แบบทดสอบ คุณเสี่ยง “โรคหัวใจ-หลอดเลือด” มากแค่ไหน หลายท่านน่าจะรู้จักหรือคุ้นหูกับ กลุ่มโรค NCDs หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกันไม่มากก็น้อย จากข้อมูลของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ระบุเอาไว้ว่า กลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้นเป็นชื่อเรียกกลุ่มโรคที่ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส คลุกคลี หรือ ติดต่อผ่านตัวนำโรค (พาหะ) หรือสารคัดหลั่งต่างๆ แต่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ภายในร่างกาย
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากไลฟ์สไตล์วิถีการใช้ชีวิต เช่น บุคคลที่มีพฤติกรรมดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ สูบบุหรี่เป็นประจำ บุคคลที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารหวานมันเค็มจัด บุคคลที่ขาดการออกกำลังกายก็มักจะเกิดกลุ่มอาการนี้ สำหรับประเทศไทย โรคในกลุ่ม NCDs ที่มีอัตราผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตสูงสุด 6 โรค ได้แก่
- โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)
- โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ (Cardiovascular & Cerebrovascular Diseases)
- โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคอ้วนลงพุง (Obesity)
- โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
- โรคมะเร็ง (Cancer)
Cardiovascular disease คืออะไร
อาจารย์ ดร.กภ.ธวัชชัย ลักเซ้ง แพทย์สาขากายภาพบำบัดระบบประสาท สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ระบุว่า Cardio หมายถึง “เกี่ยวกับหัวใจ” vascular หมายถึง “หลอดเลือด” disease หมายถึง “โรค” เมื่อเรานำความหมายมารวมกันทั้งหมด ก็จะหมายความว่าโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ ซึ่งจะประกอบไปด้วย โรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น โรคหัวใจ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวายเฉียบพลัน ฯลฯ นอกจากนี้ยังหมายความรวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคอัมพาตครึ่งซีก (หรือ stroke) อีกด้วย
สาเหตุของโรคหัวใจและหลอดเลือดเกิดจากวิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เช่นการรับประทานที่มากเกินพอดี รับประทานอาหารรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด รับประทานผักผลไม้น้อย มีกิจกรรมทางกายลดลง ไม่ออกกําลังกาย เครียด และพักผ่อนไม่เพียงพอ ประกอบกับการสูบบุหรี่ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ จะส่งผลให้เกิดภาวะนํ้าหนักเกิน อ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และนําไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในที่สุด
- 5 พฤติกรรมเสี่ยงโรคหัวใจ
Thai CV Risk Score คืออะไร
Thai CV Risk Score คือ การนําปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด มาคิดเป็นคะแนนที่สามารถแปลผลเป็นตัวเลขความเสี่ยงสำหรับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต สําหรับคนไทยโดยเฉพาะ โดยในแต่ละประเทศก็จะมีชื่อของ risk score นี้ที่แตกต่างกันออกไป เช่น Framingham Risk Score for Hard Coronary Heart Disease จากประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น
รูปที่ 1 ตัวอย่างแบบประเมิน Framingham Risk Score for Hard Coronary Heart Disease
Thai CV risk score พัฒนาจากการศึกษาอิทธิพลของปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดโดยตรง เป็นการติดตามคนไทยกลุ่มพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นระยะเวลายาวนานถึง 30 ปี มีผู้เข้าร่วมในโครงการถึง 9,000 คน โดยมีกลุ่มประชากรทั้งในกรุงเทพ และต่างจังหวัด (กาญจนบุรี และ ตาก) โดยสรุปปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด 8 ข้อ ดังนี้คือ
- อายุ (ปี)
- เพศ (หญิง/ชาย)
- การสูบบุหรี่ (สูบ/ไม่สูบ)
- โรคเบาหวาน (เป็น/ไม่เป็น)
- ความดันโลหิตตัวบน (มิลลิเมตรปรอท)
หากมีผลเลือดประกอบด้วย ก็จะใช้ค่า
- คอเลสเตอรอลรวม (Cholesterol) มีหน่วยเป็น mg/dl
หากท่านไม่มีผลเลือดก็จะใช้ค่าของ
- รอบเอว มีหน่วยเป็นนิ้ว และ
- ส่วนสูง มีหน่วยเป็นเซนติเมตร
วิธีประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตด้วยตนเอง
-
ไปที่เว็บไซต์ https://www.rama.mahidol.ac.th ของคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
-
ใส่ค่าต่างๆให้เรียบร้อย โดยสามารถที่จะใช้ค่าผลเลือด หรือไม่ใช้ค่าผลเลือดก็ได้
-
เมื่อท่านใส่ค่าต่างๆเรียบร้อยแล้วให้กดปุ่ม “แสดงผล”
โปรแกรมจะแสดงผลออกมาเป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ของความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าว่าทำนายผลว่าอย่างไร โดยตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งดี เช่น
ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจและหลอดเลือดในระยะเวลา 10 ปีของท่าน 4.33% จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงน้อยซึ่งใกล้เคียงกับระดับความเสี่ยงของคนไทยเพศเดียวกัน อายุเท่ากัน และปราศจากปัจจัยเสี่ยง
ข้อแนะนำเบื้องต้น
เพื่อป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดในอนาคต ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานผักผลไม้เป็นประจำ ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และตรวจสุขภาพประจำปี
สิ่งที่พึงระวังในขณะที่ใช้โปรแกรมนี้
- ผลลัพธ์ที่ได้เป็นการประเมินความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตันและโรคเส้นเลือดสมองตีบตันในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
- ผลการประเมินและคำแนะนำที่ได้รับจากโปรแกรมนี้ไม่สามารถใช้แทนการตัดสินใจของแพทย์ได้
- การตรวจรักษาเพิ่มเติมหรือการให้ยารักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และการปรึกษากันระหว่างแพทย์และตัวท่าน
- ผลการประเมินนี้ห้ามนำไปใช้อ้างอิงในการค้า เช่น การทำประกันชีวิต และไม่สามารถใช้กับผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจหรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
อ่านเพิ่มเติม
- เรื่อง “โรคหัวใจ” ที่เราอาจเข้าใจผิด เสี่ยงเสียชีวิตไม่รู้ตัว