กลายเป็นอีกหนึ่งไวรัลในโลกโซเชียล ที่ครั้งนี้มาด้วยสาระแบบเต็มๆ ด้วยการมอบความรู้ด้านภาษาไทย ซึ่งเชื่อว่าคนไทยเองแท้ๆ หลายคนไม่ทราบ หรือเข้าใจผิดมาตลอด
เมื่อล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก คำไทย ที่มีผู้ติดตามกว่า 6.7 แสนคน ได้นำเสนอเรื่องตัว “การันต์” และ “ทัณฑฆาต” มีใจความดังนี้
“[ “การันต์” ไม่เท่ากับ “ทัณฑฆาต” ]
.
คำว่า “ทัณฑฆาต” มาจากคำว่า “ทัณฑ” [อ่านว่า ทัน-ทะ] แปลว่า แท่งไม้ กับคำว่า “ฆาต” แปลว่า การฆ่า การทำลาย คำว่า “ทัณฑฆาต” หมายถึง เครื่องหมายที่ใช้ฆ่าตัวอักษรที่ไม่ต้องออกเสียง เครื่องหมายต่าง ๆ ที่ใช้กำกับตัวอักษรในภาษาไทยเรียกว่าไม้ เช่น ไม้ไต่คู้ ไม้ยมก เครื่องหมายทัณฑฆาตจึงเรียกอีกอย่างว่า “ไม้ทัณฑฆาต”
.
ส่วนคำว่า “การันต์” [อ่านว่า กา-รัน] หมายถึง ตัวอักษรที่ไม่ออกเสียง เช่น ในคำว่า พงศ์ มี ศ ศาลา เป็นตัวการันต์ คือเป็นตัวอักษรที่ไม่ออกเสียง ซึ่งแสดงด้วยไม้ทัณฑฆาตที่เขียนไว้บนตัว ศ ศาลา เมื่อจะพูดถึงเครื่องหมายที่ใช้ฆ่าตัวอักษรจะใช้คำว่า ไม้ทัณฑฆาต แต่เมื่อจะพูดถึงตัวอักษรที่มีเครื่องหมายดังกล่าวจึงจะเรียกว่า ตัวการันต์ เช่น คำว่า แพทย์ มี ย ยักษ์ เป็นตัวการันต์. คำว่า ยนต์ มี ต เต่า เป็นตัวการันต์.
.
ที่มา บทวิทยุรายการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เวลา ๗.๐๐-๗.๓๐ น.”
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเพจดังอย่าง ว่าด้วยเรื่องของภาษา ยังได้เข้ามาคอมเมนต์เสริมความรู้เพิ่มเติมให้อีกด้วยว่า
“สอนแบบนี้เหมือนสอนไม่ครบครับ ไม่มีอธิบายว่าทำไมต้องไปใส่การันต์ฆ่าเสียงทิ้งด้วย
ควรอธิบายในบทเรียนเพิ่มว่า “คำที่มีทัณฑฆาต เป็นคำที่ยืมจากภาษาต่างประเทศเช่นภาษาบาลี, สันสกฤต, อังกฤษ ในภาษาดั้งเดิมจะออกเสียงครบทุกตัว แต่เมื่อภาษาไทยรับคำมาแล้วออกเสียงยาก จึงตัดเสียงทิ้งและใส่ทัณฑฆาตไปแทน”
อย่างน้อยก็ให้รู้ว่า เดิมมันออกเสียงนะ แต่เราอ่านยากเลยตัดเสียงออก
ในกรณีคำยืมอังกฤษ อาจจะต้องสอนแยกด้วยว่าควรออกเสียงในตัวการันต์ด้วย เพื่อให้คนไทยสามารถอ่านคำศัพท์ภาษาเขาได้ถูกต้องมากขึ้น และสื่อสารกับคนต่างชาติได้ดีขึ้น”
หลังจากที่โพสต์นี้เผยแพร่ออกไปไม่ถึง 24 ชม. ก็มีการกดไลก์และแชร์ออกไปมากกว่า 1 พันครั้ง โดยส่วนใหญ่ต่างคอมเมนต์เป็นไปในทิศทางกันว่า เรียกทั้งหมดว่า “ตัวการันต์” มาโดยตลอด ไม่มีการแยกพยัญชนะหรือเครื่องหมายใดๆ รวมไปถึงอีกหลายคนที่ไม่เคยได้ยินคำว่า “ไม้ทัณฑฆาต” มาก่อนด้วยซ้ำ