เสี่ยงสูญพันธุ์! ‘วราวุธ’วางมาตรการเข้ม ดูแลโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายทะเลไทย

Home » เสี่ยงสูญพันธุ์! ‘วราวุธ’วางมาตรการเข้ม ดูแลโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายทะเลไทย



วราวุธ สั่งเข้มมาตรการดูแลโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายของไทย เผยข้อมูลรวม 16 ปี เกยตื้นตาย 94 ตัว เหตุติดเครื่องประมงสูงสุด พื้นที่ จ.สงขลา และ จ.พัทลุง เสี่ยงสูญพันธุ์สูง วอนชาวประมงร่วมอนุรักษ์

เมื่อวันที่ 2 พ.ค. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวถึงสถานการณ์โลมาอิรวดีในไทยว่า โลกนี้มีโลมาอิรวดี ในแหล่งน้ำจืดเหลือเพียง 5 แห่ง ได้แก่ อินเดีย 140 ตัว อินโดนิเซีย 90 ตัว เมียนมาร์ 80 ตัว กัมพูชา 90 ตัว

ส่วนในไทยตนได้รับรายงานจากคณะทำงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงสถานการณ์ของโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้าย ในทะเลสาบสงขลา ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ และรับทราบถึงกระแสความกังวลใจของพี่น้องประชาชนคนไทย ที่ห่วงใยในสถานการณ์ ผมขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงและแนวทางการทำงานเพื่อรักษา โลมาอิรวดีฝูงสุดท้ายฝูงนี้เอาไว้

นายวราวุธ กล่าวว่า โลมาอิรวดี จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และยังเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศ จากการประชุมไซเตส ครั้งที่ 13 เมื่อปี 2546 ที่ไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 ส่งผลให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติด้วย

ทั้งนี้ จากการสำรวจเมื่อ 30 ปีก่อน พบว่ามีโลมาอิรวดีในไทย มากกว่า 100 ตัว แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 14 ตัว เป็นโลมาฝูงสุดท้ายที่ยังรอดชีวิตในทะเลสาบสงขลา โดยจากรายงานการเกยตื้นของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2549 – มี.ค. 2565 มีโลมาอิรวดีเกยตื้นตายทั้งหมด 94 ตัว สาเหตุมาจากการติดเครื่องมือประมง ไม่ทราบสาเหตุ การผสมสายพันธุ์เลือดชิด และป่วย โดยพื้นที่ที่พบส่วนใหญ่อยู่ใน จ.สงขลา และ จ.พัทลุง

“ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จึงได้สำรวจประชากรโลมาอิรวดี ทั้งโดยวิธีทางเรือ สำรวจทางอากาศโดยเครื่องบินเล็ก และอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อคอยดูแลและเฝ้าระวัง มาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ในช่วงปี 2561 มีการประกาศแนวเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา แต่แนวโน้มประชากรยังคงลดลง โดยในปี 2558 มีรายงานการพบ 27 ตัว แต่ปัจจุบัน ปี 2565 เหลืออยู่ 14 ตัว จึงจำเป็นต้องเพิ่มการตรวจตราเฝ้าระวัง ป้องกันการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือหยุดการใช้เครื่องมือที่เป็นภัยคุกคามเข้มงวดมากขึ้น”

นายวราวุธ กล่าวถึงการดูแลความปลอดภัยของโลมาอิรวดี 14 ตัว ว่า ในระยะสั้น จะมุ่งเน้นไปที่เรื่องระบบ การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการออกทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และชาวประมงในพื้นที่ ถึงความสำคัญของ 14 ชีวิต ที่เหลืออยู่

ทั้งนี้ ความเคยชินในวิถีการทำประมงที่ยังหมิ่นเหม่ต่อการดำรงชีวิตของโลมาอิรวดี ของผู้คนในพื้นที่บางคน และบางส่วนมาจากนอกพื้นที่ ที่อาจจะยังไม่รู้ถึงความสำคัญตรงนี้ พวกเราจะหาแนวทางปรับความเข้าใจกันใหม่ ให้เข้มงวด และเข้าใจให้ตรงกัน เชื่อว่าเมื่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่เข้าใจ เขาจะต้องรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติของพวกเขาแน่นอน

รมว.ทส. กล่าวอีกว่า ส่วนระยะยาว เราจำเป็นต้องสำรวจศึกษา วิจัย เกี่ยวกับการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดในกลุ่มโลมาทะเลสาบสงขลา การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในทะเลสาบ การแก้ปัญหามลพิษ การตื้นเขิน และเร่งเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของโลมาอิรวดี

รวมทั้งสร้างศูนย์ช่วยเหลือและพยาบาลสัตว์ทะเล เพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือพร้อมอุปกรณ์การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการดูแลจัดการถิ่นที่อยู่ของโลมา และการจัดการสภาพแวดล้อมของทะเลสาบสงขลา อย่างระมัดระวัง

สำหรับโลมาอิรวดี หรือ โลมาหัวบาตรมีครีบหลัง (ชื่อภาษาอังกฤษ : Irrawaddy dolphin, Ayeyarwaddy dolphin; ชื่อวิทยาศาสตร์: Orcaella brevirostris) เป็นสัตว์เลือดอุ่น เลี้ยงลูกด้วยนมอาศัยอยู่ในทะเล มีลักษณะเด่นคือ หัวที่มนกลมคล้ายบาตรพระ ลำตัวสีเทาเข้ม แต่บางตัวอาจมีสีอ่อนกว่า ตามีขนาดเล็ก ปากอยู่ด้านล่าง ครีบข้างลำตัวแผ่กว้างเป็นรูปสามเหลี่ยม ครีบหลังมีขนาดเล็กมาก มีรูปทรงแบนและบางคล้ายเคียว มีความยาวประมาณ 180–275 เซนติเมตร

โลมาอิรวดี มีลักษณะหน้าตาและพฤติกรรมน่ารัก และมักเป็นมิตรกับมนุษย์ อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชายฝั่ง หรือปากแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ อาจหากินลึกเข้าไปในแม่น้ำได้มาก หรืออาจอาศัยอยู่ในแม่น้ำขนาดใหญ่ได้เลย สามารถอยู่ใต้ผิวน้ำได้นานถึง 70-150 วินาที แล้วจะโผล่ขึ้นมาหายใจสลับกัน ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ตั้งท้องนาน 9 เดือน ลูกที่เกิดมามีขนาด 40 % ของตัวโตเต็มวัย อาหาร ได้แก่ กุ้ง ปลา และหอยที่อยู่บนผิวน้ำและใต้โคลนตม

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ