เอเชียตามรอย “โรงเรียนในป่า” แบบสแกนดิเนเวีย เน้นห้องเรียนกลางแจ้ง

Home » เอเชียตามรอย “โรงเรียนในป่า” แบบสแกนดิเนเวีย เน้นห้องเรียนกลางแจ้ง


เอเชียตามรอย “โรงเรียนในป่า” แบบสแกนดิเนเวีย เน้นห้องเรียนกลางแจ้ง

ภาพของเด็กนักเรียนตัวเล็กพากันเล่นดินทรายอย่างสนุกสนาน ในบริเวณเนินเขาติดชายทะเลที่มีป่าเขียวขจีของย่าน “ไซกุง” ทางตะวันออกของเกาะฮ่องกง อาจเป็นภาพที่หลายคนไม่คุ้นตานัก เมื่อเทียบกับทัศนียภาพแบบเมืองใหญ่และป่าคอนกรีตที่แออัด ซึ่งมักจะพบเห็นได้ทั่วไปตามสื่อต่าง ๆ

อันที่จริงแล้วนี่คือห้องเรียนกลางแจ้งซึ่งเปิดให้เด็กได้เรียนรู้ธรรมชาติอย่างอิสระ ตามแนวทางของหลักสูตร “โรงเรียนในป่า” (forest school) แบบสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีการคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกที่เดนมาร์กเมื่อช่วงทศวรรษ 1950 และต่อมาได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก รวมทั้งในภูมิภาคเอเชียซึ่งเริ่มตามรอยทดลองจัดการเรียนการสอนแบบนี้มากขึ้น นับแต่เข้าสู่สหัสวรรษใหม่หลังปี 2000 เป็นต้นมา

ด้วยเหตุที่ผู้หญิงในเดนมาร์กเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษก่อน นิยมกลับไปทำงานหลังมีบุตรกันเป็นจำนวนไม่น้อย จนทำให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กไม่เพียงพอ เหล่าครูอนุบาลจึงเริ่มทดลองทำห้องเรียนกลางแจ้งในป่า เพื่อสอนเด็กอายุ 3-4 ขวบให้มีประสบการณ์สัมผัสธรรมชาติ เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ผ่านการเล่นอย่างอิสระ

แต่เมื่อแนวคิดจัดการศึกษาแบบโรงเรียนในป่าเริ่มแผ่ขยายมาถึงเอเชีย ซึ่งมีความแตกต่างทางวัฒนธรรมและมีระบบการศึกษาที่เน้นวิชาการอย่างสูง ประเทศและดินแดนต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ล้วนมีการปรับเปลี่ยนดัดแปลงหลักสูตรโรงเรียนในป่า เพื่อให้สอดรับกับพื้นฐานทางวัฒนธรรมและสถานการณ์ปัจจุบันของตนเอง

ที่ห้องเรียนในป่าของมัลเวิร์นคอลเลจ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของสหราชอาณาจักรที่มาเปิดสาขาในฮ่องกง เด็ก ๆ ชั้นอนุบาลจะได้เรียนรู้ภาษาจีนและภาษาอังกฤษไปพร้อมกัน ระหว่างทำกิจกรรมในป่าบนเนินเขาเตี้ย ๆ และที่ชายหาด โดยพวกเขาจะพูดถึงสิ่งรอบตัวที่พบเห็นออกมาเป็นคำศัพท์ทั้งสองภาษา เด็กชายคนหนึ่งตะโกนอย่างตื่นเต้นว่า “สไปเดอร์ ! ชี่ชู !” เมื่อได้เห็นแมงมุมตัวโต

ภาพเด็กตัดกิ่งไม้

ที่มาของภาพ, Forest School Singapore

โรงเรียนในป่าของฮ่องกงแห่งนี้ได้วางมาตรการความปลอดภัย รวมทั้งจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กไว้อย่างเพียงพอด้วย โดยนอกจากจะเปิดให้ผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมกับเด็กแล้ว ยังมีการทำสัญลักษณ์กั้นเขตหวงห้ามรวมทั้งพื้นที่อันตรายเอาไว้ ไม่ให้เด็กพลัดหลงหรือเฉียดเข้าใกล้

แจ็กเกอลีน แม็กนัลที ครูใหญ่ประจำโรงเรียนอนุบาลของมัลเวิร์นคอลเลจสาขาฮ่องกง บอกว่าบรรดาผู้ปกครองที่นี่ต้องการให้ลูกได้เข้าเรียนกับหลักสูตรโรงเรียนในป่ากันมากขึ้น “พวกเขาอยากพาลูก ๆ ออกมาข้างนอก ซึ่งมันจะช่วยให้เด็กมีร่างกายแข็งแรงและมีสุขภาพดีขึ้น กิจกรรมแบบนี้ช่วยส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นใจในตนเอง สร้างทักษะการแก้ปัญหา และบ่มเพาะจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่นเมื่อพวกเขาเห็นขยะลอยมาติดหาด ก็อยากจะเข้าไปเก็บกวาดในทันที”

ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยที่ชี้ว่า ยิ่งเด็กชั้นอนุบาลมีเวลาเล่นกลางแจ้งในธรรมชาติมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้มีสมาธิจดจ่อ มีจินตนาการ รวมทั้งมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเท่านั้น

ในกรณีของสิงคโปร์ซึ่งระบบการศึกษาดั้งเดิมเน้นการเรียนในห้องที่เป็นแบบแผน ทั้งยังมุ่งความสำเร็จทางวิชาการในระดับสูง จนน่ากลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อปรัชญาดั้งเดิมของโรงเรียนในป่า ที่เน้นสร้างประสบการณ์ความเป็นอิสระให้กับเด็กนั้น ดาร์เรน เคว็ก โค้ชหลักสูตรโรงเรียนในป่าชาวสิงคโปร์บอกว่า หัวใจสำคัญของการจัดการเรียนการสอนแบบสแกนดิเนเวียที่นี่ คือการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในเบื้องต้นว่า หลักสูตรซึ่งไม่มีทิศทางและโครงสร้างอย่างชัดเจนนั้น จะทำให้ลูกของพวกเขาเรียนรู้ดีขึ้นได้อย่างไร

ภาพกลุ่มเด็กชี้รากไม้

ที่มาของภาพ, CHERMAINE LEE

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม สภาพอากาศที่ร้อนชื้นอบอ้าวของสิงคโปร์ซึ่งตรงข้ามกับอากาศหนาวเย็นของสแกนดิเนเวีย ทำให้การจัดกิจกรรมกลางแจ้งต้องปรับเปลี่ยนบ้างเล็กน้อย โดยเด็ก ๆ จะออกมาที่ห้องเรียนในป่าตอนเช้าตรู่หรือบ่ายคล้อยใกล้เวลาเย็นย่ำเพื่อเลี่ยงแดดร้อนจัด กิจกรรมมักจัดขึ้นใต้ร่มไม้และไม่เน้นการเล่นที่เคลื่อนไหวมากเช่นการปีนเขา โรงเรียนในป่าของสิงคโปร์ยังงดการนอนกลางวันกลางแจ้งแบบสแกนดิเนเวียด้วย เพราะเสี่ยงจะถูกฝูงยุงเข้าโจมตีได้

ขณะที่โรงเรียนในป่าของฮ่องกงและสิงคโปร์ถือเป็นกระแสความนิยมที่ค่อนข้างใหม่ แต่ที่ญี่ปุ่นการเรียนการสอนแบบนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรภาคบังคับสำหรับเด็กวัย 6-12 ปี มานานกว่าหนึ่งศตวรรษแล้ว โดยเด็ก ๆ จะได้วัดขนาดต้นไม้ ศึกษาพืชพรรณชนิดต่าง ๆ ประดิษฐ์สิ่งของจากไม้อย่างเช่นตะเกียบ รวมทั้งปลูก “ป่าโรงเรียน” ไว้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ในท้องถิ่นของตนเอง โดยป่านั้นมีความสำคัญทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณกับชาวญี่ปุ่นอย่างมาก

เกาหลีใต้รับเอาแนวคิดทางการศึกษานี้มาจากญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990 และประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยในปัจจุบันมีการปลูก “ป่าโรงเรียน” แล้วถึง 700 แห่งทั่วประเทศ กรมป่าไม้ของเกาหลีใต้จัดตั้งโรงเรียนในป่าแห่งแรกของตนเองเมื่อปี 2008 และต่อมาในปี 2017 รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศจะจัดทำพื้นที่กลางแจ้งเป็นโรงเรียนอนุบาลในป่าแบบสแกนดิเนเวียถึง 400 แห่ง ซึ่งจะเปิดใช้ภายในปี 2023 นี้

นโยบายของรัฐทำให้นักการศึกษาภาคเอกชนนิยมก่อตั้งโรงเรียนในป่าขึ้นด้วยเช่นกัน ชิน จียูน รองประธานสมาคมโรงเรียนอนุบาลในป่าแห่งเกาหลีใต้บอกว่า “นอกจากการตระเตรียมพื้นที่ป่าเพื่อการเรียนรู้แล้ว เรายังฝึกอบรมครูที่ได้มาตรฐานและมีประกาศนียบัตรสำหรับการสอนโรงเรียนในป่าโดยเฉพาะด้วย”

ภาพเด็กบนต้นไม้

ที่มาของภาพ, Forest School Singapore

“โรงเรียนอนุบาลในป่าที่ยุโรปและสหรัฐฯ นั้นต่างจากของเรา เนื่องจากส่วนใหญ่บริหารโดยสถาบันที่ไม่มีการรับรองมาตรฐานหลักสูตร แต่โรงเรียนในป่าที่เกาหลีใต้ 99% อยู่ในสังกัดสถาบันการศึกษาในระบบ ทำให้มั่นใจได้ว่าหลักสูตรจะเป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาปฐมวัยระดับชาติ” ชิน จียูน กล่าว

ส่วนที่จีนนั้นแนวคิดเรื่องโรงเรียนในป่ายังอยู่ในขั้นเริ่มต้น แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าเริ่มได้รับความนิยมจากบรรดาผู้ปกครองอย่างสูง โรงเรียนเอกชนบางแห่งเริ่มจัดห้องเรียนในป่าขึ้นสัปดาห์ละสองครั้ง โดยจะนำเด็กไปยังพื้นที่ป่าที่เช่าไว้จากเกษตรกร

ปัญหาที่พบในจีนยังคงเป็นเรื่องความเข้าใจของผู้ปกครอง แบบเดียวกับที่ครูของโรงเรียนในป่าที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ต้องเผชิญ ในบางครั้งผู้ปกครองที่เข้าร่วมกิจกรรมกับเด็กยังคงยึดติดกับผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของลูกมากเกินไป จนเผลอบอกคำตอบหรือจับมือเด็กแล้วเดินนำไปขณะทำกิจกรรมค้นหาสัตว์ต่าง ๆ ทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้ทักษะด้วยตนเองตามธรรมชาติ

ในยุคแห่งการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ซึ่งชุมชนและโรงเรียนในหลายประเทศของเอเชียต้องปิดทำการเป็นเวลานาน ตามมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมโรค โรงเรียนในป่าซึ่งทำการสอนกลางแจ้งต้องได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่บางแห่งก็ยังพยายามเปิดชั้นเรียนออนไลน์ หรือใช้วิดีโอเป็นสื่อการสอนส่งถึงบ้าน เพื่อรักษาจิตวิญญาณของห้องเรียนในป่าเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ครูผู้หนึ่งของโรงเรียนอนุบาลในป่าที่ฮ่องกงบอกว่า “ฉันก่อกองไฟเล็ก ๆ ในสวนบนหลังคาบ้าน พยายามทำการทดลองต่าง ๆ แล้วบันทึกเป็นคลิปวิดีโอ หวังว่ามันจะช่วยได้บ้างในยามที่เด็ก ๆ ต้องอยู่แต่ในบ้านทั้งวัน และบางคนก็เริ่มจะมีความรู้สึกรังเกียจดินทรายขึ้นมาแล้ว”

………………………………………….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ