ทุกครั้งที่ไปหาหมอ หมอมักถามอยู่เสมอว่า “แพ้ยาอะไรไหมครับ” เพราะหากแพ้ยาตัวไหน หมอจะได้ไม่สั่งให้ บางคนอาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังแพ้ยาอะไรอยู่หรือเปล่า จึงเป็นเรื่องยากที่จะตอบคำถามของแพทย์ในระยะแรกๆ แต่หากเกิดอาการผิดปกติระหว่างทานยาตัวไหน เราคงจำได้ดีและตอบหมอได้โดยง่าย
ตัวเราเองไม่เคยมีประวัติแพ้ยาใดๆ แต่ก็ยังไม่แน่ใจตัวเองมากนักว่าจริงแล้วๆ เราแพ้ยาอะไรหรือเปล่า เพราะในชีวิตก็ไม่ค่อยได้ทานยาอะไรหลากหลายเท่าไร เราจะทราบได้อย่างไรว่าเราแพ้ยาอะไร มีอาการอย่างไรที่บ่งบอกว่ากำลังแพ้ยา แล้วเรามีโอกาสจะหายแพ้ยาตัวนั้นหรือไม่ มาดูรายละเอียดกันค่ะ
ทำไมเราถึงแพ้ยา?
อาการแพ้ยา เกิดจากปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในบุคคลนั้นๆ ที่มีความไวเกินต่อยา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบรับประทาน ฉีด ทาและสูดดม ความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดกับทุกคน แต่เกิดขึ้นกับบางคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไวต่อยามากกว่าปกติ คล้ายกับคนที่แพ้อาหารบางประเภทเช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าอาการแพ้ยา เปรียบเหมือนความโชคร้ายส่วนบุคคลจริงๆ
แพ้ยา มีอาการอย่างไร?
แม้ว่าจะแพ้ยาชนิดเดียวกัน แต่ก็อาจจะมีอาการผิดปกติแตกต่างกันได้ ผู้ที่ได้รับยาที่แพ้เป็นครั้งแรก อาการอาจแสดงหลังจากทานยาตัวนั้นไปแล้วราว 1-3 สัปดาห์ แต่หากเคยรับยาตัวที่แพ้ไปแล้ว ครั้งต่อๆ มาอาการแพ้จะแสดงหลังทานยา 1-3 วัน
อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้วอาการแพ้ยาจะมีอาการคร่าวๆ ดังนี้
– มีไข้ ปวดศีรษะ น้ำมูกไหล ปวดข้อ คล้ายอาการหวัด หรือไม่สบาย
– มีผื่นแดงขึ้นตามตัว แขน ขา หรืออาจจะที่ปาก รอบๆ ปาก หน้า ลำคอ และอื่นๆ โดยลักษณะของผื่นเป็นได้ตั้งแต่เม็ดเล็กๆ เป็นปื้นๆ ตุ่มหนอง หรืออาจเป็นตุ่มน้ำพองใสๆ
– หน้าบวม แขนขาบวม ปากบวม ลิ้นบวม
– ใจสั่น แน่นหน้าอก คลื่นไส้อาเจียน หรือหายใจติดขัด
– บางครั้งอาจส่งผลไปถึงการทำงานในอวัยวะภายใน เช่น ตับอักเสบ หรือไตวาย
– หากมีอาการรุนแรง อาจเป็นลม ตัวเย็น ชีพจรเต้นเบาและเร็ว ความดันโลหิตต่ำ จนถึงขั้นอาจหยุดหายใจ และเสียชีวิตได้ มักเกิดจากการแพ้ยาที่ฉีดเข้าเส้นเลือด เพราะจะออกฤทธิ์เร็ว
istockphoto
จะทราบได้อย่างไร ว่าเราแพ้ยาตัวไหน?
เมื่อเรามีอาการผิดปกติ เราต้องไปพบแพทย์ หรืออย่างน้อยก็ต้องปรึกษาเภสัชกร (หากเราซื้อยามาทานเอง) ถือยาผู้ต้องสงสัยไปด้วย หากทานยาหลายตัวก็เอาไปให้หมดทั้งถุง คราวนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะทำการตรวจร่างกาย และยาที่เราหิ้วไป ว่าเป็นสาเหตุของอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหรือไม่ โดยแพทย์จะซักถามว่า ทานอาหาร หรือยาตัวไหนที่ปกติไม่ได้ทานหรือไม่ เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนจริงๆ
เพราะฉะนั้นหากเกิดอาการผิดปกติโดยที่เราไม่ทราบสาเหตุ จึงไม่ควรซื้อยามาทานเองเพื่อแก้อาการดังกล่าว การพบแพทย์เพื่อสาเหตุที่แท้จริง ยังคงเป็นทางออกที่ดีที่สุดเสมอ จนกว่าเราจะรู้จริงๆ ว่าเราแพ้อาหาร หรือแพ้ยาตัวไหน
ยาที่พบอาการแพ้ได้บ่อย
- ยาต้านจุลชีพ หรือปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน แอมพิซิลลิน ยาประเภทซัลฟา เตตราซัยคลีน สเตรปโตมัยซิน เป็นต้น
- ยาแก้ปวด ลดไข้ เช่น แอสไพริน ไดไพโรน
- ยาชา เช่น ไซโลเคน (Xylocaine) โปรเคน (Procaine)
- เซรุ่มต่างๆ เช่น เซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มแก้บาดทะยัก
- น้ำเกลือ และเลือด
ทำอย่างไร เมื่อมีอาการแพ้ยา
หากมีอาการไม่รุนแรง เช่น ผื่นแดงไม่มาก หน้าบวม ปากบวม สามารถทานยาแก้แพ้ได้ อาการควรจะดีขึ้นหลังทานยา 30 นาที – 1 ชั่วโมง แต่หากมีอาการรุนแรง ผื่นขึ้นมาก เจ็บหรือแสบ หน้าบวม ลิ้นบวม คอบวมจนหายใจไม่สะดวก หรืออาการอื่นๆ ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้ให้หยิบยาที่ทานไปให้แพทย์ด้วย
มีโอกาสที่เราจะหายแพ้ยาตัวนั้นในอนาคตหรือไม่?
โดยปกติแล้ว หากมีอาการแพ้ยาชนิดใด เราควรหลีกเลี่ยงการทานยาชนิดนั้นไปตลอดชีวิต อย่างไรเสียยาไม่ได้มีชนิดเดียว หากต้องการรักษาอาการใดๆ ก็ตาม จะมียาหลายชนิดให้เลือกทาน ขึ้นอยู่กับระดับอาการ และความเหมาะสมกับผู้ป่วย เช่น ยาแก้ปวด มีทั้งพาราเซตามอล แอสไพริน และอื่นๆ เป็นต้น
การพยายามทานยาชนิดนั้นในปริมาณน้อยต่อไปเรื่อยๆ เพื่อหวังจะให้อาการแพ้ยาหายไป ไม่ใช่วิธีที่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากอาการแพ้ยาจะยังคงอยู่เหมือนเดิมแล้ว อาจทำให้มีอาการแพ้หนักขึ้นไปมากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นอย่าพยายามทำให้ตัวเองหายแพ้ยาชนิดนั้นจะดีกว่า เว้นแต่จะเผลอทานเข้าไปโดยไม่รู้ตัว แล้วไม่มีอาการใดๆ เกิดขึ้นจริงๆ อาจปรึกษาคุณหมอได้อีกครั้งค่ะ
อาการแพ้ยาไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่ถึงกระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ทำให้เราต้องกลัว ตามปกติมักมีอาการเพียงเล็กน้อย ไม่ถึงขั้นต้องล้มหมอนนอนเสื่อ แต่เราควรระมัดระวังตัวเองโดยการหลีกเลี่ยงยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้ จำชื่อให้แม่น บอกแพทย์ทุกครั้งที่พบว่าแพ้ยาอะไร จดชื่อยาที่แพ้ใส่กระดาษเสียบไว้ที่ช่องบัตรประชาชนในกระเป๋าเงิน หรือบอกคนรอบตัวให้ทราบด้วยก็จะช่วยในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดคิดได้มากค่ะ