เอาใจวัยชรา! ครม.คืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ กว่า 2 หมื่นราย กว่า 245 ล้านบาท พร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุ ที่ได้รับเบี้ยยังชีพซ้อนสวัสดิการอื่น
23 ส.ค. 2565 – ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติหลักการการคืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ ที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้ว จำนวน 28,345 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 245,243,189.70 บาท
พร้อมมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพฯ เมืองพัทยา และกระทรวงการคลัง หาแนวทางการจ่ายเงินคืนให้แก่ผู้สูงอายุรับเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนกับสวัสดิการอื่น และได้นำเงินมาคืนให้ทางราชการ รวมทั้งแจ้งให้มีการถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้มีการดำเนินคดีเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 23 ส.ค.
ทั้งนี้ การคืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่ได้นำเงินมาคืนราชการแล้ว ต้องรีบดำเนินการ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาอื่นที่จะตามมา เช่น ปัญหาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ การขาดโอกาสในการเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที ผู้สูงอายุเสียชีวิต และการร้องเรียนต่าง ๆ เป็นต้น
นายอนุชา กล่าวต่อว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) มีคำวินิจฉัยว่า เงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพ ต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ เป็นเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นการจ่ายเงินให้โดยชอบ ในกรณีที่ผู้สูงอายุนำเงินมาคืนราชการ หน่วยงานที่รับเงินไว้มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินคืนให้ผู้สูงอายุ
โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ในมาตรา 48 วรรค 2 มีเพียง 2 ประการคืออายุเกิน 60 ปี และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ จึงเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่รัฐจะตรากฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์จ่ายเงินช่วยเหลือบุคคลที่มีลักษณะดังกล่าว ดังนั้น ระเบียบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ที่กำหนดเงื่อนไขว่าต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ถือว่าไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ระหว่างนี้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ยังอยู่ระหว่างการนำเสนอแนวทางการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุเพื่อพิจารณา ซึ่งเมื่อได้แนวทางชัดเจนแล้ว กระทรวงมหาดไทย จะได้ดำเนินแก้ไขระเบียบให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าวต่อไป