นครราชสีมา – วันนี้ (1 เมษายน 2564) เวลา 10.30 น. ที่หอผู้ป่วยหนักศัลยกรรม 1 ชั้น 6 อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรันราชสุดาฯ อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ภายในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้เดินทางเข้าเยี่ยมอาการของ น้องมิ้นท์ อายุ 10 ปี นักเรียนชั้น ป.3 ที่ถูกตะไลซึ่งจุดจากงานศพมาตกใส่ศีรษะ จนได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อช่วงเย็นวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ต้องส่งตัวเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โดยมีนายแพทย์เชิดศักดิ์ แสงศิริทองชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา นำคณะผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เข้าไปเยี่ยมอาการน้องมิ้นท์ที่เตียงคนไข้ ซึ่งขณะนี้มีการใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา โดยมีนายนิรุตติ สวัสดี และนางพัชรี ช่วงจะโป๊ะ พ่อและแม่ของน้องมิ้นท์ เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด
โดยนางพัชรี ช่วงจะโป๊ะ แม่ของน้องมิ้นท์ กล่าวว่า ขณะนี้อาการของน้องมิ้นท์ ยังไม่รู้สึกตัว ครอบครัวต้องมาเฝ้าดูอาการตลอดทุกวัน โดยยังคงมีความหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์เกิดขึ้น ทำให้น้องมิ้นท์ฟื้นขึ้นมาได้ และต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และทุกคนที่เดินทางมาให้กำลังใจ มาช่วยเหลือครอบครัวของตนเอง ทำให้ตนเองและครอบครัวมีขวัญกำลังใจขึ้นมาบ้าง
ด้านนายแพทย์เชิดศักดิ์ แสงศิริทองไชย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง โรงพยาบาลมหาราชฯ เปิดเผยว่า สำหรับอาการของน้องมิ้นท์ ขณะนี้ยังอยู่ในอาการโคม่า ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา ถือว่าอาการน่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากถูกตะไลฝังเข้าไปในสมอง และมีการระเบิดในศีรษะใกล้กับก้านสมองของน้องด้วย จึงทำให้สมองได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ทางทีมแพทย์ก็พยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด ช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และสุดความสามารถ
ขณะที่นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า เมื่อเช้าวันนี้ ตนเองก็ได้สั่งการให้นายอำเภอปักธงชัย และฝ่ายปกครอง ตรวจสอบในข้อกฎหมายแล้ว ซึ่งพบว่าการจะจุดพลุหรือตะไลในงานพิธีต่างๆ ตามกฎหมายต้องมีการขออนุญาตฝ่ายปกครองล่วงหน้าก่อนทุกครั้ง ไม่น้อยกว่า 15 วัน หลังจากนี้ตนเองก็จะได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปักธงชัย เพื่อให้เข้าไปตรวจสอบอีกครั้งว่า งานศพดังกล่าวได้มีการขออนุญาตการจุดพลุตะไลถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากไม่ได้มีการขออนุญาตก็จะต้องมีการดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมายต่อไป
ส่วนหลังจากการการจะอนุญาตให้จุดพลุตะไลในงานพิธีต่างๆ ต้องมีการพิจารณาเรื่องของความปลอดภัยอย่างเข้มงวดก่อน หากไม่มีความจำเป็น และไม่มีมาตรการในด้านความปลอดภัยที่เพียงพอ จะไม่อนุญาตให้ง่ายๆ เด็ดขาด เพราะนอกจากความไม่ปลอดภัยกรณีตกใส่คนเช่นกรณีนี้แล้ว อาจจะมีในเรื่องของก่อให้เกิดไฟไหม้ชุมชน หรือตกใส่บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายได้