ถ้ารู้สึกเหนื่อย แต่ถึงเวลานอนดันนอนไม่หลับ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายของคุณอาจกำลังมีปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบแก้ไข
คนรุ่นใหม่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนมากขึ้น และมีทีท่าว่าจะพบในกลุ่มคนอายุน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน สาเหตุหลักๆ อาจมาจากอาการข้างเคียงของโรคประจำตัวอย่าง ภูมิแพ้ หอบหืด ความดันโลหิตสูง แต่ที่พบได้บ่อยๆ จะเป็นปัญหาทางด้านของจิตใจที่มีความเครียด ความกังวลในด้านต่างๆ
อาการนอนไม่หลับ
อาการนอนไม่หลับ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอาการใหญ่ๆ ที่พบได้ ดังนี้
- หลับยาก
เมื่อถึงเวลานอน ล้มตัวลงนอนบนเตียงถึงหมอน พร้อมหลับตาเรียบร้อย แต่ดันนอนไม่หลับ และใช้เวลานอนเกือบชั่วโมงจนกว่าจะนอนหลับ
- หลับไม่สนิท
แม้ว่าจะหลับไปแล้ว แต่มักจะตื่นขึ้นมากลางดึก และในบางคนจังหวะที่ตื่นก็จะตาสว่าง ไม่สามารถกลับไปนอนต่อได้อีกเป็นเวลานาน
- หลับๆ ตื่นๆ
ถึงจะหลับ แต่ก็ไม่ได้หลับอย่างเต็มอิ่ม รู้สึกเหมือนแค่เคลิ้มๆ จะหลับ แต่ก็ตื่นขึ้นมาเสียก่อนอยู่ตลอดเวลา
เมื่อไม่สามารถนอนหลับพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ ทำให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิระหว่างวัน และอาจส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันได้
เหนื่อยแต่นอนไม่หลับ เกิดจากสาเหตุใด
โดยทั่วไป คนที่ใช้พลังงานในตอนกลางวันมากๆ จนรู้สึกเหนื่อย ตกกลางคืนก็จะนอนหลับได้ง่ายเพราะร่างกายต้องการการพักผ่อน แต่สำหรับคนที่เหนื่อยจากการเรียน การทำงาน เป็นการเหนื่อยสมอง เพราะสมองทำงานหนัก ส่วนใหญ่มักมาจากความเครียด อาการวิตกกังวล แรงกดดัน หรือมีอาการซึมเศร้าและท้อแท้ หมดกำลังใจ หมดหวังในการใช้ชีวิต คิดว่าตัวเองไร้ค่า ยึดติดและอยู่กับตัวเองมากเกินไป ผลการเรียน หรือการทำงานที่ไม่ได้ตามหวัง สมองคิดวนๆ แต่เรื่องเหล่านี้จนทำให้ไม่สามารถข่มตานอนหลับได้นั่นเอง
เหนื่อยแต่นอนไม่หลับ เป็นอาการทางจิตหรือไม่
มีหลายสาเหตุทำให้เรามีอาการนอนไม่หลับ และไม่จำเป็นต้องเป็นอาการทางจิตเสมอไป ปัจจัยที่ทำให้เรานอนไม่หลับมีหลายสาเหตุ ทั้งจากปัจจัยภายนอก เช่น สภาพอาการที่ร้อนหรือหนาวเกินไป ห้องที่สว่างมากเกินไป อาหารหรือเครื่องดื่มที่กินก่อนนอน (มีคาเฟอีนหรือไม่) หิวหรืออิ่มมากเกินไป ไปจนถึงลักษณะการใช้ชีวิตในช่วงนั้นๆ ที่อาจทำงานเป็นกะ ทำให้ตื่นในช่วงกลางคืนที่เคยเข้างานกะดึกอยู่บ่อยๆ เป็นต้น
หากอยากรู้ว่าอาการที่เป็นอยู่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการทางจิตหรือไม่ ควรเข้าพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด
นอนไม่หลับนานแค่ไหน ควรพบแพทย์
หากมีอาการนอนไม่หลับติดต่อกันเกิน 3 วันต่อสัปดาห์ ควรพบแพทย์ก่อนที่ร่างกายจะแย่ไปกว่าเดิม และได้รับผลกระทบจากการนอนไม่หลับ เช่น อารมณ์แปรปรวน ขึ้นๆ ลงๆ สมาธิสั้น ความสามารถในการจำลดลง รวมถึงการส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียน การทำงาน และอาจรวมไปถึงการลดการเข้าสังคมโดยไม่รู้ตัว
วิธีป้องกันอาการนอนไม่หลับ
- ไม่ปล่อยให้ตัวเองหิวหรืออิ่มมากจนเกินไป
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนเข้านอน 6 ชั่วโมง
- ลดความเครียดต่างๆ ก่อนเข้านอนด้วยการทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น อาบน้ำอุ่น ฟังเพลงเบาๆ อ่านหนังสือที่มีเนื้อหาไม่หนักเกินไป เป็นต้น
- งดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนเข้านอน 30 นาที – 1 ชั่วโมง
- สร้างบรรยากาศในห้องนอนให้น่านอน เช่น ปรับอาการให้เย็นสบาย กลิ่นสะอาดอบอุ่น ไฟสลัวๆ ไม่แยงตา เป็นต้น
- ถ้านอนไปสักพักแล้วยังนอนไม่หลับ ควรลุกขึ้นมาหากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำต่ออีก 10-20 นาทีแล้วค่อยเข้านอนอีกครั้ง
- อย่างีบในตอนกลางวันหรือตอนเย็น เพราะอาจทำให้ตอนกลางคืนไม่ง่วง
- ไม่ควรดื่มน้ำหลายๆ แก้วก่อนเข้านอน เพราะอาจทำให้ปวดปัสสาวะจนต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำกลางดึกได้ ควรจิบน้ำแค่พอหายกระหายน้ำเล็กน้อยเท่านั้น
- ออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยให้ตอนกลางคืนนอนหลับได้ง่ายขึ้น
- พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ตัวช่วยอย่าง ยานอนหลับ
วิธีเหล่านี้ช่วยให้เรานอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่ต้องทำสิ่งเหล่านี้ติดต่อกันเป็นเวลา 1 เดือน และจะเห็นผลอย่างยั่งยืนเมื่อทำติดต่อกันกว่า 6 เดือนขึ้นไป