แมทเทลผลิต “บาร์บี้ดาวน์ซินโดรม” – บีบีซี รายงานว่า บริษัท แมทเทล บริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ผลิต ตุ๊กตาบาร์บี้ รุ่นแรกที่สะท้อนถึงผู้ที่มี ภาวะดาวน์ซินโดรม หลังกถูกกระแสวิจารณ์ว่าตุ๊กตาแบบเดิมๆ ไม่ได้สะท้อนตัวตนผู้หญิงอย่างแท้จริง
ตุ๊กตาบาร์บี้ยุคแรกวางขายในปี 2502 เป็นผู้หญิงผมสีทอง รูปร่างผอม ขายาว เอวคอด ซึ่งมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลียพบว่าผู้หญิงจริงๆ ที่จะมีรูปร่างอุดมคติแบบบาร์บี้มีเพียง 1 ในแสนคนเท่านั้น ส่งผลให้เกิดกระแสเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งนักรณรงค์บางคนเรียกร้องให้บริษัทผลิตบาร์บี้ที่มีรูปร่างเหมือนผู้คนในชีวิตจริงมากขึ้น รวมถึงตุ๊กตาที่มีความพิการ
กระทั่งในปี 2559 แมทเทลเริ่มผลิตตุ๊กตาที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งบาร์บี้ที่รูปร่างอวบขึ้น บาร์บี้ตัวสูงและบาร์บี้ตัวเล็ก รวมถึงมีสีผิวที่แตกต่างเพื่อสะท้อนถึงคนหลากหลายทางเชื้อชาติ
น.ส.ลิซา แม็คไนท์ หัวหน้าแผนกบาร์บี้และตุ๊กตาทั่วโลกของแมทเทล กล่าวหวังว่าตุ๊กตาแบบใหม่จะช่วยสร้างความเข้าใจและความเห็นอกเห็นใจผู้ที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมและจะช่วยให้คนเหล่านี้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในโลก
แมทเทลกล่าวว่าร่วมงานกับสมาคมดาวน์ซินโดรมแห่งชาติของสหรัฐ (เอ็นดีเอสเอส) อย่างใกล้ชิดเพื่อผลิตตุ๊กตาที่เป็นตัวแทนคนกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมอย่างถูกต้องที่สุด โดยตุ๊กตารุ่นนี้มีรูปร่างและความสูงเล็กกว่าบาร์บี้ทั่วไป แต่ช่วงลำตัวยาวกว่า ใบหน้ากลม ใบหูเล็ก ดั้งจมูกแบน ตารูปอัลมอนด์ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพที่พบได้ในผู้มีภาวะดาวน์ซินโดรม
ส่วนชุดของตุ๊กตาเป็นเดรสสั้นลายดอกไม้สีเหลืองและฟ้าซึ่งเป็นสีสัญลักษณ์ของการรณรงค์ให้ตระหนักถึงโรคดังกล่าว นอกจากนี้ยังสวมสร้อยคอสีชมพูห้อยจี้เป็นสัญลักษณ์ของโครโมโซมชุดที่ 21 ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่ทำให้เกิดลักษณะที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการดาวน์ ส่วนข้อเท้าสวมอุปกรณ์ช่วยพยุงข้อเท้าสีชมพูซึ่งเด็กบางคนใช้อุปกรณ์นี้พยุงเท้าและข้อเท้า
น.ส.คานดิ พิคาร์ด ประธานและซีอีโอของเอ็นดีเอสเอส กล่าวว่าเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับโครงการนี้และเป็นครั้งแรกที่บาร์บี้มีตุ๊กตาหน้าตาเหมือนสมาชิกในสมาคม
ส่วนน.ส.เอลลี โกลด์สไตน์ นางแบบชาวอังกฤษซึ่งมีภาวะดาวน์ซินโดรมรู้สึกทึ่งมากเมื่อเห็นตุ๊กตา และกล่าวว่าความหลากหลายเป็นสิ่งสำคัญ ผู้คนจะเห็นคนที่แตกต่างในโลกและคนเหล่านั้นไม่ต้องหลบซ่อนอีกต่อไป
ขณะที่บริษัทผลิตของเล่นแห่งอื่นๆ มีแนวโน้มว่าจะผลิตตุ๊กตาที่มีความหลากหลายมากขึ้นเช่นกัน
เมื่อปี 2559 เลโก้ผลิตเลโก้รูปชายหนุ่มนั่งวีลแชร์ หลังจากกลุ่มรณรงค์ #ToyLikeMe วิจารณ์ว่าเลโก้ผลิตตุ๊กตาคนพิการแบบเดียวเป็นรูปคนสูงวัยนั่งวีลแชร์
นอกจากนี้กลุ่มรณรงค์ดังกล่าวซึ่งมีฐานในอังกฤษยังเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ ผลิตของเล่นที่เป็นตัวแทนของเด็กพิการประมาณ 770,000 ในอังกฤษด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อย่างเท่! “บาร์บี้” ผลิตตุ๊กตา “วิศวกรหุ่นยนต์” หนุนฝันเด็กหญิงอยากเป็นวิศวกร
- หลานสาวฟรีดา คาห์โล ศิลปินเม็กซิกัน โวยบาร์บี้ทำไม่เหมือนทวด เรียกร้องออกแบบใหม่