หมอที่พบศพ “แตงโม” คนแรก เผยแล้ว “ฟัน” หักจริงหรือไม่? แจงข้อสงสัย ทำไม “แม่” ต้องร้องก.ยุติธรรม หรือไม่เชื่อมั่นตร.
รายการโหนกระแสวันที่ 14 มี.ค. 65 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 เกาะติดเหตุการณ์ที่ “นางภนิดา” คุณแม่ “แตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์” ส่งทนาย ขออายัดศพลูก เพื่อประสานให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ผ่าชันสูตรรอบ 2 โดยสัมภาษณ์ ว่าที่ร้อยตรีธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มาพร้อม นพ.ศราวุฒิ สุจริตธรรม ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนิติเวช และโฆษกสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้เปิดเผยถึงวันแรกที่ชันสูตรศพ
อาจารย์เป็นหนึ่งในคนที่ได้เห็นศพคุณแตงโมตั้งแต่วันแรก?
นพ.ศราวุฒิ : ตั้งแต่แรกที่ได้ข่าวก่อน ช่วงวันพฤหัสบดีที่มีข่าวคุณแตงโมนั่งเรือแล้วหายไป ตอนนั้นเห็นข่าวแล้วคิดว่าจะหาคุณแตงโมเจอหรือเปล่า จนดูแล้วว่าอาจเกิดเหตุเสียชีวิตได้ แล้วผมก็เป็นเวรแพทย์ชันสูตรวันเสาร์และอาทิตย์พอดี วันที่พบศพลอยขึ้นมาเป็นช่วงวันเสาร์ ช่วงบ่าย เป็นเวรผม พนักงานสอบสวนจังหวัดนนทบุรีก็ได้ตามให้ผมไปตรวจที่เกิดเหตุ
สภาพศพคุณแตงโม ที่เขาลือกันว่ามีฟันหัก ข้อเท็จจริงคือยังไง?
นพ.ศราวุฒิ : อย่างที่เห็นกันเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนจำนวนมาก แต่ทีมกู้ชีพก็ทำงานได้ค่อนข้างดี มีการกั้นเพื่อไม่ให้รูปถ่ายหลุดออกไป ทางผมกับพนักงานสอบสวน ก็ได้ไปจุดตำแหน่งที่นำศพขึ้นมา คือท่าน้ำพิบูลสงคราม สภาพศพเบื้องต้นมีการนำขึ้นมาที่ริมท่าน้ำ เบื้องต้นคว่ำหน้า จากนั้นเห็นแล้วว่านับระยะเวลาที่ตกน้ำเกือบ 2 วัน มีการเปลี่ยนแปลงหลังการตายค่อนข้างมาก
พอพลิกศพกลับมา ก็ต้องเรียนว่าบริเวณใบหน้าไม่สามารถบอกได้แล้วว่าเป็นคุณแตงโม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อต่างๆ ของใบหน้า ไม่เหลือสภาพเดิม ทำให้วิธีในการระบุว่าเป็นคุณแตงโม จะมีญาติในที่เกิดเหตุด้วยและคนที่เกี่ยวข้อง เป็นการวินิจฉัยจากอุปกรณ์เครื่องแต่งกาย ที่ใส่บอดี้สูททำให้ทราบว่าเป็นคุณแตงโม ส่วนบริเวณใบหน้าเบื้องต้นเรามีการตรวจสอบดู ทั้งการบาดเจ็บของลูกตาในที่เกิดเหตุ ทางช่องปาก ทั้งหมดทั้งปวงเป็นการตรวจเบื้องต้น เนื่องจากช่องปากมีการเปลี่ยนสภาพ มีการบวม ทำให้เห็นฟันแค่บางซี่ ซึ่งเป็นฟันชุดหน้า ข้างในไม่เห็นต้องไปตรวจเพิ่มเติม
ฟันอยู่ครบมั้ย?
นพ.ศราวุฒิ : เท่าที่ดูฟันคู่หน้า เท่าที่เห็นยังไม่มีการหัก แต่ฟันชุดที่เหลือหักหรือไม่ ต้องมีการตรวจเพิ่มเติม
เพราะตอนนั้นอาจารย์ไม่ใช่คนผ่าพิสูจน์ ดูแค่เบื้องต้นเห็นแค่ฟันด้านหน้าที่ยังมี แต่ด้านในยังไม่เห็น แล้วบาดแผลที่ต้นขา หลายสถาบันยืนยันว่าเป็นบาดแผลที่เกิดก่อนคุณแตงโมเสียชีวิต ความหมายคำนี้คืออะไร?
นพ.ศราวุฒิ : ถ้าตามข่าวที่ออกมา มีการตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อที่ตัดไปตรวจ ซึ่งถ้าเสียชีวิตก่อน หรือเสียชีวิตได้ไม่นาน ก็อาจมีเลือดแทรกอยู่ได้ การตรวจพบตรงนี้เราก็ต้องไล่ดูว่าเกิดขึ้นในช่วงเวลาไหนได้บ้าง ต้องไปไล่ตั้งแต่เกิดขึ้นบนเรือได้หรือไม่ เกิดขึ้นระหว่างตกเรือได้หรือไม่ หรือเกิดขึ้นในช่วงเวลาในนั้น
ถ้าเกิดขึ้นบนเรือก็พิสูจน์ได้ว่ามีเลือดกระเซ็นออกไปหรือเปล่า?
นพ.ศราวุฒิ : ใช่ครับ ข้อมูลทุกอย่างต้องเอามาตรวจ และเอามาเทียบว่าเข้าได้หรือไม่กับสิ่งที่เราตั้งสมมติฐานไว้เบื้องต้น
ร่องรอยบาดแผลจุดนั้น กรณีโดนเรือหรืออะไรก็ตามแต่ มีโอกาสมั้ยที่คุณแตงโมจมลงสู่พื้นน้ำเลย ไม่สามารถตะกายขึ้นมาบนพื้นน้ำ?
นพ.ศราวุฒิ : ถ้าหากมีการบาดเจ็บ ถ้า ณ ตำแหน่งนั้นตอนตกเรือ ก็ต้องบอกว่ามีการตัดเข้าค่อนข้างลึก จะโดนพวกกล้ามเนื้อต่างๆ โอกาสช่วยเหลือตัวเองก็ค่อนข้างยาก เพราะขาจะไม่สามารถออกแรงได้มาก แม่น้ำเจ้าพระยาไม่ใช่น้ำนิ่ง แค่ผมอยู่ในสภาพปกติตกไปก็อาจไม่รอด แต่ถ้าบาดเจ็บก่อนตก ก็ต้องบอกเลยว่ายากในการช่วยเหลือตัวเองขึ้นมา
ครั้งแรกอาจารย์ไม่ได้ตรวจ เพราะเป็นสถาบันนิติเวชรพ.ตำรวจ แต่ครั้งที่สองพอยื่นมากระทรวงยุติธรรม ต้องยื่นมาทางนี้เลย?
ธนกฤต : พอครั้งที่สอง ต้องดูส่วนงานกฎหมายก่อน ดูเรื่องเอกสาร หนังสือที่มาส่งถูกต้องหรือไม่ ต้องเช็กกระบวนการตรงนี้ก่อน แต่พอไปถึงแล้ว หนังสือขั้นตอนจะสั่งไปสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ว่าญาติเองมีความประสงค์เรื่องอะไรบ้างในการให้ตรวจพิสูจน์ ทีนี้จะย้อนแล้วจากข้างหลังไปข้างหน้า ดูเรื่องเวลาศพไปถึงสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เรียนไปแล้วว่ามีใครบ้าง รวมไปถึงญาติน้องแตงโมด้วยก็ได้ว่าหากมีความประสงค์จะเข้าไปสังเกตการณ์ แต่ไม่ใช่ว่าจะเข้าได้ทุกคน
ตร.ต้องการชี้แจง นิติเวชต้องการบอกว่ามีเหตุอะไรบ้าง ถ้าหากวันนี้คุณแม่พอใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ผลออกมาเคลียร์ ทนายสองคนเคลียร์ เราต้องผ่าต่อมั้ย?
ธนกฤต : เรายึดถึงหนังสือที่ทำหนังสือถึงผม แล้วขอให้กระทรวงดำเนินการ แต่ขั้นตอนตรงนี้เร็วหรือช้า เราให้พนักงานสอบสวนทำหนังสือถึงเราเรื่องการส่งตัวศพให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพื่อผ่าพิสูจน์กันต่อไป แต่ถ้าคุณแม่แจ้งมาว่าไม่ประสงค์ดำเนินการต่อ เราก็จะหยุดเลยครับ
จะเริ่มเมื่อไหร่?
ธนกฤต : กระบวนการเราเดินหน้าแล้ว ตอนนี้ในส่วนภายในก็ทำเรื่องรอแล้ว พอถึงจะได้ดำเนินการ เรื่องนี้ปล่อยนานไม่ได้ จำเป็นต้องลงมาช่วยดูด้วยเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำงานด้วย เมื่อมีกระบวนการนี้แล้ว ถ้าส่งศพมาที่เรา ก็เป็นหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์รับศพไปดำเนินการ
ครั้งแรกที่กู้ศพคุณแตงโม อาจารย์ลงพื้นที่ไปดูตรงนั้น แต่ไม่ได้ผ่า เพียงแต่เห็นหลายๆ จุด ก่อนอื่นขอถามนิดนึง มีประเด็นถกเถียงเรื่องบาดแผลบนศีรษะ ได้เห็นอะไรมั้ย?
นพ.ศราวุฒิ : สภาพศพใบหน้าคุณแตงโม มีการเปลี่ยนแปลงหลังการตาย ลูกตาคุณแตงโม เปลือกตาไม่เท่ากันเล็กน้อยก่อน ผมทำการตรวจโดยการเปิดดูเปลือกตาทั้งสองข้างว่ามีเลือดในเยื่อบุตาขาวหรือไม่ เบื้องต้นยังไม่เห็นอะไรชัดเจน ในช่องปากฟันสองซี่หน้าเท่าที่เห็นยังไม่หัก
แต่ตอนนี้มีการตั้งประเด็นมาว่าสิ่งที่ตรวจพบมีการบาดเจ็บหรือเปล่า มีการกระทบกระแทกอะไรหรือเปล่า ต้องนำไปเข้าสู่กรรมการในการผ่าครั้งที่สอง เพื่อทำการตรวจให้ลึกขึ้น อาจต้องส่งชิ้นเนื้อตรวจเพิ่มหรือเปล่า อาจต้องทำเอ็กซเรย์ หรือซีทีสแกน เพื่อดูการบาดเจ็บเพิ่มเติมหรือเปล่า เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลว่ามีการบาดเจ็บจริงหรือไม่
การผ่าครั้งที่สอง จะเริ่มจากอะไร ต้องตรวจดูอะไรที่เขาสงสัย?
นพ.ศราวุฒิ : กระบวนการผ่าครั้งที่สอง ศพมาถึงเรามีการตั้งคณะกรรมการก่อน ไม่ว่าจะแพทย์สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หรือแพทย์จากที่อื่นภายนอก ขั้นต้นต้องดูรูปถ่ายจากการผ่า จากสถาบันนิติวิทยาหรือการขอข้อมูลว่าเบื้องต้นสถาบันนิติวิทยาได้ผ่าอะไรไปแล้วบ้าง เราจึงวางแผนว่าจะทำอะไรต่อไปในครั้งที่สอง และนำประเด็นที่ท่านเลขาฯ เรียนว่าทางญาติต้องการทราบประเด็นอะไรบ้าง การบาดเจ็บตรงไหน เพื่อที่กรรมการได้เจาะดูว่ามีการบาดเจ็บตรงนั้นจริงหรือไม่ ส่งตรวจอะไรเพิ่มอีกหรือไม่ นี่คือรูปแบบคณะกรรมการ
กรรมการกี่คนในการตรวจสอบ?
นพ.ศราวุฒิ : เบื้องต้นที่ยังไม่เป็นลายลักษณ์อักษร จะมีแพทย์สถาบันนิติวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 3 ท่าน กรรมการจากโรงเรียนแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นรามาธิบดี, จุฬา, ธรรมศาสตร์ รวมถึงขอคุณหญิงอาจารย์พรทิพย์ให้เข้ามาสังเกตการณ์เพิ่มเติม หลานท่านไม่ใช่กรรมการ แต่มาอยู่ร่วมสังเกตการณ์
จะเริ่มเมื่อไหร่?
ธนกฤต : คุณหมอพรทิพย์ท่านตอบรับแล้ว
การผ่ารอบสอง จะดูยุ่งยากกว่ารอบแรก?
นพ.ศราวุฒิ : การผ่าครั้งที่สอง เราจะใช้ข้อมูลทั้งหมด ไม่ว่าข้อมูลรูปถ่ายจากที่เกิดเหตุ หรือนิติวิทยาศาสตร์เอง จะมีการประสานขั้นตอนกับรพ.นิติเวชตำรวจ ว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง ตรงไหนตัดตรวจแล้วบ้าง เป็นการประสานเอาข้อมูลเพื่อประมวลนำมาการพิสูจน์ในประเด็นต่างๆ ที่ญาติร้องขอมา คือผ่าครั้งที่สอง ทุกอย่างจะถูกเอามาประมวลด้วยกัน ความยากของมันคือข้อมูลส่วนใดส่วนหนึ่งหายไป ความยากครั้งที่สองก็ต่อเมื่อไม่มีข้อมูลที่เกิดเหตุ ไม่มีข้อมูลว่าการผ่าครั้งแรกทำอะไรไปแล้วบ้าง แต่ถ้าทุกอย่างเอามากองอยู่บนโต๊ะเดียวกัน กางออกทั้งหมด ความยากจะลดลง
มุมคุณแม่ร้องฝั่งกระทรวงยุติธรรม ส่วนนึงเขาไม่เชื่อมุมตร.หรือยังไง?
ธนกฤต : ไม่ได้มีประเด็นเรื่องไม่เชื่อ เท่าที่พูดคุยกับทนาย ที่มาให้เราตรวจในครั้งที่สอง อาจมีเรื่องสังคมที่สงสัยและถามกันด้วยส่วนนึง แล้วก็ทางคุณแม่เองมีประเด็นสงสัยอีกหลายประเด็น ที่คุณแม่ยังไม่ได้รับการชี้แจง เช่นมีร่องรอยที่หน้าอก ฟัน หรือศีรษะ หรือบาดแผลที่เป็นบาดแผลใหญ่ ทำให้คุณแม่เองไม่สบายใจ เลยหารือกับทนายความ ทนายความเลยบอกว่าควรให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาร่วมด้วย จึงได้ยื่นเรื่องมาเฉพาะเกี่ยวข้องกับการผ่าพิสูจน์ศพ เลยเป็นที่มาของการรับเรื่องนี้