แกะรอยสว. แจงเหตุผลค้านร่าง รธน.ฉบับประชาชน เตรียมโหวตเช้านี้

Home » แกะรอยสว. แจงเหตุผลค้านร่าง รธน.ฉบับประชาชน เตรียมโหวตเช้านี้


แกะรอยสว. แจงเหตุผลค้านร่าง รธน.ฉบับประชาชน เตรียมโหวตเช้านี้

แกะรอยสว. รุมค้านร่าง รธน.ฉบับประชาชน แต่ละคนมีเหตุผลยังไง จับตารัฐสภาโหวตเช้านี้

วันที่ 17 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่กลุ่มรีโซลูชั่น เสนอ โดยมีประชาชน 1.35 แสนราย ร่วมลงชื่อ เริ่มพิจารณาตั้งแต่เวลา 09.30 น. วันที่ 16 พ.ย. ต่อเนื่อง วันที่ 17 พ.ย. บรรยากาศเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยส.ส.รัฐบาล และส.ว. ต่างอภิปรายคัดค้าน ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้าน สนับสนุนการรับร่างแก้ไขดังกล่าว

ที่น่าสนใจคือการอภิปรายของ ส.ว. ที่คัดค้านร่างดังกล่าว แต่ละคนมีความเห็นอย่างไร มีเนื้อหาการอภิปรายที่น่าสนใจดังนี้

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อภิปรายว่า มีไม่กี่ประเทศในโลกที่ใช้ระบบสภาเดี่ยว ซึ่งร่างแก้ไขของผู้เสนอ ให้ส.ส. มีอำนาจล้นฟ้า โดยมีตัวแทนไปนั่งในคณะกรรมการศาล ศาลปกครอง และสภากลาโหม การมี 2 สภา เพื่อที่สภาสูงจะสามารถยับยั้ง กลั่นกรองกฎหมายสภาล่างได้ จะไม่เกิดลักษณะการมีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

เห็นได้จากการกำหนดให้มีการเลือกกันเองตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ เป็น 20 กลุ่มอาชีพ กลุ่มละ 10 คน ซึ่งการให้เลือกกันเอง เห็นว่าเป็นวิธีที่ค่อนข้างยากที่จะมีการกำหนดหรือล็อบบี้ได้ จึงขอให้ประชาชนที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เห็นถึงประโยชน์ของการมีสูงด้วย

นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญที่ผู้ร่างเสนอมา 1.รวมศูนย์อำนาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร โดยโอนอำนาจของรัฐสภาไว้ที่ ส.ส.ทั้งหมด ให้ส.ส.เป็นใหญ่ในแผ่นดิน และ 2.ลดทอนความเป็นอิสระของศาล โดยมีบทบัญญัติข้อห้ามต่างๆ

การเสนอร่างดังกล่าวมาจาก 4 ก. 1.เกลียด คือ เกลียด ส.ว. 2.โกรธ คือ โกรธศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดีพรรคพวกตัวเอง 3.กลัว คือกลัวยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ และ 4.เกิน โดยการเสนอร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเกินจากความเป็นจริง พยายามล้างทุกอย่าง โดยท่านใช้คำว่าล้างมรดกที่สืบทอดกันมา

ชุดความคิดที่ว่าคนที่มาจากการรัฐประหารต้องถูกเหยียบย่ำ แต่เรารู้เบื้องหลังหรือเราดูมูลเหตุของการปฏิวัติ รัฐประหารกันบ้างหรือไม่ สิ่งที่เราเห็นอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เราเห็น ทำไมต้องปฏิวัติ ถ้าการเมืองเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ ไม่มีการโกง หรือใช้อำนาจในการแสวงหาประโยชน์ คณะทหารที่ไหนจะกล้าปฏิวัติ ถ้าประชาชนไม่ยอมให้ปฏิวัติเพราะการเมืองเราดี ก็ไม่มีทางที่จะทำได้ ถ้าส.ส.ที่มาจากประชาชนไม่เอาด้วย ส.ว.จะทำอะไรได้ คิดดูให้ดี

“มันใช่ในเวลานี้ หรือสถานการณ์นี้หรือไม่ที่จะมาเสนอแก้รัฐธรรมนูญ ผมเห็นว่าควรแก้แบบไร้อคติ เอาบริบททางการเมืองเป็นตัวตั้ง ท่านอาจบอกว่าเป็นวัคซีนชุด 1-2-3 แต่ไม่ใช่เสนอในสถานการณ์ที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยโลภะ โมหะ โทสะ” นายวันชัย กล่าว

จากนั้น นายคํานูณ สิทธิสมาน ส.ว. อภิปรายว่า ตนขอให้สมญาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า ฉบับปฏิวัติ โดย 1.รวมศูนย์ คือรวมศูนย์อำนาจของประเทศไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร 2.บั่นทอน คือ บั่นทอนการพิจารณาพิพากษาโดยศาล และบั่นทอนการถ่วงดุลอำนาจในศาลและองค์กรอิสระ และ 3.ควบคุม คือ ควบคุมงบประมาณ ทั้งการตั้งงบฯ และการใช้จ่ายงบฯ ควบคุมคน กำหนดโครงสร้างองค์กรศาล และองค์กรอิสระ ควบคุมการพิพากษา และควบคุมการถอดถอน

เรามุ่งแก้แต่เรื่องการทำรัฐประหาร แต่ไม่พยายามมองไปถึงสาเหตุที่เกิดจากปัญหาการเมือง ที่บางครั้งก็เป็นการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร บางครั้งก็เป็นการเมืองที่เป็นพฤติกรรมของรัฐบาลในขณะนั้น บางครั้งก็เป็นการรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจไว้ที่พรรคเสียงข้างมากในสภา สิ่งที่จะได้มาแทนที่คือระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างนั้นหรือ หรือเรียกว่าระบอบเผด็จการโดยสภาผู้แทนราษฎร

นายอนุศักดิ์ คงมาลัย ส.ว. อภิปราย ว่า มีคนอภิปรายว่า หากรัฐสภาไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว อาจมีการชุมนุมประท้วง คล้ายกับการเตรียมการไว้ก่อนแล้ว สิ่งที่เสนอแก้เหมือนกับลิงแก้แหนั้น จะเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญมาตรา 255 หรือไม่ ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจะกระทำมิได้ รายละเอียดเหล่านั้นถ้านำไปสู่การวิเคราะห์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ตนไม่แน่ใจว่าตนจะเป็นจระเข้ขวางคลองหรือไม่ เพราะตนเห็นจระเข้น้อยฝังโคลนอยู่แถวนี้

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. อภิปรายว่า ร่างที่ประชน 1 แสนกว่าชื่อเสนอมา กับร่างที่ประชนโหวตรับหลักการมา 16 ล้านกว่าชื่อไม่เท่ากันหรอก วันนี้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่ให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ก็กำลังอยู่ในกระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ คำถามคือ ที่ท่านแก้เรื่องบัตร 2 ใบที่ทำไปเรียบร้อยแล้ว แล้วจะให้มารับหลักการเหลือแค่ ส.ส.บัตรใบเดียวทำอย่างนี้ชอบหรือไม่

และสิ่งที่เสนอมามีหลายประเด็นที่ไม่สามารถรับได้ ถ้าไม่มีส.ว. แล้วเหลือเพียง ส.ส.สภาเดียว อาจทำให้เกิดเผด็จการรัฐสภา ตัวอย่างเช่น การเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แบบที่ผ่านมา ดังนั้นตนจึงเห็นว่าควรมีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลกันฝ่ายนิติบัญญัติ

การเสนอตัดส.ว.ออกไป เพราะ ส.ว.ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ดั่งใจ จึงเลือกตัด ส.ว.ออก แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเหลือสภาผู้แทนฯเพียงสภาเดียว ถ้าเป็นแบบนี้ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น อยากถามว่า มีอะไรกับศาล โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะเหตุผลในการแก้ไขพุ่งเป้าไปที่การยุบศาลรัฐธรรมนูญ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ