แนะนำสถานที่สักการะพระบรมธาตุภาคเหนือประจำปีเกิด 2567 เสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิต รับโชค รับทรัพย์ เสริมความเฮงตลอดทั้งปี แถมยังได้เที่ยวชมทิวทัศน์เขียวชอุ่ม สูดอากาศสดชื่นอย่างเต็มปอด เที่ยวเองได้ตลอดทั้งปี จะมีที่ไหนบ้างไปดูกันเลย
พระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่
ปีนักษัตร: ปีชวด
ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุศรีจอมทอง
สำหรับผู้ที่เกิดปีชวดแนะนำให้ไปเที่ยวประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุศรีจอมทอง จัดขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายนของทุกปี ซึ่งประเพณีดังกล่าวเกิดขึ้นจากตำนานที่กล่าวว่า พุทธสถานแห่งนี้เป็นวัดที่ประดิษฐานพระทักษิณโมลีธาตุ หรือพระธาตุส่วนเศียรเบื้องขวาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีการอัญเชิญพระธาตุออกมาให้ประชาชนได้สักการะกันอย่างใกล้ชิด เกิดเป็นประเพณีสมโภชพระบรมสารีริกธาตุเข้า – ออกพรรษา ปีละสองครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นศาสนพิธีประจำของวัดแห่งนี้
วันจัดงานจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 ภาคกลาง หรือประมาณเดือนมิถุนายน) โดยในเช้าวันงาน ผู้คนจะเดินทางมาทำบุญและรอพิธีสรงน้ำ จากนั้นพระสงฆ์จะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุออกจากโกศาห้าชั้น ไปใส่ในโกศใบใหม่สำหรับการสรงน้ำโดยเฉพาะ ระหว่างนั้นจะมีชาวบ้านอาสาสมัครแต่งตัวเป็นทหารโบราณราว 10 คน เป็นคู่หามรออยู่หน้าแห่พระบรมสารีริกธาตุไปยังพระอุโบสถเพื่อบูชาข้าวปลา อาหาร ตลอดทั้งสองข้างทางวิหารเนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่พากันซัดข้าวตอกดอกไม้ใส่ พระบรมสารีริกธาตุ จากนั้นจึงมีการสรงน้ำยังห้องสรงข้างวิหาร
ประเพณีแห่ไม้ค้ำ โพธิ์จอมทอง
นอกเหนือจากประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุศรีจอมทองแล้วนั้น ยังมีประเพณีแห่ไม้ค่้ำ จัดขึ้นเป็นประจำทุกวันที่ 15 เมษายนของทุกปี ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการแห่ไม้ค้ำสะหลีของชาวล้านนา จนได้รับความนิยมไปทั่วภาคเหนือ และเป็นประเพณีที่เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง และได้รับความนิยมอย่างมาก โดยจะมีขบวนรถจากชุมชน ผู้ประกอบการร้านค้า กลุ่มต่าง ๆ แห่ไปตามเมืองจอมทอง อำเภอจอมทอง จนถึง วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานาน ตามตำนานเกิดขึ้นที่ อ.จอมทอง ถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และแห่งเดียวในโลก
พระบรมธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่
ปีนักษัตร: ปีมะเมีย
-รออัปเดตข้อมูล-
เจดีย์ศรีมหาโพธิ์พุทธคยา วัดเจดีย์เจ็ดยอด จ.เชียงใหม่
ปีนักษัตร: ปีมะเส็ง
ประเพณีสรงน้ำ พระบรมสารีริกธาตุเจ็ดยอด
สำหรับผู้ที่เกิดนักษัตรปีมะเส็ง แนะนำให้ไปเข้าร่วมประเพณีสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ เป็นประเพณีความเชื่อดั้งเดิมมาแต่โบราณ ที่ดำเนินการเป็นประจำทุกปี เปรียบเสมือนการได้สรงน้ำพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ทั้งหลาย เสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิต เฮงๆ ปังๆ ตลอดทั้งปี โดยประเพณีสรงน้ำ พระบรมสารีริกธาตุเจ็ดยอด จะจัดขึ้นเป็นประจำในช่วงสิ้นปีของทุกปี
พระเจดีย์วัดเกตการาม วัดเกตการาม จ.เชียงใหม่
ปีนักษัตร: ปีจอ
-รออัปเดตข้อมูล-
พระธาตุพระสิงห์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่
ปีนักษัตร: ปีมะโรง
พิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชพระพุทธสิหิงค์
พระพุทธสิหิงค์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “พระสิงห์” ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ที่วัดพระสิงห์ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของชาวเชียงใหม่ โดยเชื่อว่าอำนาจบุญบารมีและความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธสิหิงค์จะดลบันดาลให้บ้านเมืองมีความสงบร่มเย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ และขจัดภัยพิบัติทั้งหลายทั้งปวง
พิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชพระพุทธสิหิงค์ จะมีการพระพุทธสิหิงส์อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนรถบุษบก แล้วนำออกแห่ให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำสักการะบูชาเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือป๋าเวณีปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่
พระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จ.ลำพูน
ปีนักษัตร: ปีระกา
ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย
ประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญชัย กำหนดจัดขึ้น ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรวิหาร อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เหนือ หรือที่ชาวเหนือ เรียกว่าวันแปดเป็ง (ราวเดือนพฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของภาคกลาง) หรือวันวิสาขบูชา
งานประเพณีสรงน้ำพระบรมธาตุฯ มักจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 9 ค่ำ เป็นต้นไป ผู้คนจะหลั่งไหลมาร่วมงานสรงน้ำพระธาตุฯ ผู้ที่อยู่ห่างไกลก็จะเดินทางมาอาศัยพักบ้านญาติมิตร มีหลายพวกหลายเผ่า ทั้งคนพื้นบ้าน พื้นเมือง ชาวเขาและต่างถิ่น มีการแต่งกายกันตามประเพณีท้องถิ่นทั้งชุดพื้นเมือง ชุดชาวเขา มีการเตรียมข้าวของเรียกว่า ดาครัว ซึ่งญาติพี่น้อง จากต่างบ้าน ต่างถิ่น จะมาช่วยกันแต่งดา เป็นการรวมญาติพี่น้องให้ได้มาเยี่ยมเยียนกัน
งานเทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน ณ วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร
โคมทุกดวงมีเจ้าของ คือที่มาของโคมแสนดวง เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาพระธาตุหริภุญชัยฯ และถวายสักการะแด่พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งเมืองลำพูน ทุกๆปีเมื่อถึงงานเทศกาลยี่เป็ง ชาวล้านนาจะนิยมประดับประดาตกแต่งบ้านเรือน ด้วยการจุดผางประทีป หรือประดับโคมไฟอย่างสวยงาม ให้มีความสว่างสดใสตลอดช่วงเทศกาล ถือเป็นงานประเพณีที่ก่อให้เกิดรายได้กับชุมชนอย่างแท้จริง
ลำพูนลานบุญล้านนา สืบชะตาหลวง ตานตุงค่าคิง ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร
การทำตุง หรือ ธง ที่ขนาดความยาวเท่ากับความสูงของผู้ทำหรือผู้อุทิศ เพื่อการสะเดาะเคราะห์หรือสืบชะตา อันเป็นคติความเชื่อของชาวล้านนา และเป็นการสะบัดทุกข์โศก โรคภัย เสนียดจัญไร ภยันตราย ให้ได้มอดไหม้มลายหายสิ้น หมดไปจากตัวตนของเรา ทำให้มีแต่ความสุข ความเจริญ ความรุ่งเรือง ประสบแต่สิ่งที่ดีงาม
ประเพณีสลากภัตร หรือ สลากย้อม จัดทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
ประเพณีหนึ่งเดียวในโลกของจังหวัดลำพูน เป็นการทำบุญประจำปี ก่อนออกพรรษาชาวล้านนา โดยให้ผู้หญิงเป็นเจ้าภาพได้เท่านั้น ซึ่งในแต่ละปีจะจัดงานได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุด คือ สลากต้องมีความสวยงาม ใช้จตุปัจจัยในการเตรียมงานมาก ใครจะทำได้ต้องมีความมุมานะอย่างสูงส่ง เพราะเป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่งของผู้หญิง เพื่อเป็นการสะสม บารมีในชาติภพหน้า ซึ่งเทียบเท่ากับการบวชของผู้ชาย นอกจากนี้ภายในงานยังมี ขบวนแห่ต้นสลากย้อม และการแสดง แสง สี เสียง ทางวัฒนธรรม การประกวดการฮ่ำกะโลงและการทำบุญถวายทาน การอ่านเส้น สลากตามประเพณีล้านนา
พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง
ปีนักษัตร: ปีลู
งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนคร ลำปาง ประจำปี 2567 (ปีนี้จัดขึ้นวันที่ 9-13 เมษายน 2567 ณ บริเวณห้าแยกหอนาฬิกา)
จังหวัดลำปางจัดงานประเพณีปีใหม่แบบล้านนาเป็นประจำทุกปี ในช่วงวันสงกรานต์ “งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมือง นครลำปาง” คำว่า “สลุงหลวง” เป็นภาษาพื้นเมืองของชาวล้านนา หมายถึง ขันนํ้าใบใหญ่ทำด้วยโลหะเงิน ชาวลำปางได้จัดสร้างสลุงหลวง เพื่อใช้เป็นภาชนะใส่นํ้าอบ นํ้าหอม ขมิ้น ส้มป่อย เพื่อสรงนํ้าองค์พระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้า ที่อัญเชิญมาจากวัดพระธาตุลำปางหลวง แห่รอบเมืองลำปางเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันสรงนํ้าในวันปีใหม่เพื่อเสริมสิริมงคล กิจกรรมหลักภายในงาน การแข่งเทพบุตร-เทพธิดาสลุงหลวง, การแข่งขันตีกลองปู่จา และขบวนจุมพระ พระพุทธรูปสำคัญของจังหวัดลำปาง
หมายเหตุ – วัดพระธาตุลำปางหลวง จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ประเพณี งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง ประจำปี 2567 แค่ในส่วนของขบวนอัญเชิญ พระเจ้าแก้วมรกต ในวันที่ 12 เมษายน ช่วงเช้าตรู่นำโดยพ่อเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง) อัญเชิญจากที่ประดิษฐาน ไปยังขบวนและแห่นำมายัง เทศบาลนครลำปาง
ประเพณียี่เป็งไหว้พระธาตุเจ้าลำปางหลวง
งานประเพณียี่เป็งไหว้สาพระธาตุเจ้าลำปางหลวง จัดในช่วงลอยกระทงของทุกปี ซึ่งภายในงานจะมีการจัดกาดหมั้วครัวแลง หรือตลาดเย็น การแสดงศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ โดยที่ทางวัดพระธาตุลำปางหลวง ก็จะเปิดประตูให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่มาเที่ยวงาน ได้ขึ้นไปสักการะ และกราบไหว้พระในช่วงกลางคืน
ในช่วงระยะเวลาจัดงานดังกล่าว ประชาชนและนักท่องเที่ยว จะได้เห็นความสวยงามของวัดพระธาตุลำปางหลวง ในยามค่ำคืน โดยเฉพาะองค์พระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นองค์พระธาตุสีทองเก่าแก่คู่ล้านนา หรือเมืองเหนือ ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ภายใน และในช่วงเทศกาลลอยกระทงที่มาถึงนี้ จึงเกิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ากราบไหว้สักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคล
นอกจากนี้ ทางวัดพระธาตุลำปางหลวง ยังได้อัญเชิญองค์พระเจ้าแก้วมรกตดอนเต้า ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหยกเขียวทั้งองค์ โดยเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่คู่ จ.ลำปาง ออกมาจากที่ประดิษฐานห้องนิรภัย ภายในวิหารพระแก้ว เพื่อมาตั้งไว้ภายในวิหารหลวง ภายในวัด และเปิดโอกาสให้ประชาชน และนักท่องเที่ยว ได้กราบไหว้ และปิดทององค์พระเก่าแก่คู่เมืองลำปาง อย่างใกล้ชิด จึงนับเป็นโอกาสที่หายากมาก เพราะใน 1 ปี ทางวัดจะอัญเชิญองค์พระออกมาเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ ช่วงประเพณียี่เป็ง เทศกาลลอยกระทง และประเพณีปี๋ใหม่เมือง เทศกาลสงกรานต์
พระธาตุดอยตุง จ.เชียงราย
ปีนักษัตร: ปีกุน
ประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุงประจำปี 2567 “หกเป็งล่องฟ้า ไหว้สาพระธาตุดอยตุง” (วันที่ 23 – 24 มีนาคม 2567)
“ประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง” งานบุญยิ่งใหญ่ของชาวล้านนา เสริมสิริมงคล สักการะพระธาตุดอยตุงอันเป็นปูชนียสถานสำคัญ โบราณสถานอันเก่าแก่ที่ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และเป็นพระธาตุประจำเกิดของคนเกิดปีกุน โดยกิจกรรมประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุง ประกอบด้วย การเดินจาริกแสวงบุญขึ้นพระธาตุดอยตุงตามรอยครูบาศรีวิชัย พิธีสืบชะตาหลวงล้านนารวมพลคนเกิดปีกุนและทุกราศี การทำบุญตักบาตร การปฏิบัติธรรม และพิธีอัญเชิญน้ำสรงพระราชทาน ผ้าไตรพระราชทาน น้ำทิพย์ศักดิ์สิทธิ์ ตุง และเครื่องสักการะล้านนา
สำหรับ “พระธาตุดอยตุง” เป็นปูชนียสถานสำคัญของล้านนาและของเชียงราย เป็นพระธาตุเจดีย์องค์คู่ อายุราว 1,108 ปี ตำนานเล่าวว่า พระมหากัสสปะเถระได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนกระดูกไหปลาร้า (พระรากขวัญเบื้องซ้าย) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาน้อมถวายแด่พระเจ้าอชุตราช เจ้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนกชัยบุรี พระองค์จึงได้อัญเชิญขึ้นบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ ณ ดอยดินแดง หรือดอยตุงในปัจจุบัน และต่อมาอีก 100 ปี พระอรหันต์มหาวชิรโพธิเถระได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาถวายแด่พระเจ้ามังรายะนะธิราช พระองค์จึงสร้างองค์พระเจดีย์ขึ้นใหม่อีกองค์หนึ่งเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
จากนั้นใน พ.ศ.2470 ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาได้นำพุทธศาสนิกชนร่วมกันปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุ พระวิหาร และพระประธาน แล้วจึงเริ่มต้นประเพณีนมัสการและสรงน้ำพระธาตุดอยตุงในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 หรือเดือน 6 เหนือ เป็นประจำทุกปี
พระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน
ปีนักษัตร: ปีเถาะ
ประเพณีหกเป็งไหว้สาพระมหาธาตุแช่แห้ง
งานสักการะนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง เป็นประเพณีที่เจ้าผู้ครองนครน่านทุกยุคทุกสมัยถือปฏิบัติโดยเคร่งครัดเสมอมา โดยกำหนดว่าผู้ครองนครน่านต้องแต่งขบวนพร้อมน้ำสรงพระธาตุ ขึ้นสักการบูชาองค์พระธาตุทุกปี ภายหลังเมืองระบบเจ้านายยุติบทบาทลง คงเหลือแต่ระบบราชการบ้านเมือง เจ้าเมืองหรือผู้ว่าราชการจังหวัดจึงรับหน้าที่เป็นผู้เชิญน้ำสักการะและแต่งริ้วขบวนแห่เพื่อสักการะพระมหาธาตุเจ้าสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ประเพณีหกเป็งนมัสการองค์พระธาตุแช่แห้ง (ไหว้สาพระธาตุแช่แห้ง) เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่อดีตในช่วงฤดูเทศกาลเพ็ญเดือน 6 (เหนือ) เจ้าผู้ครองนครน่านพร้อมด้วยข้าราชบริพารจะพากันไปนมัสการพระธาตุแช่แห้ง โดยในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ขบวนแห่ของเจ้าเมืองน่านพร้อมด้วยคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนจากชุมชนต่างๆ จะมาพร้อมกันที่บริเวณรอบๆ เนินภูเพียงแช่แห้ง ร่วมพิธีทางศาสนาและกิจกรรมเฉลิมฉลองเพื่อเป็นพุทธบูชา มีการทำบุญตักบาตร เทศน์มหาชาติ บรรยายธรรม และการจุดบอกไฟดอก (บั้งไฟ) ซึ่งมีลักษณะเป็นไฟพะเนียงพื้นบ้าน มีความสวยงามในยามราตรี เมืองถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ขบวนพุทธศาสนิกชนจะทำครัวตาน (เครื่องไทยธรรม)
ในช่วงบ่ายจะมีการถวายเป็นพุทธบูชา โดยการจุดบอกไฟดอก(บั้งไฟ) และมีการแสดงพระธรรมเทศนา เทศน์มหาชาติต่อจากวันขึ้น 15 ค่ำ
พระธาตุช่อแฮ จ.แพร่
ปีนักษัตร: ปีขาล
งานประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง (ปีนี้จัดขึ้นวันที่ 18-24 มี.ค. 2567)
วัดพระธาตุช่อแฮพระอารามหลวง ประดิษฐานองค์พระธาตุช่อแฮ เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ บรรจุพระบรมเกศาธาตุและเป็นโบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองแพร่มีอายุมากกว่าพันปี เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ในทุกๆ ปี เมื่อเริ่มวันขึ้น 9 ค่ำ ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ใต้ เดือน 6 เหนือ พุทธศาสนิกชนจากทุกสารทิศ จะเดินทางมานมัสการพระธาตุช่อแฮเป็นจำนวนมาก ด้วยความเชื่อที่ว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว พระบรมสารีริกธาตุจะแสดงปาฏิหาริย์ แผ่บารมีที่เป็นสิริมงคลยิ่งแก่ผู้มาสักการะ
กิจกรรม Highlight ห้ามพลาด:-
– ขบวนแห่เครื่องสักการะพระธาตุช่อแฮจากทุกอำเภอและตำบลต่าง ๆ ในจังหวัดแพร่
– พิธีที่เกี่ยวข้องในงานประเพณี เช่น พิธีเลี้ยงผีเจ้าพ่อหลวงก้อม, พิธีมหาพุทธาภิเษกวัตถุมงคล ,พิธีอาราธนาพระมหาอุปคุต,พิธีบวงสรวงพระธาตุช่อแฮ,พิธีทานตุงผ้า 20วาและตุงต่างๆ พิธีทำบุญถวายทักษิณานุปทาน, พิธีเดินขึ้นไหว้พระธาตุดอยเล็งหลังจากทำบุญตักบาตรที่วัดพระธาตุช่อแฮเสร็จ
– การแข่งขันตีกลองปู่จาพญาขาล
วัดพระบรมธาตุบ้านตาก จ.ตาก
ปีนักษัตร: ปีมะเมีย
งานประเพณีขึ้นธาตุเดือน 9 (เหนือ)
ประเพณีขึ้นธาตุเดือน 9 เป็นงานบุญที่จัดขึ้นเพื่อเป็นการบูชาพระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า กำหนดการจัดในวันขึ้น 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เดือน 9 ของภาคเหนือ หรือตรงกับเดือน 7 ของไทย ประมาณปลายเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายนของทุกปี ภายในงานมีการจัดขบวนแห่ เช่น ขบวนกลองยาว ขบวนปัจจัยไทยทาน ขบวนต้นเงิน ขบวนต้นผ้าป่า ขบวนตุงไชย ผ้าห่มองค์พระธาตุ
โดยเริ่มขบวนจากหนองเล่ม เคลื่อนผ่านสะพานบุญไปยังวัดพระบรมธาตุ เพื่อทำพิธีถวายผ้าห่มองค์พระธาตุ เจดีย์วัดพระบรมธาตุ อำเภอบ้านตาก จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากอง ประเทศพม่า และเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของปีมะเมีย เพื่อเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กิจกรรมในงาน การประกวดขบวนแห่ในแบบชาวล้านนา ประกอบด้วยขบวนแห่ผ้าห่มธาตุ ขบวนกลองยาว ขบวนต้นเงิน ต้นทอง ขบวนตุงไชย ธงทิว และเครื่องพุทธบูชา จากบริเวณหนองเล่ม เคลื่อนผ่านสะพานบุญ ซึ่งเป็นสะพานไม้เก่าแก่ ขึ้นไปทำพิธีห่มพระบรมธาตุ จากนั้นจะเป็นพิธีการบวงสรวงเจดีย์ยุทธหัตถี เจดีย์ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงสร้างไว้ในคราวทำสงครามยุทธหัตถีชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด และพิธีชุมนุมเทวดา จากบรรดาร่างทรงทั่วทุกสารทิศ บริเวณศาลเจ้าพ่อขุนทะเล
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับสถานที่สักการะพระบรมธาตุภาคเหนือประจำปีเกิด 2567 ที่นำมาฝากในครั้งนี้ รับรองว่าถ้าใครได้แวะไปแล้วล่ะก็จะต้องประทับใจไม่รู้ลืมอย่างแน่นอน