เหตุใด "บาร์ซ่า" จึงมีหนี้มากกว่าพันล้าน ทั้งที่เป็นสโมสรฟุตบอลระดับโลก?

Home » เหตุใด "บาร์ซ่า" จึงมีหนี้มากกว่าพันล้าน ทั้งที่เป็นสโมสรฟุตบอลระดับโลก?



เหตุใด "บาร์ซ่า" จึงมีหนี้มากกว่าพันล้าน ทั้งที่เป็นสโมสรฟุตบอลระดับโลก?

1,173 ล้านยูโร คือหนี้สินที่สโมสรฟุตบอล บาร์เซโลนา มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อ ที่ทีมระดับแถวหน้าของวงการ มีรายได้มหาศาล กลับมีหนี้ก้อนโตมากกว่าพันล้าน

บาร์เซโลนาได้แสดงให้เห็นว่า ชื่อเสียง และความสำเร็จ ไม่ได้รับประกันถึงความมั่นคงทางการเงิน หากมีผู้นำที่ไม่ฉลาด วางแผนนโยบายที่ผิดพลาด ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี การล่มสลายของทีมสามารถเกิดขึ้นได้ แม้แต่กลับสโมสรที่เคยถูกมองว่า มีความมั่นคงทางการเงินระดับต้นของโลก

กับดักจากความสำเร็จ

บาร์เซโลนา อาจมีฉายาที่คนไทยเรียกติดหูว่า “เจ้าบุญทุ่ม” จากการไล่ซื้อนักเตะซูเปอร์สตาร์หลายคนเข้าสู่ทีมในช่วงยุค 80s-90s แต่สิ่งที่ทำให้สโมสรแห่งนี้ ยิ่งใหญ่เป็นมหาอำนาจของโลกลูกหนัง คือการพัฒนาบุคลากรจากระบบเยาวชน

1

“ลา มาเซีย” หรือศูนย์ฝึกเยาวชนของบาร์เซโลนา คือหัวใจของสโมสรนี้ เพราะเป็นสิ่งที่วางรากฐานความเป็นบาร์เซโลนาให้กับนักเตะ ทั้งแนวทางการเล่นฟุตบอลที่ชัดเจน, จิตวิญญาณความเป็นกาตาลัน และที่สำคัญที่สุด คือเข้าใจความหมายว่า บาร์เซโลนา ฟุตบอล คลับ เป็นมากกว่าสโมสร ของแฟนบอลทุกคน ตามคำขวัญ “Mes Que Un Club”

หลังจากก่อตั้งในปี 1979.. ลา มาเซีย ใช้เวลาถึง 30 ปี ในการสร้างทีมฟุตบอลที่ยอดเยี่ยมที่สุดตั้งแต่ที่โลกเคยมีมา ผ่านแข้งเยาวชนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น คาร์เลส ปูโยล, ชาบี เอร์นานเดซ, อันเดรส อิเนียสตา, เปโดร โรดิเกวซ, เคราร์ด ปิเก และ ลิโอเนล เมสซี่ รวมถึงโค้ชของทีม เป๊ป กวาร์ดิโอลา ก็เป็นเด็กฝึกจาก ลา มาเซีย อีกทั้งยังผ่านการคุมทีมของบาร์เซโลนา ในชุดเยาวชนมาก่อนด้วยเช่นกัน

บาร์เซโลนา คือทีมที่ภูมิใจกับการสร้างทีมจากเยาวชนมาก รวมถึงแฟนบอลก็ชื่นชอบในแนวทางนี้เช่นกัน โดยเฉพาะหลังจากที่บาร์ซ่าได้บทเรียนในช่วงปลายยุค 90s กับการซื้อนักเตะชื่อดังหลายคนมาร่วมทีม ไม่ว่าจะเป็น โรนัลโด้, ริวัลโด้, มิเชล ไรซีเกอร์, ซอนนี่ แอนเดอร์สัน, แพทริค ไคลเวิร์ต, เบาเดอไวน์ เซนเดน, แฟรงค์ เดอ บัวร์, โรนัลด์ เดอ บัวร์ แต่กลับไม่สามารถสร้างความยิ่งใหญ่ได้เท่ากับคู่ปรับอย่าง เรอัล มาดริด ในช่วงเวลานั้น

บาร์เซโลนา หันมาตั้งใจสร้างทีมจากเด็กของตัวเอง แม้จะใช้เวลานาน แต่เมื่อผลิดอกออกผล บาร์ซ่าคือทีมที่ไม่มีใครสามารถหยุดได้ ในปี 2009 พวกเขาคว้าแชมป์ 6 ถ้วยในปีเดียว นั่นคือ ลา ลีกา, โคปา เดล เรย์, ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก, ยูฟ่า ซูเปอร์คัพ, สแปนิช ซูเปอร์คัพ และ ฟีฟ่า คลับ เวิลด์ คัพ

2

งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา หลังจากยุคของความสำเร็จภายใต้การนำของ ลา มาเซีย ที่พาทีมคว้าแชมป์มาไม่หยุดหย่อน บุคคลสำคัญของทีมค่อย ๆ แยกย้ายจากกันไป อาทิ เป๊ป กวาร์ดิโอลา อำลาสโมสรไปในปี 2012, คาร์เลส ปูโยล และ ชาบี เอร์นานเดซ เข้าสู่ช่วงปลายของอาชีพ 

รวมถึง ติโต บีลาโนบา ผู้จัดการทีมคนใหม่ ที่ควรจะเป็นคนเริ่มยุคใหม่ให้กับบาร์ซ่า ต้องอำลาทีมอย่างกะทันหันในปี 2013 ทั้งที่เขาเพิ่งจะคุมทีมได้เพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น หลังโรคมะเร็งกลับมารังควานอีกครั้ง ก่อนจะเสียชีวิตใน 1 ปีถัดมา

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดูเหมือนว่าบาร์เซโลนาจะต้องเข้าสู่กระบวนการสร้างทีมใหม่ แต่ความสำเร็จของ บาร์ซ่า ที่เกิดขึ้นจากเด็กปั้นของสโมสร ได้ยกระดับให้ทีมดังจากแคว้นกาตาลุญญา กลายเป็นทัพลูกหนังที่มีแฟนบอลอยู่ทั่วโลก เม็ดเงินมหาศาลหลั่งไหลเข้ามา ทำให้ทีมต้องมองถึงแนวทางที่จะรักษาความยิ่งใหญ่ต่อไป ด้วยการเดินหน้าต่อแทนที่จะยอมถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

บาร์เซโลนาพบว่าเด็กรุ่นใหม่จาก ลา มาเซีย ไม่สามารถตอบโจทย์กับการสร้างความสำเร็จแบบรวดเร็วทันใจ ผู้เล่นอย่าง มาร์ติน มอนโตยา, คาร์เลส อันเลญ, ราฟินญา อัลคันตารา, เซร์จี โรแบร์โต หรือแม้กระทั่ง ธิอาโก อัลคันตารา ไม่อาจแจ้งเกิดภายในพริบตา สานต่อความสำเร็จของรุ่นพี่ได้ในทันที ดังที่ทีมคาดหวัง ทำให้บาร์ซ่าเลือกหาแนวทางใหม่ ที่จะมาต่อยอดความยิ่งใหญ่ของสโมสรเอาไว้

เลือกทางเดินที่ผิด

วิถีทางใหม่ที่บาร์เซโลนาเลือก คือการทุ่มซื้อสตาร์ดังเข้าสู่ทีม และลดความสำคัญของการดึงเด็กในท้องถิ่นเข้ามาเป็นผู้เล่นเยาวชน 

หลังจากนั้นไม่นาน นักเตะซูเปอร์สตาร์ทยอยเดินหน้าเข้ามาเป็นสมาชิกของทัพอัลกราซูนา ไม่ว่าจะเป็น เนย์มาร์, ฟิลิปเป คูตินโญ, หลุยส์ ซัวเรซ, อิวาน ราคิติช, อุสมาน เด็มเบเล, อองตวน กรีซมันน์ หรือ เฟรงกี เดอ ยอง

3

การเรียงหน้าซื้อนักเตะระดับเวิลด์คลาสอย่างต่อเนื่อง ผลาญเงินมหาศาลของบาร์เซโลนา เช่น ซื้อ ฟิลิปเป คูตินโญ ในราคา 145 ล้านยูโร, ซื้อ อุสมาน เดมเบเล ในราคา 105 ล้านยูโร โดยไม่รวมโบนัสที่ต้องจ่ายภายหลัง 40 ล้านยูโร, ซื้อ อองตวน กรีซมันน์ ในราคา 120 ล้านยูโร, ซื้อ เนยมาร์ ในราคา 57 ล้านยูโร ซึ่งแค่ผู้เล่นเพียง 4 คนข้างต้น บาร์ซ่าเสียเงินไปหลายร้อยล้านยูโรแล้ว 

หรือแม้แต่การซื้อผู้เล่นธรรมดา ๆ อย่าง เปาลินโญ สโมสรแห่งนี้ยังยอมจ่ายเงินถึง 40 ล้านยูโร เพื่อคว้าตัวมาจาก กวางโจว เอเวอร์แกรนด์, รวมถึง อังเดร โกเมส และ มัลคอม ซึ่งทีมจ่ายเงินรวมกันจากนักเตะสองรายมากกว่า 75 ล้านยูโร แต่ไม่ได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับทีมแม้แต่น้อย

การใช้เงินซื้อนักเตะจนมือเติบของบาร์ซ่า เพื่อนำมาล่าความสำเร็จ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดนัก หากมีเจ้าของทีมมหาเศรษฐี จากตะวันออกกลาง หรือสหรัฐอเมริกา คอยหนุนหลัง แต่ทีมไม่ได้มีเจ้าของรวยแบบนั้น เพราะได้ใช้ระบบการถือหุ้นโดยแฟนบอลที่เป็นสมาชิกของสโมสร

เท่านั้นยังไม่พอ นักเตะหลายคนที่บาร์เซโลนาซื้อเข้ามา มีค่าเหนื่อยมหาศาลระดับหลายแสนยูโรต่อสัปดาห์ รวมถึงผู้เล่นซูเปอร์สตาร์หน้าเก่าของทีม ทั้ง เมสซี่, ปิเก และ บุสเกสต์ ก็รับรายได้ราคาแพงเช่นกัน ปัจจุบันมีนักเตะถึง 8 คนในทีมชุดใหญ่ ที่รับค่าเหนื่อยแพงกว่า 2 แสนยูโรต่อสัปดาห์ ซึ่งแม้ว่าบาร์ซ่าจะมีรายได้มากขนาดไหน การมีรายจ่ายเฉพาะแค่การบริหารนักเตะมากขนาดนี้ ถือว่าเป็นภาระทางการเงินที่หนักหนาสาหัส

“การทุ่มเงินมหาศาลลงในตลาดซื้อขาย คือการเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ เพราะในความเป็นจริงแล้ว เงินพวกนี้ ไม่ได้รับประกันเลยว่า คุณจะประสบความสำเร็จบนตารางคะแนน” ไซมอน คูเปอร์ นักเขียนจากหนังสือ Soccernomics กล่าว

4

แทนที่จะนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างรายได้ การเสียเงินเพื่อซื้อความสำเร็จ ไม่ได้ให้อะไรกลับมาแก่บาร์เซโลนามากนัก ในแง่ความมั่นคงทางการเงิน ทีมค่อย ๆ สร้างหนี้สินของตัวเองขึ้นมาอย่างช้า ๆ ผ่านการซื้อนักเตะแบบไม่รู้จักพอของทีม นอกจากนี้ ทีมดังจากแคว้นกาตาลุญญา ได้เลือกใช้วิธีซื้อนักเตะแบบผ่อนจ่าย ยิ่งกลายเป็นการสร้างหนี้แบบดินพอกหางหมูที่เพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ

กว่าจะรู้ตัวอีกที บาร์เซโลนาก็มีหนี้สินสะสมสูงถึง 1,173 ล้านยูโร และมีหนี้ระยะสั้นที่ต้องเร่งผ่อนชำระสูงถึง 730 ล้านยูโร นอกจากนี้ยังค้างค่าตัวผู้เล่นที่ทีมซื้อมาอยู่อีกเพียบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านยูโร

จริงอยู่ว่า ทีมคู่ปรับของบาร์เซโลนา อย่าง เรอัล มาดริด ก็ใช้เงินซื้อนักเตะมือเติบเช่นกัน และมีเจ้าของสโมสรเป็นแฟนบอล ไม่ต่างกับบาร์ซ่า แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ มาดริดไม่เคยละทิ้งแนวทาง การปั้นเยาวชนของสโมสร 

ทัพราชันชุดขาว สามารถสร้างนักเตะจากอคาเดมีของตัวเอง ขึ้นมาสู่ชุดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแบ่งเบาภาระการใช้เงินซื้อผู้เล่นเข้าสู่ทีม ไม่ว่าจะเป็น ดานี การ์บาฆัล, นาโช เฟร์นานเดซ, ลูคัส บาสเกซ (แม้อาจมีการปล่อยบางคนออกไป แต่ก็มักจะสอดไส้เงื่อนไขซื้อกลับในราคาถูกไว้ด้วยเสมอ อย่างในกรณี ดานี การ์บาฆัล ที่จ่ายเงินให้ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน เหมือนกับค่าปั้นเพียงราว 6.5 ล้านยูโรเท่านั้น) รวมถึงลงทุนซื้อนักเตะดาวรุ่งฝีเท้าดีในราคาที่ไม่สูง และมีค่าเหนื่อยต่ำมาใช้งาน (ในระยะแรกที่อยู่กับทีม) เช่น ราฟาเอล วาราน, ดานี เซบาญอส, อิสโก, มาร์โก อเซนซิโอ และ อัลวาโร โอดริโอโซลา ซึ่งไม่มีใครราคาสูงกว่า 30 ล้านยูโร แม้แต่คนเดียว

ขณะที่บาร์เซโลนา นอกจากจะไม่มีการผลักดันผู้เล่นอายุน้อย เพราะต้องการประสบความสำเร็จแบบทันตาเห็น นักเตะหลายคนที่เข้ามา กลับทำผลงานได้น่าผิดหวัง และไม่อาจดลบันดาลความสำเร็จได้ตามที่ทีมคาดหวังไว้ ทั้ง คูตินโญ, เด็มเบเล หรือ กรีซมันน์ จึงยิ่งเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ จะขายก็ขายไม่ออก เพราะทีมซื้อมาแพงจึงอยากได้ค่าตัวที่เป็นทุนก้อนโตคืนกลับมา สุดท้ายหลงเหลือไว้แค่ภาระค่าเหนื่อยมหาศาล ที่ทีมยังต้องแบกรับอยู่จนถึงตอนนี้ 

5

“คุณย้อนมองดูความรุ่งเรืองของยุค เป๊ป กวาร์ดิโอลา ทั้งหมดคือ ลา มาเซีย มันสุดยอดมากแค่ไหน ที่สามารถสร้างผู้เล่นมหัศจรรย์ ที่ต่อให้มีเงินมากแค่ไหน คุณก็ซื้อนักเตะแบบนี้ไม่ได้ เช่น เมสซี่, อิเนียสตา หรือ ชาบี” 

“ยิ่งคุณเห็นว่าอนาคตของ เรอัล มาดริด สดใสมากเท่าไหร่ อนาคตของ บาร์เซโลนา ยิ่งมืเหม่นมากเท่านั้น สำหรับผม ตอนนี้ บาร์เซโลนา เข้าสู่ช่วงขาลงอย่างเต็มตัว” จอห์น คาร์ลิน นักข่าวสายบอลสเปน กล่าวถึงอนาคตที่ไม่สู้ดีของบาร์ซ่า

การไม่สามารถสร้างนักเตะจาก ลา มาเซีย ขึ้นสู่ชุดใหญ่ ไม่ได้ส่งผลแค่การต้องจ่ายเงินมากขึ้นในการหาผู้เล่นสู่ทีม แต่เด็กสร้างเหล่านี้ล้วนมีจิตวิญญาณความเป็นบาร์เซโลนา ที่พร้อมจะทุ่มเกินร้อยถวายหัวเพื่อทีม การไม่มีดาวเตะรุ่นใหม่อันเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของบาร์ซ่า ย่อมทำให้ความดุดันของทีมยามลงทำการแข่งขันลดลงไปด้วย จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่บ่อยครั้ง พวกเขาต้องไปไม่ถึงฝั่งฝัน จากการตกรอบสุดช็อค เพราะขาดนักเตะที่ต้องการจะเล่นเพื่อบาร์เซโลนาจริงๆ

ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด

หนี้สินมากมายมหาศาลของ บาร์เซโลนา ในตอนนี้ เป็นเพียงแค่ผลลัพธ์จากการกระทำ หรือการซื้อตัวมือเติบ ก็เป็นเพียงนโยบายหนึ่งของสโมสร ซึ่งหากจะมองถึงต้นตอของปัญหาทั้งหมด คงหนีไม่พ้นชายที่ชื่อ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว

6

บาร์โตเมว เข้ามารับตำแหน่งในเดือนมกราคม ปี 2014 เขาได้แสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของตัวเองในทันที ด้วยการไม่สามารถซื้อนักเตะที่ทีมต้องการได้เลย ไม่ว่าจะเป็น มาร์โก แวร์รัตติ, ดานี เซบาญอส และ มาร์โก อเซนซิโอ แถม 2 ใน 3 ราย ได้ย้ายไปอยู่กับ เรอัล มาดริด ด้วยราคารวมกันแค่ 22 ล้านยูโร หมายความว่าทัพอาซูลกรานา ได้พลาดของดีราคาถูกไปอย่างน่าเจ็บใจ

นอกจากนี้ ถึงบาร์โตเมว จะเป็นนักธุรกิจ แต่เขาไม่มีความสามารถมากพอ ที่จะเล่นแร่แปรธาตุการเงินของสโมสร ให้ลื่นไหลไม่เจอกับปัญหาหนี้สินที่เยอะเกินไป ซึ่งสื่อในสเปนถึงกับโจมตีเขาว่า เป็นมวยคนละระดับ กับ ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานของ เรอัล มาดริด

หนึ่งในความผิดพลาดที่สำคัญคือ บาร์โตเมว พยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ทีมของเขา กลายเป็นเหมือนกับ เรอัล มาดริด โชว์แสนยานุภาพทางการเงิน ผ่านการซื้อนักเตะชื้อดังเข้าสู่ทีม เพื่อเชื้อเชิญให้สปอนเซอร์หันมาลงทุนเงินก้อนโตกับทีม ซึ่งเขาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า เขาไม่มีความสามารถพอที่จะทำแบบนั้น เพราะปัจจุบัน บาร์เซโลนา ยังคงมีรายได้จากสปอนเซอร์ น้อยกว่าทีมคู่ปรับจากกรุงมาดริด

“บาร์โตเมวเป็นนักธุรกิจที่เก่ง แต่แนวคิดของเขามันใช้ไม่ได้ กับการบริหารทีมฟุตบอล แผนการซื้อนักเตะของเขาก็ห่วย การบริหารเรื่องงค่าเหนื่อยก็ห่วย ผลเสียก็มาอยู่กับผลงานในสนาม”

“เขาคิดถึงแต่การซื้อนักเตะราคาแพง แต่ไม่เคยคิดจะหาโค้ชระดับโลกมาคุมทีม คนอย่าง เอร์เนสโต บัลเบร์เด ไม่ดีพอสำหรับบาร์เซโลนา ผลลัพธ์ที่ตามมาคือหลังจากนี้ บาร์ซ่าต้องใช้เวลาที่ยาวนานมาก ๆ ในการสร้างทีมขึ้นมาใหม่อีกครั้ง” 

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับบาร์เซโลนา คือสิ่งเดียวที่เกิดขึ้นกับบาเลนเซีย (ใช้เงินเกินกำลัง, ตั้งโค้ชไม่เหมาะกับทีม, ผู้บริหารดำเนินนโยบายที่ผิด) ซึ่งถึงแม้จะมีแชมป์ติดมือ แต่หลังจากนั้นคือหายนะ” ไมเคิล ฮิคส์ นักข่าวของ Sky Sports เล่าถึงความผิดพลาดของบาร์โตเมว

7

นอกจากนี้ การเป็นหนี้ค่าตัวนักเตะคงค้างราว 200 ล้านยูโร ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดจากการบริหารของบาร์โตเมวเป็นอย่างดี เพราะเมื่อเกิดการระบาดของไวรัส COVID-19 แนวทางการใช้เงินยืมหน้ามาโปะหลังของผู้บริหารรายนี้ ก็พังพินาศไม่เป็นท่า 

รวมถึง บาร์โตเมว ยังไม่มีแผนฉุกเฉินมาคอยรองรับสถานการณ์ยากลำบากแบบนี้ จนทำให้บาร์ซ่า มีหนี้เพิ่มขึ้นมามากกว่า 200 ล้านยูโร ภายในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการระบาดของไวรัส COVID-19 

แม้ว่าปัจจุบัน บาร์โตเมวจะประกาศอำลาตำแหน่งไปแล้ว แต่ภาระหนี้สิ้นที่เขาสร้างไว้ยังคงอยู่กับบาร์เซโลนา และเป็นปัญหาที่คนรุ่นหลังยังต้องคอยตามล้างตามเช็ดกับสิ่งทีเกิดขึ้นจากทีมผู้บริหารรุ่นก่อน

ถึงจะติดหนี้มากกว่าพันล้านยูโร แต่สถานการณ์ของบาร์เซโลนายังไม่ใกล้เคียงกับการล้มละลาย อย่างไรก็ตาม แผนระยะสั้นของทีมในตอนนี้ คือการโละนักเตะค่าเหนื่อยแพงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อลดรายจ่ายให้สโมสร รวมถึงขายนักเตะเพื่อนำเงินก้อน มาใช้หนี้ที่ต้องการการเร่งชำระ

8

จากการคาดการณ์ของสื่อ ได้สรุปเป็นเสียงตรงกันว่า ยุคทองของบาร์เซโลนากำลังจะจบลงเพียงเท่านี้ หลังจากนี้เป็นการชดใช้กรรมเก่าที่สร้างขึ้นมาหลายปี และคงใช้เวลาอีกนาน หากทีมจะเข้ากระบวนการสร้างทีมใหม่ และกลับมาแข็งแกร่งดังที่เคยเป็น แบบยุคสมัยของ เป๊ป กวาร์ดิโอลา

เป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดสำหรับทุกคนที่รักในสโมสรแห่งนี้ ความล้มเหลวทางการเงิน กำลังจะนำมาซึ่งความล้มเหลวด้านผลงานในสนาม ซึ่งแสดงให้เห็นแล้ว กับผลงานที่ย่ำแย่ในฤดูกาล 2020-21 

อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นการเตือนสติครั้งสำคัญของบาร์เซโลนา หนึ่งในทางเลือกที่ดีที่สุดหลังจากนี้ คือการกลับไปสร้างนักเตะจากระบบเยาวชนอีกครั้ง ไม่แน่ว่า ทีมอาจจะได้พบ เมสซี่, อิเนียสตา หรือ ชาบี คนใหม่ เข้ามาชุบชีวิตทีมให้กัลบมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ