“พวกเขามาจากประเทศอย่าง ไทย เวเนซุเอลา เม็กซิโก และ ฟิลิปปินส์ พวกเขายากจนมาก บางคนก็เรียนมาน้อยและไม่มีครอบครัวคอยช่วยเหลือ บางทีการต่อยมวยอาจจะเป็นแค่ทางเลือกเดียวของพวกเขา และชีวิตนอกสังเวียนของพวกเขามันยากลำบากกว่าบนเวทีเสียอีก”
“ความยากจน” เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากเจอ หลายคนจึงพยายามดิ้นรนเพื่อไปให้พ้นจากจุดนี้ ด้วยวิธีที่หลากหลายกันไป ตั้งแต่การลงทุนไปจนถึงการเสี่ยงโชคซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล
แต่สำหรับ เออิจิ โยชิคะวะ เขากลับใช้ “มวย” กีฬาแห่งนักสู้เป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้คนให้พ้นจากความยากจน รวมไปถึงผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะคนต่างชาติในญี่ปุ่น
และนี่คือชีวิตของนักมวยที่ผู้คนขนานนามว่า “นักสู้ผู้เมตตา” หรือ Compassionate Pugilist ติดตามเรื่องของเขาไปพร้อมกับ Main Stand
ต่อยมวยเพราะอินดี้
เออิจิ โยชิคะวะ เกิดในปี 1961 ที่จังหวัดคางาวะ จังหวัดขนาดเล็กบนเกาะชิโกกุ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น เขามีชีวิตในวัยเด็กด้วยการเติบโตมาจากวัด แต่ไม่ใช่เพราะเขามีฐานะยากจน แต่เป็นเพราะปู่ของเขาเป็นพระ (พระญี่ปุ่นแต่งงานได้)
ทำให้ โยชิคะวะ เติบโตมาอย่างเรียบง่าย จากการที่มีบ้านเป็นวัด และสนุกไปกับธรรมชาติรอบตัว อย่างการเที่ยวเล่นริมแม่น้ำ ภูเขา ไปจนถึงริมทะเล ขณะเดียวกันเขาก็ชื่นชอบในการออกกำลัง โดยเฉพาะการเล่นกีฬา
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าเขาจะรักในการเล่นกีฬามากแค่ไหน ก็ไม่เคยมีความคิดจะต่อยมวยเลยสักครั้ง แต่มันเปลี่ยนไปในตอนที่เขาย้ายมาอยู่โตเกียว เพื่อเรียนต่อในสาขาวรรณกรรมฝรั่งเศส ในมหาวิทยาลัย
ท่ามกลางแสงสี และสิ่งล่อตาตาล่อใจในเมืองกรุง ทำให้ใครหลายคนเสียผู้เสียคนมานักต่อนัก แต่เขาไม่ชอบมันเอาเสียเลย โยชิคะวะ ไม่ชอบไปดื่มสังสรรค์หลังเลิกเรียน ที่เป็นวัฒนธรรมยอดนิยมของนักศึกษา เขาจึงเลือกที่จะใช้เวลากับสิ่งที่ต่างออกไป
“ผมอยากจะลองทำอะไรสักอย่างที่เพื่อนร่วมชั้นผมไม่ทำแน่นอน ดังนั้นผมจึงตัดสินใจต่อยมวย” โยชิคะวะ ย้อนความหลังกับ Japan Times
เขาไปลงเรียนมวยกับ เคียวเอ บ็อกซิ่ง ยิม (Kyoei Boxing Gym) ที่เคยปั้นนักมวยให้เป็นแชมป์มาแล้วมากมาย หนึ่งในนั้นคือ โยโกะ กูชิเคน แชมป์โลกรุ่นไลท์ฟลายเวต และเป็นหนึ่งในนักมวยที่ดีที่สุดของญี่ปุ่น ด้วยสถิติชนะ 23 จาก 24 ไฟต์ และเป็นการชนะน็อกถึง 15 ครั้ง
จากการทำตัวอินดี้ เพื่อทำอะไรให้แตกต่างจากเพื่อน กลายเป็นความชอบ และแปรเปลี่ยนเป็นความสนุก ทำให้แม้แต่ตอนหลังเรียนจบ เขาก็ยังต่อยมวยต่อไป พร้อมกับการทำงานในบริษัท
“ผมเป็นมนุษย์เงินเดือนอยู่ 7 ปีในโตเกียว ในขณะเดียวกันก็ทำงานเป็นครูฝึกมวยในช่วงเย็นไปด้วย” โยชิคะวะ กล่าวต่อ
“เพื่อนร่วมงานของผมจะไปดื่มกันหลังเลิกงาน หรือตอนพักเที่ยงยาว ๆ แต่ผมไม่ได้ไปกับพวกเขา ผมเคยซ้อมวิ่งในระหว่างพักอาหารกลางวันมาแล้ว”
เนื่องจากด้วยวัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่ให้คุณค่ากับคนทำงานหนัก ทำให้พวกเขามักจะทำงานล่วงเวลากันจนเป็นธรรมเนียม แต่มันก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับโยชิคะวะ เมื่อเขาใช้วิธีมาเคลียร์งานตั้งแต่เช้า เพื่อสามารถออกงานได้ตรงเวลา จะได้ไปซ้อมมวยหรือสอนมวยต่อได้
“ดังนั้นจึงไม่มีใครบ่นเวลาผมออกจากบริษัทก่อน โดยที่คนอื่นยังทำงานต่อในคืนนั้น”
ก่อนที่มวยจะพาเขาไปสู่โลกอีกใบ
ครูมวยผู้เมตตา
แม้ว่าชีวิตในฐานะนักมวยอาชีพของเขาจะไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้าง แต่กับการเป็นครูฝึกนั้นถือว่าไม่เลว เมื่อโยชิคะวะสามารถปลุกปั้นลูกศิษย์ขึ้นไปคว้าแชมป์ญี่ปุ่นได้สำเร็จ หนึ่งในนั้นคือ อิวาโอะ โอโตโมะ ที่ไปคว้าเข็มขัด Champion One รุ่นไลท์เวตของญี่ปุ่นมาครอง ในปี 1987
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ โยชิคะวะ กำลังมีชีวิตที่มั่นคงในฐานะครูมวย เขาก็รู้สึกว่ากีฬาชนิดนี้ น่าจะทำอะไรเพื่อสังคมได้มากกว่านั้น จึงมีความคิดว่าจะใช้มวยเป็น “เครื่องมือ” ในการช่วยเหลือผู้คน
ในปี 2001 โยชิคะวะได้ก่อตั้งโครงการ Meidaimae Peacemakers ที่จะคอยดูแลสอดส่องเด็ก ๆ ไม่ให้หลงไปในทางที่ผิด โดยเริ่มจากย่านเมไดมาเอะ ในเขตเซตะงะยะในกรุงโตเกียว ตามชื่อโครงการ ซึ่งเป็นย่านที่มีปัญหาอาชญากรรมสูงในตอนนั้น
เขาใช้วิธีออกลาดตระเวน และเฝ้าดูเด็ก ๆ ระหว่างทางไปและกลับจากโรงเรียน โดยช่วงแรกเขาออกลาดตระเวนคนเดียว ก่อนที่หลังจากนั้น จะชวนนักมวยที่เป็นลูกศิษย์มาช่วยกันตรวจตราไปกับเขาด้วย
“นักมวยมีภาพลักษณ์ของชายผู้แข็งแกร่ง แต่หลายคนกลับเข้ากับสังคมไม่ได้” โยชิคะวะ อธิบายกับ Japan Times
“เราจะคุยกับทุกคนที่เดินเจอ และกระตุ้นให้พวกเขาบอกผมว่ากำลังคิดอะไรอยู่”
โครงการของเขาประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เมื่ออาชญากรรมในชุมชนลดลงอย่างเห็นได้ชัด กลุ่มของเขากลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับผู้ปกครอง และทำให้โครงการนี้ขยายไปในย่านต่าง ๆ
การอุทิศตนในครั้งนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติระดับประเทศในปี 2004 ก่อนที่เขาจะเอาเรื่องราวดังกล่าวไปเขียนเป็นหนังสือชื่อ Boxer Defends Neighborhood และตีพิมพ์ในปีต่อมา
ทว่าไม่ใช่แค่คนญี่ปุ่นเท่านั้นที่ โยชิคะวะ ให้ความช่วยเหลือ เขายังให้ความสำคัญไปที่คนชายขอบในสังคมอย่างคนต่างชาติที่เดินทางมาแสวงหาชีวิตใหม่ในแดนอาทิตย์อุทัยอีกด้วย
ด้วยความที่ โยชิคะวะ เคยไปศึกษาต่อที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ทำให้เขาสามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และเขาก็ใช้ “ภาษา” นี้เป็นสะพานในการช่วยเหลือนักมวยต่างชาติอายุน้อยที่เดินทางมาญี่ปุ่น
เขาเล่าว่าหลายคนมาพร้อมกับความฝันที่จะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ แต่ความเป็นจริงพวกเขาต้องเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก รวมทั้งถูกเอารัดเอาเปรียบ จากสถานะการเป็นคนต่างชาติที่ทำให้ไม่ค่อยมีปากมีเสียง
“พวกเขามาจากประเทศอย่าง ไทย เวเนซุเอลา เม็กซิโก และ ฟิลิปปินส์ พวกเขายากจนมาก บางคนก็เรียนมาน้อยและไม่มีครอบครัวคอยช่วยเหลือ” โยชิคะวะ อธิบาย
“บางทีการต่อยมวยอาจจะเป็นแค่ทางเลือกเดียวของพวกเขา และชีวิตนอกสังเวียนของพวกเขามันยากลำบากกว่าบนเวทีเสียอีก”
นักสู้เพื่อสังคม
หลังจากได้สัมผัสกับชีวิตของนักมวยต่างชาติ โยชิคะวะ ก็มองเห็นช่องทางใหม่ในการใช้มวยเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส นั่นก็คือการสร้างภาพยนตร์สารคดี
เดิมที่แล้ว โยชิคะวะ เป็นคนที่หลงใหลในแผ่นฟิล์ม เขาชอบดูภาพยนตร์มาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น โดยเฉพาะจากฝั่งตะวันตก ทั้งภาพยนตร์ฝรั่งเศส อิตาลี มาจนถึงอเมริกา อย่างเรื่อง Shane, 12 Angry Men, Serpico และ Rocky ที่ทำให้เขาได้เห็นจิตวิญญาณแห่งนักสู้ที่ต้องต่อสู้กับระบบและความอยุติธรรมจากตัวละครในเรื่อง
เขาได้สร้างภาพยนตร์สารคดีที่ตั้งชื่อว่า Rumble in the Jungle โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากไฟต์ประวัติศาสตร์ที่ซาอีร์ (ปัจจุบันคือ ดีอาร์ คองโก) ระหว่าง มูฮัมหมัด อาลี กับ จอร์จ โฟร์แมน ในปี 1974
โดยสารคดีของเขาจะบอกเล่าเรื่องราวของ โยชิคะวะ กับการช่วยเหลือนักมวยฟิลิปปินส์ตกอับ ด้วยการฝึกซ้อมอย่างมืออาชีพ เพื่อให้พวกเขามีความหวัง และแรงบันดาลใจที่จะกลายเป็นแชมป์อย่างแมนนี ปาเกียว แชมป์โลกชาวฟิลิปปินส์
นอกจากถ่ายทอดวิชาแล้ว เขายังก่อตั้งยิมในฟิลิปปินส์ จากเงินบริจาคของชาวญี่ปุ่น รวมทั้งให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ครอบครัวของนักมวยฟิลิปปินส์ ก่อนที่ความพยายามของเขา จะสามารถปลุกปั้นนักมวยในสังกัด ขึ้นไปคว้าแชมป์ระดับชาติได้ถึง 2 คน
หลังจากถ่ายทำและตัดต่อเสร็จสิ้นในปี 2013 เขาก็ตระเวนนำมันไปแสดงในงานภาพยนตร์ทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมทุนรับบริจาคช่วยเหลือนักมวยฟิลิปปินส์คนอื่นรวมถึงครอบครัวของพวกเขา ขณะเดียวกันก็อยากให้โลกได้เห็นมุมมองที่บางคนอาจไม่เคยรู้
ความทุ่มเทเมื่อครั้งอดีตจนถึงปัจจุบันของเขา ยังทำให้ โยชิคะวะ ถูกเชิญไปพูดในโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งในอเมริกา ยุโรป หรือที่ญี่ปุ่น บ้านเกิดของเขาเอง รวมแล้วกว่า 800 ครั้ง เขาบอกว่าแม้ว่าหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีฐานะดีหรือร่ำรวย หากวัดจากวัตถุ แต่หลายคนที่เขาได้เจอเป็นคนขาดความมั่นใจและไม่มีเป้าหมาย
“ผมได้เจอเด็กมัธยมต้นที่อยู่ภายใต้ความกดดันของการสอบเข้ามัธยมปลายและความคาดหวังของพ่อแม่ พวกเขามักจะบอกผมว่า ‘ฉันคือเด็กที่เศร้าที่สุดในโลก ครูและพ่อแม่ไม่ฟังฉันเลย'” โยชิคะวะ กล่าวกับ Japan Times
“แต่หลังจากได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของเด็กในฟิลิปปินส์ ที่ไม่ได้ร่ำรวยแต่มีความสุข มุมมองของพวกเขาก็เปลี่ยนไป”
นอกจากนี้ แม้ว่าเขาจะทำอาชีพสอนมวย แต่เขาก็ยังไม่ได้แขวนนวม เขายังคงขึ้นชกบนสังเวียนผ้าใบอยู่ไม่ขาด ซึ่งบางครั้งก็ต้องเผชิญกับคู่ต่อสู้ที่อายุน้อยกว่าเขาเกือบเท่าตัว
อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้ต่อยเพื่อผลแพ้ชนะ เขารู้ตัวดีว่ามันคงจะเป็นปาฏิหาริย์ที่นักมวยวัย 50 อย่างเขาจะล้มนักชกวัยรุ่น ที่กำลังวังชาดีกว่า แต่เขาขึ้นต่อยเพื่อระดมทุนในองค์กรการกุศลที่เขาเป็นอาสาสมัคร และแสดงให้เห็นว่าเขาไม่เคยยอมแพ้
“ผมไม่ใช่ แมนนี่ ปาเกียว ผมคงไม่คาดหวังว่าตัวเองจะเอาชนะ โรเบิร์ต คูเซนส์ ผมจะชนะงั้นเหรอ ? ไม่มีทาง แต่ผมสู้เพื่อแสดงให้คนอื่นเห็นว่า พวกเขาจะก้าวข้ามความท้าทายที่ยากลำบากได้อย่างไร” โยชิคะวะ วัย 58 ปี กล่าวก่อนขึ้นชกกับ โรเบิร์ต คูเซนส์ นักชกดีกรีแชมป์ประเทศแคนาดารุ่นเวลเตอร์เวต 4 สมัย วัย 27 ปี เมื่อปี 2019
เครื่องมือเปลี่ยนโลก
ปัจจุบัน โยชิคะวะ อาศัยอยู่ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา หลังถูกเชิญให้มาพูดที่นี่แล้วติดใจวิถีชีวิต รวมไปถึงสภาพสังคมของแคนาดา จนตัดสินใจเก็บข้าวของมาพำนักอย่างถาวรตั้งแต่ปี 2014
“ผู้คนในแวนคูเวอร์ยิ้มให้กัน ในขณะที่ในโตเกียวมีโปสเตอร์คอยบอกว่าให้ ‘สวัสดีและทักทายคนอื่น'” เขากล่าวกับ Japan Times
ทว่า แม้จะย้ายประเทศ แต่ความตั้งใจของเขาก็ยังไม่เปลี่ยนไป เขายังคงใช้มวยเป็นเครื่องมือในการตอบแทนสังคมอยู่เสมอ โดยโครงการล่าสุดของ โยชิคะวะ คือการสอนมวยให้กับผู้สูงอายุที่เป็นโรคพาร์กินสัน
เขาบอกว่าการเรียนท่าต่อยมวยทำให้ผู้สูงอายุมีความมั่นใจมากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการหายจากโรคที่เป็นอยู่
“ฉันเข้าร่วมคลาสสำหรับผู้สูงอายุที่เป็นโรคพาร์กินสัน และตัวเองก็อยากจะเรียนมวยด้วย” หนึ่งในผู้เข้าร่วมคลาสของ โยชิคะวะ บอก
“ฉันบอกว่าพรุ่งนี้ฉันจะมาอีก และฉันก็มา นับตั้งแต่นั้น มันก็กลายเป็นปีแห่งความมหัศจรรย์ เมื่อโรคที่ถูกระบุว่า ‘รักษาไม่หาย’ นั้นมันไม่จริง”
ทุกวันนี้ โยชิคะวะ ยังคงบินไปมาระหว่าง แคนาดา ยุโรป และ ญี่ปุ่น เพื่อพูดให้กำลังใจแก่ผู้คนทั่วโลก รวมทั้งสอนมวยให้กับผู้คนมากมาย ขณะเดียวกันเขาก็ยังคงขึ้นชกเพื่อระดมทุนให้กับองค์กรการกุศลที่เขาเป็นอาสาสมัคร แม้ว่าอายุจะใกล้วัยแซยิดแล้วก็ตาม
นี่คือความมุ่งมั่นในการใช้ “มวย” ที่เป็นความสามารถติดตัวของเขา เป็นหลักในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เขาบอกว่าวางแผนที่ช่วยเหลือผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
และสิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า สำหรับ โยชิคะวะ แล้ว “มวย” นั้นเป็นมากกว่าแค่กีฬา
“การต่อยมวยไม่จำเป็นต้องมีปริญญาหรือใบประกาศ คุณอาจจะอ่านหนังสือไม่ออกแต่ก็สามารถสู้ได้ บนเวทีไม่ว่าจะจนหรือรวยก็ล้วนเท่ากัน” โยชิคะวะ กล่าวกับ Global Voices
“ถ้าคุณขัดเกลาทักษะให้ดี คุณอาจจะเป็น (แชมป์โลกอย่าง) แมนนี่ (ปาเกียว) หรือ โนลิโต (โดแนร์) ได้ แน่นอนว่ามีคนเพียงแค่หยิบมือที่ขึ้นไปอยู่ระดับท็อปของโลก แต่นักมวยก็สามารถเรียนรู้อะไรได้มากมายเกี่ยวกับชีวิตที่เป็น ความแข็งแกร่งและความอ่อนแอของคุณ โดยเฉพาะตอนที่คุณแพ้ในการชก”
“เข็มขัดแชมป์มันอาจจะไม่ได้อยู่กับเรานาน แต่การได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองและโลกใบนี้ จะทำให้เราเข้าใจอะไรได้ลึกขึ้น และดีขึ้นอย่างแน่นอน” โยชิคะวะ กล่าวทิ้งท้าย