ทุกการซื้อตัว และต่อสัญญานักเตะ ย่อมมีการตกลงเงื่อนไขอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าเหนื่อย ระหว่างผู้เล่นกับสโมสร เช่น เงินโบนัสทำประตู, เก็บคลีนชีท, ช่วยต้นสังกัดคว้าแชมป์
แต่คงไม่มีสัญญาฉบับไหนระบุเงื่อนไขแปลกประหลาดเท่ากับ ดีลคว้าตัวผู้เล่นค่าตัวสถิติสโมสรซันเดอร์แลนด์ ในปี 1999 เมื่อทีมดังประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนืออังกฤษ ลงรายละเอียดในสัญญา “ห้ามนักเตะคนนี้ออกเดินทางไปท่องเที่ยวอวกาศโดยเด็ดขาด”
ทำไมถึงมีข้อตกลงที่หลุดโลกแบบนี้เกิดขึ้นมาได้ ? และการออกเดินทางสู่ห้วงอวกาศจริง ๆ จะเกิดผลกระทบต่อตัวนักบอลกับสโมสรอย่างไรบ้าง ?
ความฝันกับจักรวาล
มนุษย์ต่างมีความฝันที่แตกต่างกันไป บ้างอยากเป็นนักกีฬาระดับโลก บ้างต้องการไปสัมผัสดวงดาวด้วยตัวเอง ความฝันจึงเป็นแรงบันดาลใจ ผลักดันให้ใครหลายคนกระทำมันได้สำเร็จ
สเตฟาน ชวาร์ซ เด็กชายชาวสวีดิช ลืมตาดูโลกในปีเดียวกับที่ นีล อาร์มสตรอง มนุษย์คนแรกเหยียบบนดวงจันทร์ (ค.ศ. 1969) เขาจึงมีความอยากขึ้นไปท่องอวกาศได้ในสักวัน
แต่ฝันในวันนั้นมันช่างห่างไกลเหลือเกิน อวกาศ ถูกสงวนให้เฉพาะบุคคลผู้มีพื้นฐานการบินเข้มข้น หรือต้องเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ ทำให้ชวาร์ซเข้าใกล้ความฝันได้มากสุดแค่จากบนเครื่องบิน ที่เดินทางเขาจากบ้านเกิดเพื่อไปตามรอยอีกเส้นทางฝัน
Photo : Malmo FF
ชวาร์ซ เริ่มต้นค้าแข้งจากการเป็นเด็กในอคาเดมี คูลาดัลส์ สโมสรท้องถิ่น ก่อนย้ายไปเติบโตในเยอรมันเป็นเวลาสองซีซั่นกับทีมเยาวชนของ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน กระทั่งปี 1987 เขากลับสวีเดนมาประเดิมอาชีพนักเตะกับ มัลโม ด้วยวัยเพียง 18 ปี
ฝีเท้าของเขาเตะตาแมวมองทั่วยุโรป ทำให้ชวาร์ซมีโอกาสย้ายไปค้าแข้งกับหลาย ๆ ทีมชื่อดัง ไล่มาตั้งแต่ เบนฟิกา, อาร์เซนอล, ฟิออเรนตินา ก่อนจะมาประสบความสำเร็จกับ บาเลนเซีย เพราะเขามีส่วนช่วยให้ “ไอ้ค้างคาว” คว้าแชมป์ อินเตอร์โตโต คัพ และ โคปา เดล เรย์ ในปี 1999
Photo : ElDesmarque
ส่งผลให้ในปีนั้น สเตฟาน ชวาร์ซ ผงาดคว้ารางวัล Guldbollen ที่มอบให้กับนักเตะสวีเดนยอดเยี่ยมแห่งปี นับเป็นเกียรติยศเดียวกับที่ ซลาตัน อิบราฮิโมวิช, เฟรดริก ลุงเบิร์ก, และ เฮนริก ลาร์สสัน ต่างเคยได้รับมาแล้ว และเครื่องการันตีว่าเขานี่แหละคือ นักฟุตบอลสวีดิชที่ดีสุด ณ เวลานั้น
ไม่แปลกเลยหากในปีเดียวกัน ซันเดอร์แลนด์ จะยอมทุบสถิติค่าตัวผู้เล่นสโมสร 4 ล้านปอนด์ เพื่อกระชากมิดฟิลด์ฝีเท้าฉกาจเช่นเขามาร่วมทีม
เส้นทางอาชีพนักเตะของ ชวาร์ซ กำลังรุ่งเรืองถึงขีดสุด จนกระทั่งความฝันในวัยเยาว์ที่เคยหายลับไป อยู่ดี ๆ ก็กลับมาเด่นชัดอีกหน
จะออกไปแตะขอบฟ้า
ย้อนไปในปี 1998 บริษัท Space Adventures ได้ก่อตั้งขึ้น พร้อมคำมั่นสัญญาว่าจะพาพลเรือนคนแรก ที่ไม่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับด้านดาราศาสตร์ ขึ้นไปเพื่อไปเที่ยวนอกโลกภายในปี 2002
วงการอวกาศที่เคยถูกผูกขาดให้กับคนเพียงหยิบมือ กำลังจะถูกเปิดกว้างให้เข้าถึงได้โดยใครก็ได้ที่มีกำลังทรัพย์ กับความกล้าเสี่ยงออกเดินทางด้วยความเร็วเหนือเสียงเกือบร้อยเท่า มีหรือที่จะไร้ซึ่งกระแสตอบรับจากเหล่าผู้อยากออกไปแตะขอบฟ้า
ข่าวคราวดังกล่าวลอยข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมาถึงเกาะอังกฤษ จนถึงหู ชวาร์ซ ผู้กำลังอยู่ระหว่างเจรจาสัญญากับซันเดอร์แลนด์พอดี โอกาสที่นักฟุตบอลจะเป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้ไปอวกาศ เคียงข้างกับเหล่านักบินกองทัพ, นักธรณีวิทยา, และวิศวกร อาจกำลังจะเกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว
Photo : Sportbibeln
หนึ่งในที่ปรึกษาของ ชวาร์ซ ถึงขั้นจองตั๋วบนเที่ยวบินไฟลท์ปฐมฤกษ์ไว้แล้ว มันคงแปลกน่าดูหากนักเตะผู้มีความฝันอยากไปลอยอยู่กลางหมู่ดาว จะยอมพลาดอะไรแบบนี้ไว้ละ
แต่เมื่อเรื่องไปถึงหูของ จอห์น ฟิกลิ่ง ผู้เป็นซีอีโอของสโมสรในตอนนั้น จึงได้มีเงื่อนไขพิเศษเพิ่มในสัญญา คือ “หากชวาร์ซบินขึ้นไปอวกาศเมื่อไหร่ สัญญาของเขากับซันเดอร์แลนด์ถือเป็นอันขาดกัน”
ชวาร์ซไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ แม้จะเซ็นสัญญารับข้อตกลงไปแล้วก็ตาม เขาเปิดใจกับหนังสือพิมพ์ Aftonbladet ในต้นปี 2000 และย้ำถึงความปรารถนาอันแรงกล้าในการล่าที่นั่งบนภารกิจสุดแสนจะพิเศษนี้
Photo : Sunderland AFC
“มันคือสิ่งที่คุณจะให้รางวัลตัวเองสักครั้งในชีวิต ไม่มีใครจะไปเที่ยวอาทิตย์ละสองครั้งหรอก”
เมื่อถูกถามถึงเงื่อนไขห้ามไปอวกาศ ชวาร์ซยังคงหวังอยู่ “ต้องรอดูว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไป ถึงสโมสรจะพยายามไม่ให้ผมไปน่ะนะ”
แน่นอนล่ะ ใครเขาจะปล่อยให้นักฟุตบอลซึ่งเปรียบเสมือนสมบัติราคาแพงของสโมสรออกไปเที่ยวอวกาศได้ง่าย ๆ กัน
ประกันยังไม่กล้าเคลม
สโมสรมีสิทธิ์ที่จะกังวลได้ เพราะอวกาศมีเรื่องที่เรายังไม่รู้อยู่มาก วัตถุต่าง ๆ ในเอกภพนี้ช่างน่าสะพรึงกลัว เช่น หลุมดำมวลมหึมาผู้สามารถเขมือบทั้งระบบสุริยะให้หายไป และคุณไม่ควรอยู่ใกล้กับบรรดาดาวฤกษ์สิ้นอายุขัย ซึ่งพร้อมจะระเบิดเป็นมหานวดารา หรืออีกชื่อว่า ซูเปอร์โนวา ที่ทั้งแสนสวยงามและอันตรายอย่างบ้าคลั่งในเวลาเดียวกัน
ก่อนที่จะหลุดประเด็นไปไกล ปรากฏการณ์ข้างต้นนั้นมีจริง แต่อยู่ไกลจากโลกเราไปไกลหลายล้านปีแสง การท่องอวกาศของชวาร์ซนั้นแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากเทหวัตถุดังกล่าวเลย การไปอวกาศนั้นจึงไม่ได้น่ากลัวมากเหมือนอย่างบางคนเข้าใจ
ยกตัวอย่างกรณีของ เดนนิส ติโต ผู้เป็นนักท่องเที่ยวอวกาศคนแรกในปี 2001 จะเห็นว่าเขาเดินทางไปถึงแค่สถานีอวกาศนานาชาติ หรือ ISS ซึ่งอยู่สูงจากผิวโลกไปแค่ 400 กิโลเมตรเท่านั้น ไม่ได้ออกไปไกล จนเข้าสู่แถบรังสีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์เลย
Photo : Science Photo Library
อีกทั้งระยะเวลาที่อยู่ในอวกาศก็สั้นเพียงแค่หนึ่งอาทิตย์เท่านั้น ต่อให้ร่างกายของติโตต้องเผชิญกับรังสีที่รุนแรงกว่าบนโลก หรือสูญเสียมวลกระดูกและกล้ามเนื้อไปบ้าง จากสภาวะไร้น้ำหนัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้ร่างกายของเขาอ่อนแอลงจนเป็นอันตราย
นาซาได้ทดลองกับฝาแฝดนักบินอวกาศ มาร์ค และ สก็อต เคลลี โดยใช้เวลา 1 ปีเพื่อติดตามและสังเกตการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของทั้งคู่ โดยพบว่า สก็อต เคลลี ผู้อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ได้เผชิญปัญหาร้ายแรงสุด แค่โครโมโซมที่ต่างไปจากก่อนออกเดินทาง ซึ่งเมื่อกลับสู่โลก สก็อต ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่ได้ผิดแปลกจนกระทบการทำกิจวัตรประจำวันของเขาไป
Photo : BBC
เรื่องเดียวที่ค่อนข้างมีผลกระทบสำหรับคนธรรมดาที่อยากไปเที่ยวนอกโลก คือ ตั๋วเดินทาง ที่มีสนนราคาสบายกระเป๋าเพียง 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในตอนนั้น หรือประมาณ 900 ล้านบาทไทย
ถึงแม้การบินไปนอกโลกจะไม่ได้น่ากลัวจนเกินไป แต่คงไม่มีประกันภัยเจ้าไหนที่อยากคุ้มครองความเสี่ยงของ บุคคลผู้ยอมเอาชีวิตตัวเองไปวางไว้เหนือจรวดลำยักษ์ ที่พร้อมจะระเบิด หรือเกิดข้อผิดพลาดได้อยู่ตลอดเวลา
กรณีเดียวกันนี้เคยทำให้นักบินอวกาศในยุคโครงการอพอลโล ที่ออกไปทำภารกิจสำรวจดวงจันทร์ ต้องทำประกันชีวิตให้กับตัวเอง ด้วยการเซ็นโปสการ์ดภารกิจไว้เป็นจำนวนมาก และฝากให้ครอบครัวหรือเพื่อนฝูงเก็บไว้
Photo : iCollector.com
เผื่อในกรณีที่นักบินอวกาศไม่อาจกลับโลกมาได้ ลายเซ็นสุดท้ายของฮีโร่ผู้ล่วงลับเหล่านี้ จะมีมูลค่าเพียงพอในการนำออกไปประมูลขาย เพื่อช่วยจุนเจือให้กับครอบครัวของพวกเขา หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่อชีวิต
เช่นกันกับ ชวาร์ซ ประกันย่อมไม่ครอบคลุมความเสี่ยงที่สูงขนาดนี้ และต่อให้ตัวเขาอาจนำแนวทางจากนักบินอวกาศมาใช้เป็นประกันชีวิตตัวเอง สโมสรต้นสังกัดก็ส่ายหน้าไม่ยอมเดิมพันด้วย จึงกลายเป็นที่มาของเงื่อนไขสุดแปลกแต่จริงข้อนี้
Photo : Planet Football
ฟิกลิ่งให้สัมภาษณ์กับทาง BBC Radio 5 ว่า “มันเป็นคำร้องขอที่สมเหตุสมผล ปกติแล้วเราจะทำประกันให้กับนักเตะตลอดระยะเวลาของสัญญา ซึ่งประกันเหล่านี้ก็ย่อมมีข้อยกเว้นอยู่ หนึ่งในนั้นก็คือกิจกรรมที่อาจเป็นอันตราย”
“ท้ายที่สุดแล้วผมพยายามปกป้องสโมสรของพวกเรา จริง ๆ นะ มันเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้พวกเราสบายใจ ในการต่อรองสัญญาอันแสนยืดยาวนี้”
“แต่ในวันหนึ่ง มันอาจเป็นเรื่องที่ยอมรับอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ที่จะใส่ข้อตกลงนี้ลงไปในสัญญาอื่น ๆ”
วันที่ฟ้าใกล้เรามากขึ้นกว่าเดิม
ต้องยอมรับเลยว่าฟิกลิ่งอ่านขาดจริง ๆ กับอนาคตของการท่องเที่ยวอวกาศ ที่ตัวเขาเองเคยแอบผิดหวังมาแล้ว ว่าในปัจจุบันนี้บรรดานักบินอวกาศยังไม่มีโอกาสเป็นเจ้าของยานอวกาศส่วนตัวกัน
ชวาร์ซ อาจเกิดช้าเกินกว่าจะได้ชมถ่ายทอดสดการลงดวงจันทร์ และเร็วเกินที่จะเห็นการท่องเที่ยวอวกาศกลายมาเป็นเรื่องปกติ เพราะด้วยสภาพร่างกายที่เพียบพร้อม กระเป๋าตังค์ใบใหญ่ และความพร้อมของเทคโนโลยีในขณะนี้ การบินไปเที่ยวดวงจันทร์ช่วงปิดฤดูกาล หรือทะยานดูพระอาทิตย์ขึ้นเหนือชั้นบรรยากาศ ล้วนเป็นไปได้ทั้งนั้น
Photo : Box to Box Football
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่นักบินอวกาศเหล่านี้จะประสบปัญหาบาดเจ็บจากการไปอวกาศก็ยังคงมีอยู่ ต่อให้พวกเขาจะมีร่างกายที่แข็งแรง หรือออกกำลังกายทุกวัน ก็ไม่อาจต้านกับการสูญเสียมวลกระดูกในร่างกายไปได้
นั่นเพราะตลอดชีวิตของเกือบทุกคนบนโลกใบนี้ เท้าของเราคือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้มนุษย์ยังคงยืนเด่นโดยท้าทายต่อแรงโน้มถ่วงได้
ซึ่งในสภาวะไร้น้ำหนักที่นอกโลกนี้ เท้าของเรานั้นถูกลดความสำคัญลงไปเป็นอย่างมาก หน้าที่หลัก ๆ ของมันนั้นแทบจะเหลือแค่ช่วยรั้งไม่ให้ตัวของนักบินอวกาศลอยเคว้งไปทั่วสถานีอย่างไร้จุดหมายเท่านั้นเอง
Photo : Newcastle Chronicle
แล้วเรื่องราวของชวาร์ซละเป็นอย่างไร ? หลังจากเจรจาต่อรองสัญญากับทีมในที่สุด เขาก็ยอมใจอ่อนให้ซันเดอร์แลนด์ ระบุเงื่อนไขสุดแปลกลงไปในสัญญา และตลอด 4 ปีที่ค้าแข้งกับสโมสร ชวาร์ซ รักษาข้อตกลงที่จะบินออกนอกโลก จนถึงวันที่เขาแขวนสตั๊ดกับทีมที่ไม่ยอมให้เขาไปอวกาศ
และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ผ่านมา 18 ปีแล้ว ชวาร์ซ ก็ยังไม่เคยเข้าใกล้กับการไปอวกาศเลยแม้แต่ครั้งเดียว (โถ่ ชีวิต)