนวนมาก โดยเพจดังกล่าวมีพฤติการณ์ถ่ายทอดสด (live) จำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายประเภท ได้แก่ หม้อไฟฟ้า กระทะไฟฟ้า กระทะปิ้งย่าง พัดลม ฯลฯ ซึ่งสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า อันเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนดให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าจะต้องขออนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเสียก่อนเพื่อรับรองคุณภาพสินค้าว่าเป็นไปตามมาตรฐานและเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในการที่จะนำไปใช้หรือจำหน่ายต่อและต้องมีเครื่องหมายรับรอง (มอก.) รวมทั้งการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรต้องผ่านพิธีการศุลกากรอย่างถูกต้อง แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้น ไม่พบว่าสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ บริษัท มากี้ช็อป 2017 จำกัด จำหน่าย ได้ขออนุญาตต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแต่อย่างใด และในการถ่ายทอดสดมีการพูดต่อสาธารณะว่าสินค้าที่ขายไม่ผ่านสำนักมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งมีผู้ที่ซื้อสินค้าจำนวนมากทั่วประเทศจำนวนกว่าแสนชิ้น และจากการตรวจพบว่าประกอบธุรกิจมาเป็นเวลานาน รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท โดยผลการตรวจค้นเป้าหมายพบพยานหลักฐาน ดังนี้
1.หมายค้นศาลจังหวัดยะลา ที่ 1/2567 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ค้นสถานที่ บ้านเลขที่ 47/57 หมู่ 7 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นที่พักอาศัยและโกดังเก็บสินค้า พบสินค้าซึ่งไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม มอก. จำนวน 70 รายการ รวมจำนวน 1,364 ชิ้น
2.หมายค้นศาลจังหวัดยะลา ที่ 2/2567 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ค้นสถานที่ บ้านเลขที่ 63/1 หมู่ 7 ตำบลสะเตงนอก อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งมีลักษณะเป็นโกดัง ภายในพบว่ามีเครื่องจักรขนาดใหญ่สำหรับผลิตกล่องบรรจุสินค้าส่งจำหน่ายให้กับลูกค้า และบริเวณด้านข้างโกดังพบรถบรรทุกสินค้าซึ่งมีสินค้าอยู่เต็มคันรถเตรียมนำเข้าใส่โกดัง จำนวน 75 รายการ รวมจำนวน 857 ชิ้น
โดยของกลางที่ทำการตรวจยึดได้เป็นยอดขายในแต่ละวัน ซึ่งหากเฉลี่ยแล้วในแต่ละเดือนจะมียอดขายประมาณ 30,000 – 40,000 ชิ้นต่อเดือน ประกอบพยานเอกสารการสั่งซื้อและขายที่ตรวจยึดได้ในที่เกิดเหตุซึ่งพบว่าได้ประกอบธุรกิจมาเป็นระยะเวลา 4 ปีกว่า โดยไม่มีอาชีพอื่นใด
พฤติการณ์และการกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุสาหกรรมพ.ศ.2566 มาตรา 48 และ มาตรา 48 ทวิ และความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 มาตรา 243 และ มาตรา 244 ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในบัญชีท้ายประกาศ กคพ.(ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ตามบัญชีท้าย ข้อ 8 และข้อ 13ซึ่ง เป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งจะได้เสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามข้อสั่งการของพันตำรวจตรี ยุทธนา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการมุ่งคุ้มครองความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างกาย และสุขภาพอนามัยของประชาชนซึ่งเกิดอันตรายจากการใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งคณะพนักงานสืบสวนจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายโดยร่วมปฏิบัติงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการร่วมกันอย่างต่อเนื่องต่อไป