หมอคิม แพทย์ความงามคนดัง เตือนภาวะไวต่อยาสลบจากพันธุกรรม 14 นามสกุลนี้ต้องระวัง! พบยาก 1 ในแสน
นพ.กิตติธัช สินพิพัฒน์พร หรือ หมอคิม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเสริมความงาม โพสต์ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะ Malignant Hyperthermia (MH) ผ่าน Tiktok @dr.kimtun โดยระบุว่า จากข่าวที่มีคนไข้เสริมจมูก เสียชีวิตในคลินิกจากภาวะ Malignant Hyperthermia นั้น จริง ๆ แล้วโรคนี้เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จากรุ่นปู่ รุ่นทวด สู่รุ่นลูกหลาน
ซึ่งในประเทศไทยมีรายงานอยู่ 14 นามสกุล ที่มีความเสี่ยง คนที่อยู่ในตระกูลเหล่านี้ควรเฝ้าระวังไว้ เวลาที่เราไปผ่าตัดจะได้บอกหมอ หรือหมอดมยา ว่าเรายีนตัว Malignant Hyperthermia เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เพราะว่าโรคนี้ต้องใช้ยาแอนตี้โดสชื่อว่า “Dantrolene” ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่น้อยมาก ๆ และมีเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ซึ่งบางทีเก็บไว้จนยาหมดอายุยังไม่ได้ใช้ เพราะว่าอุบัติการณ์นี้เกิดแค่ 1 ในแสนคนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เสียชีวิตในข่าวล่าสุด ไม่ได้อยู่ใน 14 นามสกุลที่ระบุ ซึ่งหากยืนยันว่าเป็นภาวะนี้จริง ต้องมีการบันทึกเพิ่มเติมต่อไป เพราะ 14 นามสกุลนี้ เป็นกรณีที่มีการตรวจพบและบันทึกเอาไว้ ซึ่งอาจจะมีอีกหลายสายตระกูลที่มีความเสี่ยง แต่ไม่เคยตรวจหรือยังไม่มีประวัติ
สำหรับโรค Malignant hyperthermia เป็นภาวะผิดปกติที่มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรืออาจจะเกิดขึ้นเองในภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงของยีน เป็นโรคที่มีความผิดปกติของการควบคุมแคลเซียมบริเวณกล้ามเนื้อลาย ซึ่งเกิดจากภาวะเมตาบอลิซึมที่สูงมากจากการได้รับสารกระตุ้น เช่น ยาดมสลบ หรือยาหย่อนกล้ามเนื้อบางชนิด โดยอุบัติการณ์ถือว่าพบได้น้อยมากประมาณเพียง 0.0005% แต่หากเกิดขึ้นแล้วความรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้สูงมาก ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีประวัติ MH ในครอบครัว, ผู้ป่วยที่มีประวัติการเกิด MH หรืออาการคล้าย MH ผู้ป่วยที่มีโรคที่อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิด MH ถือเป็นผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงควรแจ้งแพทย์ให้ทราบเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการดมยาสลบก่อนการผ่าตัด
สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย Th PRS ได้มีการให้ข้อมูลด้วยว่า ภาวะ MH เป็นภาวะที่พบได้น้อยมากแต่มีอันตรายถึงชีวิต อัตราการเกิดอยู่ที่ 1 รายต่อการผ่าตัด 5000-100,000 ครั้ง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากร่างกายของผู้ป่วยได้รับการกระตุ้นโดยยาสลบบางชนิด ในผู้ที่ไวต่อยากลุ่มนี้ หากได้รับยาเข้าไปจะทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายเกิดการเผาผลาญอย่างรุนแรงและควบคุมไม่ได้ จนกระทั่งร่างกายไม่สามารถนำออกซิเจนมาเลี้ยงได้เพียงพอ ขับคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ทัน และอุณหภูมิร่างกายเสียสมดุลย์ อันจะนำไปสู่ระบบไหลเวียนล้มเหลวและเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการไวต่อยาสลบและเกิดภาวะ MH ขึ้นนั้นส่วนใหญ่จะถ่ายทอดกันผ่านยีนเด่นในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ หรือพี่น้อง ที่มีอาการอย่างเดียวกัน สำหรับผู้ที่เคยมีภาวะ MH หรือเป็นผู้ที่มีความเสี่ยง สามารถเลี่ยงไปใช้ยาสลบแบบอื่น นอกเหนือจากยาดมสลบ เช่น ยาสลบชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด รวมทั้งเลี่ยงการใช้ succinylcholine นอกจากนี้การผ่าตัดโดยใช้ยาชาเฉพาะที่ก็ปลอดภัยจากภาวะ MH เช่นกัน