‘เอ้ สุชัชวีร์’ ชี้น้ำท่วมใหญ่กรุงโซล สัญญาณแรงเตือนกรุงเทพฯ ส่อท่วมรุนแรงมากกว่าปี 54 แนะแนวทางป้องกัน 3 ระยะ ก่อนสายเกินไป
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2565 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เขียนข้อความทางเฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีเหตุน้ำท่วมใหญ่กรุงโซล จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 10 คน เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า “ถอดบทเรียน น้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 80 ปี ของกรุงโซล”
“โซล” เป็นทั้งเมืองหลวงของเกาหลีใต้ และเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อไม่นานมานี้ได้เผชิญน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 80 ปี จากฝนถล่มอย่างหนัก ทำให้กรุงโซลจมบาดาล สร้างความสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สิน มากเสียจนไม่สามารถประเมินค่าได้
ทำให้นึกถึงภาพยนตร์เกาหลีรางวัลออสการ์ “Parasite” ที่ครอบครัวตัวละครเอก อาศัยอยู่ชั้นใต้ดินในอาคารเก่าที่กรุงโซล กำลังจมน้ำท่วมหัว ขณะฝนตกหนัก น่ากลัวมาก แต่น้ำท่วมครั้งนี้ยิ่งกว่าภาพยนตร์ รุนเแรงเหลือเกิน ผมจึงขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วยครับ
ยิ่งไปกว่านั้น ลักษณะภูมิประเทศของกรุงโซล เป็นแอ่งราบลุ่มแม่น้ำ ล้อมด้วยภูเขาถึง 8 ลูก ต้องเผชิญภัยพิบัติดินถล่มอีก ยิ่งหนัก สาเหตุหลัก คือ “ฝนตกหนัก ระบายน้ำออกจากเมืองไม่ทัน” ผลลัพธ์ คือ “จมบาดาล” เหตุการณ์น้ำท่วมที่กรุงโซล กำลังส่งสัญญาณแรงถึงเมืองหลวงทั่วโลก ให้ต้องตระหนักดังนี้
1.”ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน คือ เรื่องจริง” ปรากฏให้เราเห็นตอนนี้ ไม่ต้องรอทศวรรษหน้า ปัจจุบันนี้ ฝนตกหนักมาก แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ แต่รุนแรง และจะหนักขึ้นทุกปี ทุกคนต้องปรับตัว หาทางรับมือให้ไวและทันท่วงที เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้ในฤดูฝน
2.หลายประเทศต้องหันกลับมาพิจารณา วันนี้เรามี “มาตรการรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติ” ที่ใช้ได้จริงแล้วหรือยัง มีจุดอ่อนอะไรบ้าง มาตรการที่มีตอนนี้ ตอบโจทย์สภาวะปัจจุบันหรือไม่ เมื่อภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี
3.นอกจากมาตรการรับมือของภาครัฐ “ความพร้อมของประชาชน” ในการรับมือภัยพิบัติถือเป็นสิ่งสำคัญ ความรู้เรื่องภัยพิบัติต้องสอนตั้งแต่วัยเด็กเล็ก เกี่ยวกับวิธีเอาตัวรอด การพึ่งพาตนเอง หากอยู่ในสถานการณ์คับขัน ระหว่างรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ
สัญญาณจากโซลแรงขนาดนี้ ถึงเวลาต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลง หามาตรการรับมือที่ยั่งยืนและเหมาะสมกับยุคสมัย
สำหรับประเทศไทย เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ก็ประสบปัญหาฝนตก น้ำท่วมรอระบายไม่ทัน คล้ายกับกรุงโซล ส่งผลกระทบต่อประชาชนมาโดยตลอด และจะหนักขึ้นทุกปีๆ ผมขอเสนอแนวทางป้องกันน้ำท่วมรุนแรงใน “กรุงเทพฯ” ไม่ให้สูญเสียเหมือน “กรุงโซล” มี 3 ระยะ คือ
“ระยะสั้น” ทำได้ทันที จากเครื่องสูบน้ำดีเซล ที่ต้องใช้แรงงานคนมาเปิดปิด เปลี่ยนมาใช้ปั๊มสูบน้ำไฟฟ้า “ทำงานต่อเนื่องอัตโนมัติ” ทำงานเองทันทีเมื่อน้ำท่วม ไม่ต้องรอคนมาสตาร์ต และรอมาเติมน้ำมัน และจะหยุดทำงานเมื่อน้ำลด เพิ่มประสิทธิภาพการสูบน้ำจากเดิมหลายเท่า ชีวิตคนกรุงเทพฯดีขึ้นทันที
“ระยะกลาง” สร้างแก้มลิงใต้ดินบริเวณพื้นที่ที่น้ำท่วมรอระบายไม่มีที่ไป สูบน้ำรับไม่ไหว สูบไม่ทัน คือ เมื่อฝนตก น้ำจะมีที่พักรอระบายใต้ดิน ก่อนสูบขึ้นเมื่อฝนหยุดตกแล้ว แบบนี้คนกรุงเทพฯก็ไม่จมน้ำ
มีข้อสังเกต “กรุงโตเกียว” ก็ได้รับอิทธิพลจากมรสุมครั้งนี้ แต่น้ำไม่ท่วม ส่วนหนึ่งก็เพราะมี “แก้มลิงใต้ดิน” เก็บพักน้ำฝนรอระบาย
“ระยะยาว” ไม่ใช่แค่น้ำฝน แต่กรุงเทพฯ ต้องระวัง น้ำเหนือไหลบ่า น้ำทะเลหนุนสูง เพราะหากป้องกันไม่ดี ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2554 จะกลับมาอีกครั้ง และจะทวีความรุนแรง ความเสียหายมหาศาล การสร้างคันกั้นน้ำทะเลหนุน แนวชายทะเล ต้องเริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้ ไม่เช่นนั้นจะสายเกินไป และขยายเส้นทางน้ำเหนือสายหลักออกสู่ทะเล ไม่ใช่รอพึ่งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ยังไงก็รับไม่พอ
เย็นวันนี้ ที่กรุงเทพฯ ฝนกำลังตก แม้ไม่มาก รถก็ติดหนักมาก บางพื้นที่น้ำก็ท่วมแล้ว กรณี “น้ำท่วมกรุงโซล” ถือเป็นการเตือนที่เราต้องเตรียมตัวหาแนวทางป้องกัน เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนครับ ด้วยความเป็นห่วงจริงๆ ครับ