แนะ'ยาสมุนไพร' แก้สารพัดโรคฤดูร้อน ย้ำหลีกเลี่ยง ทำงานกลางแจ้ง-อาหารรสจัด

Home » แนะ'ยาสมุนไพร' แก้สารพัดโรคฤดูร้อน ย้ำหลีกเลี่ยง ทำงานกลางแจ้ง-อาหารรสจัด



อากาศร้อนจัด! กรมแผนไทย แนะ’ยาสมุนไพร’ ห่างไกลแก้สารพัดโรคฤดูร้อน ย้ำหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ไม่ทำงานกลางแจ้งหนักเกินกำลัง สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี

21 มี.ค. 66 – นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ช่วงฤดูร้อนขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย เพื่อห่างไกลโรคที่มักเกิดในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ 1. อาการหน้ามืดเป็นลม และโรคลมแดด (Heatstroke) เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัดทำให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ หรือ ผู้ที่ต้องทำงานอยู่กลางแจ้ง ได้รับผลกระทบโดยตรง

แนะนำให้พก “ตำรับยาหอม” ติดตัว ใช้แก้ลม บำรุงหัวใจ แก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียนอาเจียน แก้จุกเสียด ได้แก่ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมนวโกฐ และพกยาดมสมุนไพรติดตัว บรรเทาอาการหน้ามืดเป็นลม วิงเวียนศีรษะ ซึ่งสะดวกแก่การพกพา ใช้สูดดมเมื่อมีอาการ

2. โรคอุจจาระร่วงแบบเฉียบพลัน พกยาเหลืองปิดสมุทร บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ, ยาธาตุบรรจบ บรรเทาอาการอุจจาระธาตุพิการ ท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ ท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้, กล้วยน้ำว้าดิบหรือห่าม รับประทานครึ่งผล-1 ผล หรือหั่น เป็นแว่นๆ ตากให้แห้ง บดเป็นผง ชงดื่มวันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารและก่อนนอน และ ฟ้าทะลายโจร รักษาอาการท้องเสีย แบบไม่ติดเชื้อ

และ 3. ปัญหา ผด ผื่น คัน ผิวไหม้จากการตากแดด อาการอักเสบของผิวหนัง ใช้ยาโลชั่น/คาลาไมน์พญายอ กรณีอาการแพ้แดด ผิวไหม้ ใช้ว่านหางจระเข้ มีสารให้ความชุ่มชื้น โดยนำมาปอกเอาเปลือกสีเขียวออก ล้างยางสีเหลือง แล้วนำเอาวุ้นข้างในมาฝานบางๆ ทาหรือแปะผิวหนังเช้าเย็น, แตงกวา ช่วยผิวหนังชุ่มชื้น นำมาฝานบางๆ ทาหรือแปะทิ้งเอาไว้ และบัวบก นำผงใบบัวบกละลายน้ำพอกทาบริเวณที่ผิวหนังอักเสบจากแสงแดด หรือใช้ใบบัวบกสดตำแล้วคั้นเอาน้ำมาทา

“อากาศร้อนจัด ส่งผลให้ธาตุทั้ง 4 เสียสมดุล โดยเฉพาะคนที่มีธาตุไฟเป็นเจ้าเรือน เพราะทำให้ธาตุไฟกำเริบได้ง่าย เช่น ปวดศีรษะ ลมแดด แผลร้อนใน กรดไหลย้อน ท้องผูก ท้องเสีย ผิวไหม้ ผด ผื่น คัน เป็นต้น ส่งผลให้ธาตุอื่นๆ เสียสมดุลตามมา เช่น ธาตุลมกำเริบ วิงเวียน อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ ธาตุน้ำหย่อน กระหายน้ำ ผิวพรรณแห้งกร้าน ท้องผูก และกระทบการทำงานของธาตุดิน คืออวัยวะต่างๆ ในร่างกายทั้งหมด” นพ.ขวัญชัยกล่าว

นพ.ขวัญชัย กล่าวว่า ต้องดูแลธาตุไฟในร่างกาย โดยควบคุมอุณหภูมิในร่างกายไม่ให้สูงมากเกินไป กินอาหารที่มี รสขม รสจืด และรสเย็น จะเป็นพืชผักหรือผลไม้ก็ได้ นำมาปรุงเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หรือรสมันมาก ไม่ทำงานหนักเกินกำลัง สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบาย ความร้อนได้ดี และทำจิตใจให้สงบ อาหาร และ เครื่องดื่ม ที่แนะนำ ได้แก่ แกงจืดมะระยัดไส้ แกงเลียงกุ้ง (ลดความเผ็ด) แกงจืดฟักเขียว แกงจืดตำลึง และแกงขี้เหล็ก น้ำตรีผลา น้ำย่านาง น้ำบัวบก น้ำกระเจี๊ยบ และ น้ำใบเตย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ