อธิบดีแพทย์แผนไทย อัด ส.ส.ปชป. ดูถูกภูมิปัญญาชาวบ้าน ถ้าห่วงต้องผ่าน พ.ร.บ.กัญชา ลั่นเอามาทำยาไม่มีการปนเปื้อน ตรวจสอบเข้มทั้งระบบ
จากกรณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว “กัญชาทางการแพทย์แผนอนุทิน” ซึ่งระบุ 5 ข้อแตกต่างที่ผิดเพี้ยนจากมาตรฐานสากลในนโยบายกัญชาทางการแพทย์ และกล่าวถึงอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ ลงตรวจพื้นที่ถนนข้าวสาร พบการใช้สันทนาการ โดยยอมรับว่าประกาศสมุนไพรควบคุมช่อดอกกัญชา ไม่ครอบคลุมการจัดพื้นที่สูบกัญชานอกร้าน พร้อมตั้งคำถามถึงการประกาศสมุนไพรควบคุมต้องเป็นพืชหายากและที่จะสูญพันธุ์ แต่ไม่มีเจตนารมณ์ควบคุมพืชที่มีสารเสพติดอย่างกัญชา
เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2565 นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ขอใช้สิทธิ์พาดพิงที่มีการพูดถึงตน และให้ข้อมูลที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด โดยขอชี้แจงประเด็นแรก คือ กัญชามีประโยชน์ แต่ต้องมีกฎหมายควบคุม เข้าใจว่าทุกคนเห็นด้วย ส่วนจะเอากลับไปเป็นยาเสพติดดีหรือไม่ ขอชี้แจงว่ากัญชามีประวัติมายาวนาน ไทยมีภูมิปัญญาเรื่องกัญชามีบันทึกมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีตำรับยาใช้มาตลอด เรามีโอกาสที่จะนำไปใช้ประโยชน์
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 ระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมาย อยากให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร่วมกันพิจารณาให้กฎหมายกัญชาออกมาบังคับใช้ ถ้ามีข้อคิดเห็นประการใดก็สามารถใช้กระบวนการในสภาดำเนินการได้ ใช้กระบวนการประชาธิปไตยเข้าไปดำเนินการตรงนี้ ไม่อยากให้มาโจมตี ในฐานะที่ตนเป็นข้าราชการที่ทำตามกฎหมายตามกระบวนการที่ทำอยู่
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า วันนี้ยังไม่มีกฎหมายใหญ่ออกมา เรามีประกาศ สธ. ซึ่งบอกหลายครั้งว่าอย่าใช้ประกาศฉบับเดียว ถ้าจะใช้ฉบับเดียวก็กรุณาออกกฎหมายกัญชาออกมา ถ้ามีอะไรที่เป็นข้อกังวลก็ไปออกกันในสภา ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของตน หน้าที่ของตนคือการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ถามว่าทำไมถึงใช้กฎหมายจาก พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตรงนี้เรามีคณะกรรมการและอนุกรรมการด้านกฎหมาย มีผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายจากหลายกระทรวง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงกฤษฎีกา ตนเข้ามาเป็นอธิบดีราว 2 เดือน มีการประชุมไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง ก่อนจะออกประกาศได้
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า มาตรา 44 กำหนดเพื่อคุ้มครองสมุนไพรให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจในการออกประกาศ กำหนดประเภท ลักษณะ ชนิดและชื่อสมุนไพร ที่มีคุณค่าต่อการศึกษาวิจัย มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ อาจจะสูญพันธุ์ ซึ่งมีถึง 3 เรื่องที่สามารถนำมากำหนดได้ และกำหนดเฉพาะส่วนได้จากที่บอกว่ากำหนดลักษณะ ชนิด และชื่อสมุนไพร
“ใน พ.ร.บ.สมุนไพรไม่ได้หมายถึงพืชอย่างเดียว แต่รวมถึงสัตว์ด้วย จึงกำหนดคุมเฉพาะช่อดอก เพราะคุมต้นจะเป็นภาระประชาชนที่ต้องมาขออนุญาต และข้อมูลวิชาการก็ชัดเจน ช่อดอกมี THC สูง แต่ส่วนอื่นอย่างกิ่ง ก้าน ราก ใบ มีสาร THC ไม่สูง อย่างใบมีสาร CBD ทำให้ผลของ THC ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทลดลง”
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ส่วนที่ระบุว่าชาวบ้านไม่รู้จักการใช้กัญชา มีสารพิษในการทำยา ตรงนี้อาจจะเป็นการดูถูกภูมิปัญญาของชาติ อย่างล่าสุดตนไป อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี วิสาหกิจชุมชนที่ปลูกกัญชาอยู่ในโรงเรือนก็มีการเรียนรู้ปรับปรุงการปลูกจากในดินมาเป็นกระถาง เชื่อว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ทำผลิตภัณฑ์เอาไปแช่น้ำผึ้ง ทำชา ทำยาหม่องผสมในอาหาร ทำไข่เค็มที่หมักด้วยกัญชา เชื่อว่าสามารถหาเรื่องเหล่านี้ได้ทั่วประเทศ ไม่เชื่อว่าสมาชิกผู้ทรงเกียรติจะไม่ทราบ
ทั้งนี้ กรมการแพทย์แผนไทยนำภูมิปัญญามาทำเป็นยาจนผลักดันเข้าไปอยู่ในบัญชีหลักของชาติได้ 10 รายการ เป็นแผนไทย 6 รายการ เช่น ตำรับสุขไสยาศน์ น้ำมันกัญชาตำรับหมอเดชา ใช้กับคนไข้ไปแล้ว 119,021 ราย ส่วนใหญ่เป็นอาการนอนไม่หลับอาการปวด ตำรับทำลายพระสุเมรุ บรรเทาอาการปวดสั่งใช้ไปแล้ว 9,505 ราย น้ำมันกัญชาที่ผลิตจากราก ลำต้น กิ่ง ใบ ดอกผสมกัน ใช้ไป 3,000 ราย และตำรับรักษาโรคริดสีดวง แก้ลม ลดอาการทางผิวหนัง ส่วนแผนปัจจุบันขององค์การเภสัชกรรม 4 รายการ ก็นำองค์ความรู้มาจากภูมิปัญญาเช่นเดียวกัน
“หากทำตามศาสตร์ของแพทย์แผนปัจจุบัน 10 ปีก็คงยังไม่สำเร็จ วันนี้เราใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่ สิ่งสำคัญคือความปลอดภัย เมื่อมีตรงนี้ก็แปลงไปสู่อุตสาหกรรมยา มี 4 รายการให้ รพ.ได้ ทั้งสูตร THC CBD หนึ่งต่อหนึ่ง สูตร THC อย่างเดียว และสูตร CDB อย่างเดียว ขอรับรอง 100% ว่าการผลิตมีการควบคุม วิสาหกิจชุมชนผ่านการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง มีการตรวจสุขภาพดินว่าไม่มีโลหะหนัก หากพื้นที่ที่มีโลหะก็จะปรับไปปลูกในกระถาง เป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านทำได้ ช่อดอกซื้อที่ซื้อมาจากวิสาหกิจชุมชนมีหลายร้อยแห่งทั่วประเทศมีการตรวจการปนเปื้อนก่อนนำมาผลิตยา ผลิตแล้วก็มีการตรวจอีก ขอยืนยันและการันตีให้ประชาชนว่าปลอดจากสารปนเปื้อน”
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า การที่ท่านบอกว่ามีสารปนเปื้อนนั้นเป็นการกล่าวหามากเกินไป เพราะเราทำในมาตรฐานและได้รับการรับรอง เราไม่สามารถเอายาที่ไม่อยู่ในมาตรฐาน ไม่ได้อยู่ในการขึ้นบัญชียาหลักมาใช้กับประชาชนได้ ซึ่งการขึ้นบัญชีก็มีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณา อย.ต้องตรวจสอบว่ามาจากแหล่งที่มีมาตรฐาน การพูดเช่นนี้เป็นการไม่ให้เครดิตกับประเทศไทยทั้งระบบ อย. คณะกรรมการบัญชียาหลัก
เมื่อถามถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบทระบุว่า แม้จะมีประกาศสมุนไพรควบคุม ห้ามโฆษณาและขายออนไลน์ แต่ยังมีคนฝ่าฝืนจำนวนมาก นพ.ธงชัย กล่าวว่า การขายออนไลน์เป็นหนึ่งในประกาศฯ ที่ห้ามกระทำ ซึ่งจะมีความผิด เราเตรียมประสานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะประชุมวันที่ 7 ธ.ค. เพื่อรับทราบข้อปฏิบัติร่วมกัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานอื่น อาจดูไม่ออกว่าใช่ช่อดอกกัญชาหรือไม่ จึงจำเป็นต้องให้เจ้าพนักงานของกรมฯ ช่วยยืนยัน หรืออาจยืนยันจากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงแจ้งความกับตำรวจเพื่อดำเนินการทางกฎหมาย
นพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ข้อมูลที่ทางชมรมแพทย์ชนบทโพสต์ เป็นข้อมูลเก่า เราตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่มีภาพตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเอาไปโฆษณาขายช่อดอกกัญชา มข.ก็ได้ชี้แจงแล้วว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ วันนี้เรามีการดำเนินการเรื่องนี้อยู่ หากประชาชนพบเห็นข้อมูลสามารถส่งมาได้ที่กรมแผนไทยฯ หรือ สสจ.เพื่อให้เจ้าพนักงานดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่ามีความผิดจริง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะดำเนินการตามกฎหมาย
นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า โดยปกติการออกกฎหมายใดๆ ช่วงแรกที่มีผลบังคับใช้ก็จะเป็นการชี้แจงต่อประชาชนว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ อย่างที่ตนลงพื้นที่ถนนข้าวสาร แล้วพบว่ามีบางร้านติดป้ายเชิงโฆษณา ก็แจ้งให้เขาเอาออก ซึ่งจะเป็นตามลำดับคือ ตักเตือน พักใช้ใบอนุญาต แต่ถ้ายังไม่หยุดทำก็จะต้องยึดใบอนุญาต แล้วงดออกใบอนุญาตให้กับรายนั้น 2 ปี ยืนยันว่าการออกกฎหมายกัญชา ที่เป็น พ.ร.บ.กัญชา มีความจำเป็น เพื่อไม่ให้ต้องใช้กฎหมายหลายฉบับ และเพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้อย่างคล่องตัว