สบส.-อย. เร่งตรวจสอบวัคซีนจอห์นสันฯ หลังคนหิ้วมาให้คลินิก จ.สระแก้ว ฉีด ชี้แพทย์ไม่ควรฉีดโดยไม่รู้ที่มา แพทยสภายันยังไม่มีวัคซีนนี้ในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2564 นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงกรณีมีผู้ได้รับวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่คลินิกเอกชนแห่งหนึ่งใน จ.สระแก้ว มีค่าใช้จ่าย 2,800 บาท ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการนำเข้ามาถูกกฎหมายหรือไม่ ว่า วัคซีนที่ใช้ต้องเป็นวัคซีนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องไปดูว่าวัคซีนที่หิ้วมานั้นคืออะไร ผ่านกระบวนการเข้ามาอย่างถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากกระบวนการรับรองวัคซีนที่จะใช้มีเรื่องของความปลอดภัยด้วย ขอตรวจสอบไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เนื่องจากการทำงานของสบส.ในต่างจังหวัด ได้มอบอำนาจให้ สสจ. เป็นผู้อนุญาตและตรวจสอบ
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า วัคซีนที่จะฉีดได้ คือ 1.ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ 2.วัคซีนต้องมีกลไกในการบริหารจัดการ โดยสถานพยาบาลเป็นเจ้าของวัคซีน เพราะจะมีเรื่องความปลอดภัยในการจัดเก็บวัคซีนในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่ใช่ว่าจะเอาอะไรมาฉีดให้คนไข้ หมอต้องตรวจสอบคุณภาพวัคซีนว่าถูกต้องตามกฎหมายของไทยหรือไม่ นำเข้าถูกต้องหรือไม่ ใครเป็นคนนำเข้า เพราะการฉีดวัคซีนจะส่งผลต่อการออกใบรับรองการฉีดวัคซีนที่ต้องระบุว่ายี่ห้ออะไร ล็อตนัมเบอร์อะไร และจะนำมาสู่การออกวัคซีนพาสปอร์ตในอนาคต
ทพ.อาคม กล่าวต่อว่า ต่อให้ไม่ใช่วัคซีนโควิด-19 แต่เป็นยาหรือวัคซีนใดๆ ก็ตาม ตามหลักแล้วคนไข้มาที่คลินิก คลินิกจะต้องใช้ยาหรือวัคซีนของคลินิกในการให้บริการ หากคลินิกไม่มีกำลังเพียงพอก็ต้องประสานส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่มีศักยภาพกว่า หรือประสานสถานพยาบาลอื่นเพื่อขอยืมยา หรืออะไรก็ตามเพื่อมาให้บริการผู้ป่วย ไม่ใช่ไปเอาอะไรก็ไม่รู้มาฉีดให้ ยิ่งคนไข้หิ้วมาเองก็ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน
ผู้สื่อข่าวถามว่า วัคซีนจอห์นสันฯ มีการขึ้นทะเบียนในไทย แต่ยังไม่มีผู้นำเข้า หลายฝ่ายกังวลว่าจะเกิดการหิ้วหรือค้าวัคซีนเถื่อน ทพ.อาคม กล่าวว่า การนำเข้าวัคซีนปกติต้องผ่าน อย. และคนนำเข้าควรเป็นสถานพยาบาล ต้องมีการจัดเก็บที่เหมาะสม เพื่อส่งต่อสถานพยาบาลที่เป็นลูกข่ายฉีดต่อ เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบก่อน แต่คิดว่าคงไม่มีใครหิ้ววัคซีนข้ามชาติเหมือนในอดีตที่มีคดีหิ้วอสุจิข้ามชาติเพื่อทำอุ้มบุญผิดกฎหมาย แต่จะเป็นประเด็นเรื่องการเก็บไม่เหมาะสม ทำให้วัคซีนที่ฉีดไม่มีประโยชน์ หรืออาจจะมีปัญหาความแทรกซ้อน เราห่วงความปลอดภัยมากกว่า
ด้าน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ตามข้อบังคับจริยธรรมวิชาชีพ ปี 2549 มีหลายมาตราที่กล่าวไว้ในเรื่องนี้ โดยมาตรา 22 ระบุว่า แพทย์จะต้องไม่ประกอบวิชาชีพโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย ดังนั้น การให้ยาใดๆ จำเป็นต้องรู้ชนิด ขนาดของยา และความเหมาะสม เพื่อความปลอดภัย
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีแพทย์ฉีดวัคซีนที่ผู้ป่วยนำมาเองก็ทำได้ กรณีที่มีใบสั่งฉีดยาหรือมีประวัติ หรือมีข้อมูลจาก รพ. เช่น รพ.จังหวัดให้ยากับผู้ป่วยไปฉีดที่ รพ.สต.หรือคลินิกในยาบางรายการที่ใช้รักษา แต่ต้องมีผลการวินิจฉัยและรายละเอียดที่ติดต่อได้ของแพทย์หรือใบรับรองแพทย์มาประกอบด้วย ส่วนกรณีที่ จ.สระแก้ว เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้ไม่มีในประเทศไทย นับว่ายังไม่ได้มีการรับรองการใช้ที่ปลอดภัยในประเทศ โดยทั่วไปถ้าไม่ได้มีหลักฐานเอกสาร ปกติแพทย์ไม่ควรจะตัดสินใจฉีดให้ โดยไม่ทราบที่มาที่ไป
“ในกรณีดังกล่าวต้องตรวจสอบก่อนว่ามีเอกสารหลักฐานอะไรกำกับหรือไม่ หรือเป็นเอกสารมาจากประเทศที่มีวัคซีนนี้ใช้อยู่หรือไม่ ในรายนี้ตอบไม่ได้ ต้องสอบสวนที่มาที่ไปก่อน มีเอกสาร หลักฐานการฉีดมาจากต่างประเทศ และมีใบรับรองฉีดเป็นเข็มที่ 2 หรือไม่อย่างไร ฯลฯ ที่สำคัญคือวัคซีนต้องมีกระบวนการจัดเก็บที่ถูกต้อง เพราะมีผลต่อคุณภาพของวัคซีน แล้วเป็นวัคซีนชนิดที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ ถ้าจริงแล้วมีความปลอดภัยเพียงใดในการฉีด ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น หรือมีผู้ร้องเรียนแพทย์ก็ต้องรับผิดชอบ แพทยสภาจะทำหนังสือถึง สสจ.เพื่อขอรายละเอียดเหล่านี้มาประกอบการพิจารณา”
พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวอีกว่า ขอเตือนว่าการฉีดยาหรือวัคซีนใดๆ ให้กับตัวเอง ขอให้ดูที่มาที่ไปที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะวัคซีนต่างๆ ที่ต้องรักษาสภาพ คุณภาพด้วยอุณหภูมิต่างกัน ขอให้ตรวจสอบความปลอดภัย หากมีผู้โฆษณาว่าสามารถนำเข้ามาเพื่อไปฉีดได้ ก็ขออย่าเพิ่งเชื่อ ให้ตรวจสอบให้แน่ใจเสียก่อน ย้ำว่าความปลอดภัยไม่สามารถรับรองข้ามประเทศได้ วัคซีนชนิดหนึ่งที่ได้รับรองความปลอดภัยในประเทศหนึ่ง อาจจะไม่ได้รับการรับรองในประเทศหนึ่ง หากมีปัญหาเกิดขึ้น ท่านต้องรับผิดชอบตัวเอง
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า วัคซีนที่นำเข้าโดยผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตนำเข้าถือเป็นวัคซีนผิดกฎหมายทั้งหมด เป็นการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน แม้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับทะเบียนแล้ว แต่ผู้นำเข้าไม่ใช่คนที่ได้รับอนุญาตก็ถือว่าผิดกฎหมาย ยกเว้นบางกรณีของหน่วยราชการ เช่น กรมควบคุมโรค สถานทูต เพราะเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ จะประสานไปที่ สสจ.สระแก้ว โดยกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้ เนื่องจากเราเป็นห่วงคนที่ไปฉีด ไม่รู้ว่าเป็นของจริงหรือไม่ เป็นวัคซีนอะไร เพราะต้องเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาการลักลอบนำเข้าวัคซีนในประเทศ
“อันดับแรกต้องตรวจสอบว่า วัคซีนที่นำเข้ามาใช่วัคซีนจอห์นสันฯ หรือไม่ แต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตนำเข้าตอนนี้ คือ บริษัทแจนเซ่น ซีแลค จำกัด ดังนั้น หากเป็นคนอื่นๆ บริษัทอื่นนำเข้ามา ถือว่าผิด เบื้องต้นการเอาเข้ามาโดยไม่รับได้อนุญาต ผิด พ.ร.บ.ยา มาตรา 12 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต ขาย หรือนำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแผนปัจจุบัน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท” นพ.ไพศาล กล่าว